วันพฤหัสบดี ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
แนวหน้า Talk : ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’  ฟื้นฟูประชาธิปัตย์-แก้เศรษฐกิจไทย  ไม่ว่าเรื่องไหนต้องเริ่มที่‘ตั้งหลักให้ถูก’

แนวหน้า Talk : ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ฟื้นฟูประชาธิปัตย์-แก้เศรษฐกิจไทย ไม่ว่าเรื่องไหนต้องเริ่มที่‘ตั้งหลักให้ถูก’

วันพุธ ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : นักการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แนวหน้าTalk
  •  

“9 ธ.ค. 2566” เป็นอีกวันหนึ่งที่ คอการเมืองไทยต้องจับตา กับการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคของ “พรรคประชาธิปัตย์” หลังจากที่ “ประชุมล่ม” กันมาหลายครั้งจนพรรคไม่สามารถสรรหาผู้นำและคณะผู้บริหารชุดใหม่ได้มาหลายเดือน ขณะเดียวกันไม่ว่าใครจะได้รับเลือกก็มี “โจทย์ใหญ่” นั่นคือการนำพาพรรคออกจากช่วง “ขาลง” ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 2 ครั้งล่าสุด (2562 และ 2566) พรรคได้ที่นั่งในสภาฯน้อยเป็นประวัติการณ์

รายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” ตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ซึ่งมี ปรเมษฐ์ ภู่โต มาทำหน้าที่ดำเนินรายการแทน บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้พูดคุยกับอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤตของพรรค โดย อภิสิทธิ์ กล่าวว่าในความที่พรรคประชาธิปัตย์มีประวัติศาสตร์ยาวนาน หลายคนก็ติดตามพรรคมาหลายสิบปีมองว่าทุกอย่างมีขึ้น-มีลง แต่ตนก็จะบอกเสมอว่าการมีลงก็ไม่ว่าหลังจากนั้นจะต้องมีขึ้นเสมอไป และนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องกลับไปทบทวนว่าเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร


ทั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ผ่านพ้นไปแล้วกว่าครึ่งปี พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีเวทีระดมสมองของสมาชิกพรรค หรืออย่างน้อยคือสำหรับ สส. และ อดีต สส. ได้มาพูดคุยเพื่อถอดบทเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พรรคทำมาตลอดหลังการเลือกตั้งโดยเฉพาะหากพรรคเป็นฝ่ายแพ้ แต่วันนี้ยังต้องมาอยู่กับการหาทางเลือกหัวหน้าพรรคให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตนเคยสัมผัส ส่วนใหญ่คนในพรรคมีความรักความผูกพันกับพรรคแต่อาจมองไม่ตรงกัน เรื่องโลกเปลี่ยน เหตุการณ์เปลี่ยน แล้วอาจตั้งหลักกันไม่ทัน ไม่รู้จะทำอย่างไร

“ที่ผมพูดอาจจะผิดก็ได้ เพราะไม่ได้คุยกันไง ต่างคนต่างก็มีข้อสรุปของตัวเองทีนี้พอมีข้อสรุปตัวเองแล้วเกิดเป็นข้อสรุปที่มันไม่ตรงกับคนอื่น มองไม่ตรงว่าอะไรจะเป็นอะไร มันก็เลยยิ่งเกิดช่องว่างมากขึ้น เหมือนกับที่เห็นว่าพรรคเล็กลงแต่กลายเป็นมีปัญหาตั้งแต่เรื่องความเป็นเอกภาพในการลงคะแนนในสภา ก่อนเลือกตั้งมันเกิดอยู่แล้วเพราะเราเห็นคนออกจากพรรคเยอะ ซึ่งหลายคนเขาก็ใจหายตั้งแต่เห็นคนออกจากพรรค แต่เราก็นึกว่าเมื่อออกแล้วและเข้าสู่สนามเลือกตั้งแล้ว ที่เหลืออยู่ก็น่าจะมีความเป็นเอกภาพระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายก็มีปัญหาอยู่” อภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อมองย้อนไปในอดีต พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่ง สส. โดยเฉลี่ยหลักร้อยอย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นฝ่ายแพ้การเลือกตั้งอยู่หลายครั้งก็ตาม แต่การเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุดเหลือ สส. เพียงหลักสิบ และโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ครองมานานอย่าง “ภาคใต้” ที่ไม่มีใครคิดว่าพรรคจะพ่ายแพ้มากขนาดนั้น บางเขตเสียที่นั่ง สส. หรือบางเขตแม้จะได้ สส. เข้ามา แต่คะแนนรวมของพรรค (สำหรับคำนวณที่นั่ง สส. บัญชีรายชื่อ)ก็ไม่สู้ดี

