หมายเหตุ : บทความนี้ร่วมเขียนโดยคณาจารย์จาก “สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัย และอดีตอาจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เกื้อ วงศ์บุญสิน, ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส, ภัทเรก ศรโชติ, พัชราวลัย วงศ์บุญสิน, เรียวรุ้ง ภักดี และ ภาสวิชญ์ เลิศวิไลรัตนพงศ์ ก่อนได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ฉบับหนังสิอพิมพ์
“ค่านิยมของสังคมไทยในปัจจุบันไม่นิยมการมีลูกและนิยมที่จะอยู่เป็นโสด” คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกให้ความสำคัญกับการมีความพร้อมทางการงานและการเงินก่อนที่จะคิดเรื่องการแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว ทำให้อายุแรกสมรสของคู่สมรสมีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คู่สมรสมีโอกาสมีลูกได้น้อยลง บางคู่ก็ประสบปัญหามีลูกยากทำให้จบลงด้วยการไม่มีลูก นอกจากนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกที่จะเป็นโสดเพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิตด้วยตนเองและเพื่อที่จะไม่ต้องมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบอีกชีวิตหนึ่ง
“ค่านิยมเหล่านี้ทำให้ปี พ.ศ.2564 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนการตายมากกว่าจำนวนการเกิดเป็นครั้งแรก แม้ว่าจะมีบทความจำนวนมากที่ได้หยิบยกประเด็นนี้
ขึ้นมานำเสนอ แต่เท่าที่ผู้เขียนทราบยังไม่มีบทความไหนมองประเด็นนี้ไปยาวๆ และถามคำถามที่สำคัญมากๆ ที่เราทุกคนควรตระหนักว่าถ้าสังคมไทยมีจำนวนการตายมากกว่าจำนวนการเกิด และเป็นอัตราแบบนี้ไปเรื่อยๆ สังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต”
เพื่อตอบคำถามที่สำคัญนี้ ผู้เขียนได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า “การคาดประมาณประชากร” หรือ Population Projection ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่นักประชากรทั่วโลกใช้ โดยในบทความนี้ผู้เขียนใช้โปรแกรมคาดประมาณประชากรรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า“Spectrum” จากองค์กร Avenir Health ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจุดเด่นของโปรแกรมนี้คือ สามารถใช้ในการคาดประมาณในระยะยาวๆ (100 ปีข้างหน้า) ได้อย่างสะดวก และนักวิจัยสามารถปรับสมมุติฐานต่างๆ ที่ต้องการได้มากกว่าโปรแกรมรุ่นก่อนๆ ซึ่งทำให้การคาดประมาณประชากรมีความแม่นยำมากขึ้น
ในบทความนี้ (1) จะเป็นการคาดประมาณประชากรจากปี ค.ศ. 2023 ถึง 2083 (พ.ศ. 2566-2626 หรือ 60 ปีข้างหน้า) โดยจำนวนประชากรและสัดส่วนประชากรปี ค.ศ. 2023 จะใช้จำนวนและสัดส่วนประชากรจริง (2) สมมุติฐานอายุคาดเฉลี่ยประชากรหญิงและชายจะใช้ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปี ค.ศ. 2023-2050 หรือ พ.ศ.2566-2593) และ World Population Prospect 2022 (ปี ค.ศ. 2050 – 2083 หรือ พ.ศ.2593-2626)
และ (3) สมมุติฐานอัตราภาวะเจริญพันธุ์ (จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธ์อายุ 15-49) โดยปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ.2566) จะใช้ข้อมูลจริงที่ (เท่ากับ 1.16 คน) และจะปรับลดลงตามลำดับ โดยในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) จะปรับลดลงเหลือ 0.7 (ใกล้เคียงกับอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศเกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 2022 หรือ พ.ศ. 2565 ที่เท่ากับ 0.78) และในปี ค.ศ. 2083 (พ.ศ.2626) จะปรับลดลงเหลือ 0.5 ซึ่งพบว่า...