อภิสิทธิ์ มองว่า “สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ จะแก้ไขปัญหาไปตามขั้นตอนแบบเดิมๆ คงทำไม่ได้”โดยหากต้องการให้พรรคเดินหน้าต่อก็มี“2 เงื่อนไข” ที่สำคัญ 1.ความเป็นเอกภาพหากภายในพรรคยังคงมีฝักมีฝ่าย ยังทำงานร่วมกันไม่ได้ หรืออาจมีใครลาออกจากพรรคอีก ก็คงไม่น่าจะนำไปสู่การฟื้นฟูพรรคได้มากนักไม่ว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ตาม

กับ 2.อุดมการณ์และหลักการในการทำงานการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ และหนึ่งในหลักการคือองค์กรสำคัญกว่าบุคคล แต่ก็มีอะไรมากกว่านั้น ตนจึงแปลกใจที่มีการพูดเรื่องปรับโครงสร้างหรือข้อบังคับซึ่งนั่นไม่ใช่สาเหตุในความพ่ายแพ้ สิ่งที่ทำให้แพ้คือความไม่ชัดเจนอีกต่อไปในเรื่องจุดยืนทางการเมือง อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่การเมืองแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เป็นผู้นำในทางหนึ่งทางใด ขณะที่คนของทั้ง 2 ฝ่าย ก็มองไม่ออกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำอะไรให้กับเขา จึงหลุดไปจากเกม

แต่เมื่อปัจจุบันเกิดการสลายขั้ว หรือจะเรียกฮั้วก็แล้วแต่ ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า “พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลกันอยู่เวลานี้ไม่ได้มาจากพื้นฐานความคิดเดียวกัน เหมือนการมาอยู่กันแบบเฉพาะกิจ-เฉพาะกาล มีภารกิจพิเศษหรืออะไรก็ตาม แต่ไม่ได้มีความยั่งยืน ไม่ได้เป็นจุดที่ทำให้ประชาชนมองว่าเป็นที่พึ่งพิงของการเมือง แต่เมืองมองไปยังพรรคฝ่ายค้านที่ดูจะมีความชัดเจนอย่างพรรคก้าวไกล ตนก็กล้าพูดว่าแม้จะได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นในประเทศ แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยเช่นกันที่รู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นตัวแทน

“ในมุมของผม แสดงว่าพื้นที่ทางการเมืองมันมี แต่จะทำอย่างไรที่พื้นที่ทางการเมืองตรงนี้จะมีพรรคซึ่งร่วมถึงพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาแสดงตัวให้คนมีความมั่นใจ มีความเชื่อถือว่าเป็นตัวแทนของเขาได้คนที่กำลังมองหานักการเมือง-พรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนทางความคิด เกี่ยวกับสังคมประเทศชาติ อนาคตของบ้านเมืองควรจะไปทางไหน-บนหลักการอะไร” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า จริงๆ หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคประชาธิปัตย์น่าจะอยู่ในสถานะที่ประกาศได้ก่อนพรรคอื่นๆ ว่าเป็นฝ่ายค้าน หากไม่เข้าไปร่วมกับพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เพราะด้วยตัวเลขอย่างไรก็ไม่พอจะเป็นรัฐบาล ขณะที่ในการเลือกตั้งปี 2562 ตนได้แสดงจุดยืนที่เห็นว่าสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรค แม้รู้ว่าจะมีสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคจำนวนหนึ่งไม่พอใจ แต่ตนมองว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์จริงๆ แต่พรรคก็ตัดสินใจไปอีกทาง และนั่นก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

ซึ่งตนก็ได้เคยแสดงความคิดเห็นไปแล้วว่าจะทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้แต่หากบอกแต่แรกว่า 4 ปีนี้ ประชาชนไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน แต่เรากำลังจะสร้างทางเลือกให้กับสังคมและเดินหน้าตั้งแต่ต้น ตนมองว่าจะช่วยให้เกิดความมั่นใจในทิศทางที่จะไป แต่ตอนนี้ก็สับสนกันอีกเพราะการลงคะแนนในสภาก็ไม่มีเอกภาพ ดังนั้นการฟื้นฟูพรรค ตนก็ไม่ทราบว่าในวันที่ 9 ธ.ค. 2566 จะออกมาอย่างไร แต่บนเงื่อนไขว่าหากไม่มีเอกภาพและไม่มีความชัดเจนในทางการเมือง ก็เป็นเรื่องยากที่พรรคประชาธิปัตย์จะฟื้นฟูขึ้นมา แม้แต่เทวดาก็ฟื้นฟูพรรคไม่ได้

“ใจผมอยากให้พรรคตกผลึกกันตรงนี้ ว่าต้องเริ่มต้นจากตรงนี้นะ เอาความเป็นเอกภาพก่อน ตกลงกันให้ได้ก่อนว่าไปทางเดียวกัน แล้วแน่นอนต่อมาอาจต้องมาถกกันภายในว่าทางเดียวกันคือทางไหน แต่เมื่อหาข้อยุติได้ว่าทางไหน มันจะได้คำตอบเองว่าควรเป็นใคร แต่วันนี้ก็พูดกันตรงๆ ในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่งซึ่งวันที่ 9 นี้มีสิทธิ์และมีหน้าที่ในการไปเลือก ผมก็ยังไม่ชัดว่าถ้าเลือกตรงนี้ๆ ตกลงมันต่างกันอย่างไร หรือมันจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก-น้อยแค่ไหน” อภิสิทธิ์ ระบุ

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับบุคคลที่ปรากฏเป็นข่าวว่าจะลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคในวันที่ 9 ธ.ค. 2566 แม้ตนเห็นการแสดงออกที่ต่างกัน แต่ถามว่าเป็นเรื่องหลักที่คนสนใจหรือไม่ ก็ไม่ใช่ตรงนั้น ส่วนคำถามที่ว่ามีคนอยากสนับสนุนตนบ้างหรือไม่ ก็มีเยอะอยู่ แต่อย่างที่ทราบเรื่องผลพวงจากข้อบังคับเรื่องน้ำหนักการลงคะแนน ก็ทำให้คนจำนวนมากที่คุยกับตนยอมรับว่าคงทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะน้ำหนักของ สส. คำนวณดูไม่ถึง 20 คน ก็น่าจะพอแล้วในการชี้ขาดโดยไม่ต้องสนใจอีก 200-300 คน

ซึ่งมีผู้สนับสนุนตน จะใช้คำว่าถอดใจหรือไม่ตนก็ไม่ทราบ ต้องไปถามเอง แต่เขามองเป็นเรื่องยาก คนที่ไม่ใช่สมาชิก อย่างประชาชนทั่วไปที่มาถาม ตนก็ต้องบอกตรงๆ ว่าสภาพแบบนี้คงเป็นยากที่ตนจะกลับไป แต่หากในวันที่9 ธ.ค. 2566 มีคนเสนอชื่อตนขึ้นมาให้เป็นหัวหน้าพรรค ตนก็ต้องดูบรรยากาศในขณะนั้น และยืนยันในสิ่งที่ตนพูดว่าหากจะมาที่ตนก็ต้องมีอะไรบ้าง หากมีตนก็พร้อม แต่หากไม่มีก็คงไม่ใช่ที่จะเป็นตน

จากเรื่องวุ่นๆ ภายในพรรค อีกด้านก็ต้องยอมรับว่า “พรรคประชาธิปัตย์ถูกมองว่าไม่ค่อยมีผลงาน ไม่มีการปฏิรูปประเทศ ทำให้ปัญหาต่างๆ ยังคงสะสมมาอย่างต่อเนื่อง”ซึ่ง อภิสิทธิ์ ที่นอกจากจะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคแล้วยังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีด้วย อธิบายว่าตลอดเวลา 30 ปี ของตนในการทำงานการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้งเป็นรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤต เช่น “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่หลังจากนั้น รัฐบาลนายกฯ ชวน หลีกภัย ก็ทำให้ไทยไม่ต้องกู้เงินเพิ่มจากเดิมอีก

ส่วนอีกครั้งเป็นยุคสมัยที่ตนเป็นนายกฯ ต้องมาหลังจากที่เกิด “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ปี 2550-2551 หลังจากนั้นเมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่าอีกหลายประเทศ นอกจากนั้น “ไม่ว่าการกระจายอำนาจ ปฏิรูปการศึกษา หรือแนวคิดสวัสดิการถ้วนหน้า ก็เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์” เพียงแต่ไม่ได้รับการสานต่อเมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์พ้นสภาพไป ดังนั้นหากบอกว่าไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจก็ยอมรับว่าจริง แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นผู้ริเริ่มสิ่งเหล่านั้นไว้

หนึ่งในตัวอย่างที่ อภิสิทธิ์ ยกขึ้นมาคือ “กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)” รวมถึงความพยายามดึงแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนายจ้างก็ตาม นั่นคือการเตรียมการไว้สำหรับ “การเข้าสู่สังคมสูงวัย” ที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนมากเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วปัจจุบันก็ต้องมาพูดกันว่าไม่มีเงิน ท่ามกลางข้อเรียกร้องอยากให้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

อีกทั้งน่าแปลกที่กองทุนการออมแห่งชาติมีการออกเป็นกฎหมาย แต่รัฐบาลชุดต่อมาก็ไม่ได้สานต่อโดยไม่ผิดอะไร เนื่องจากองค์กรอิสระรับข้อชี้แจงว่า กอช. ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลชุดนั้น นอกจากนั้นยังมีการตั้ง “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)” เพื่อรองรับแนวคิดการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน แต่ก็ไม่ได้รับการสานต่อ จนปัจจุบันเหมือนกับต้องมานับหนึ่งใหม่ และยังคงพูดกันแต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดิม

อนึ่ง รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน พยายามผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หรือ “ดิจิทัล วอลเล็ต”ตามที่หาเสียงไว้ โดยอ้างสาเหตุวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งก็มีการนำไปเปรียบเทียบกับนโยบาย“เช็คช่วยชาติ” แจกเงินให้ประชาชนในรูปแบบเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ในสมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่เวลานั้นก็มีวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน แต่เรื่องนี้ อภิสิทธิ์ อธิบายว่า หากนำตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันไปถามนักเศรษฐศาสตร์คนใดก็ได้ทั่วโลก เชื่อว่าคงมีเป็นส่วนน้อยที่จะมองว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤต

“เวลาเราพูดถึงวิกฤตตัวเลขมันต้องติดลบ มีเหตุที่เห็นได้ชัดว่ามันวิกฤตจากอะไร อย่างตอนนั้นต้มยำกุ้งต่อมาก็วิกฤตการเงินซับไพร์ม (หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) หรือโควิด อย่างนี้ชัดดังนั้นการพยายามบอกว่าโต 1% กว่าๆ วิกฤต มันไม่ใช่! จริงๆ ถามว่าพอไม่ใช่วิกฤตแปลว่าไม่มีปัญหาใช่ไหม? ไม่ใช่! แต่แปลว่าปัญหามันอีกลักษณะ แล้วส่วนใหญ่ที่เขาเห็นตรงกัน ก็คือว่าอัตราการเติบโตที่เป็นอยู่อย่างนี้มันไม่น่าพอใจ ไม่ควรจะพอใจประเทศไทยต้องมีศักยภาพมากกว่านี้ หรือมีศักยภาพมากกว่านี้แต่ทำไมทำไม่ได้

แต่การตอบโจทย์เหล่านั้นมันไม่ใช่โจทย์ในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มันเป็นโจทย์ในเชิงปรับโครงสร้าง แก้ขีดความสามารถในการแข่งขันมากกว่า ขณะเดียวกันถามผมบอกว่าเรื่องแจกเงินล่ะ? ผมก็บอกว่าเรื่องแจกเงินผมก็ไม่ได้บอกว่าไม่มีเหตุผล อย่างตอนเช็คช่วยชาติ ตอนนั้นทั้งวิกฤตด้วย มีการแจก แต่การแจกแต่ละกลุ่มมีตัวเลขชัดเจนและไม่ได้เป็นภาระงบประมาณมากมายถึงขนาดที่เรากำลังพูดกัน” อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ อธิบาย

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังฉายภาพปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือ “แม้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจภาพรวมเติบโตเป็นบวก แต่มีคนอีกไม่น้อยเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจติดลบ” เช่น ประมาณปี 2558-2559 เศรษฐกิจในภาพรวมของไทยเติบโตเป็นบวก แต่ภาคใต้บางจังหวัดตัวเลขติดลบระดับ 2 หลัก เพราะช่องทางหารายได้ของภาคใต้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงกันหมด ทั้งราคายางพารา ปาล์ม และการทำประมงขณะเดียวกัน “หนี้ครัวเรือน” ก็เพิ่มสูงขึ้น แต่การแจกเงินทุกคนไม่ใช่วิธีที่ตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้

ดังนั้น “รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ถูก” ด้านหนึ่งใครที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ดำเนินการไป แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย และแม้การกู้เงินมาแจกตามที่ตั้งใจไว้จะไม่ได้ส่งผลระดับหายนะต่อประเทศ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือในอนาคตใครจะรู้ว่าจะมีสถานการณ์ใดที่ทำให้จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเกิดขึ้นอีก หรือแม้แต่สถานการณ์ที่มองเห็นอยู่