“(1) จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 (2) จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคนในปีค.ศ. 2023 เหลือเพียง 14 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 (3) จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคนในปีค.ศ. 2023 เหลือเพียง 1 ล้านคน ในปี ค.ศ.2083 (4) ประเทศจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 ไปเป็น 18 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 โดยสัดส่วนประชากรสูงวัยจากมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ”
ข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรข้างต้นเป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก แม้ว่าสมมุติฐานอัตราภาวะเจริญพันธุ์ที่ผู้เขียนใช้ข้างต้นอาจจะดูเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็เป็นระดับที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เพราะในปี ค.ศ. 2022 อัตราภาวะเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ได้ลดลงไปเหลือเพียง 0.78 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีอัตราภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นไปแล้ว”
ผลกระทบจาก “คลื่นสึนามิทางประชากร” ลูกนี้ดูมีขนาดใหญ่มากอย่างมีนัยสำคัญและมีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการหายไปของแรงงานจำนวนมหาศาล ตลอดจนสินค้าและบริการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยอาศัยรายได้จากกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ภายในประเทศเพราะไม่เหลือกลุ่มผู้บริโภคที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจ สุดท้ายหากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ และธุรกิจขนาดใหญ่มีผลประกอบการแย่ลงอย่างมาก แล้วภาครัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีมาจากที่ไหน
“ผู้เขียนเชื่อว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบจากการที่สังคมไทยมีจำนวนการตายมากกว่ามีจำนวนการเกิดไปเรื่อยๆ” ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า Depopulation หรือการลดลงของประชากร ดังนั้น “ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งหาวิธีในการทำให้คนไทยมีลูกมากขึ้น” แม้ว่านักวิชาการหลายคนมักจะเชื่อว่าการเพิ่มอัตราภาวะเจริญพันธุ์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก(ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าไม่มีทางทำได้ด้วยซ้ำ) แต่ในอดีตที่ผ่านมามีกรณีศึกษาของประเทศสวีเดนในช่วงปี ค.ศ. 1960-1990 (พ.ศ.2503-2533) ที่อัตราภาวะเจริญพันธุ์สามารถเพิ่มขึ้นจาก 1.65มาเป็น 1.92
โดยรัฐบาลประเทศสวีเดนในช่วงนั้นมีนโยบายด้านสวัสดิการที่ครอบคลุมด้านครอบครัวและเด็กที่เอื้อต่อการมีบุตรมาก เริ่มตั้งแต่สิทธิ์ในการลาคลอดโดยที่นายจ้างห้ามไล่ออกจากงาน เพิ่มระยะเวลาที่สามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้รวมกันระหว่างพ่อและแม่ที่สูงถึง 12 เดือนในขณะที่ค่าตอบแทนลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของเงินเดือน เพิ่มระยะเวลาเพื่อดูแลลูกที่ป่วยเป็น 90 วัน และเพิ่มเงินสนับสนุนการมีบุตรที่สูงถึง 7,885 SEK (Swedish Krona) ต่อปี ต่อบุตร 1 คน (ประมาณ 40,000 บาทในช่วงนั้น)
ดังนั้นถ้าเราเชื่อว่าการที่สังคมไทยไม่นิยมการมีลูกไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องไกลตัว หรือการทำให้คนไทยมีลูกมากขึ้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ อีกประมาณ 60 ปีข้างหน้า เด็กที่เกิดวันนี้หรือคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน ก็มีโอกาสสูงที่ต้องเผชิญกับคลื่นสึนามิทางประชากรที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ ในบทความฉบับถัดไป ผู้เขียนจะรวบรวมงานวิจัยที่พูดถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์ Depopulation ที่หลายคนน่าจะคาดไม่ถึง
ซึ่งการที่สังคมไทยไม่นิยมการมีลูก เป็น “ปัญหาระดับชาติ” ที่สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ความอยู่รอดของภาคธุรกิจ ความเป็นอยู่ของคนในชาติ หรือแม้แต่ความมั่นคงระดับประเทศ (เราจะไปเกณฑ์ทหารมาจากไหน)!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี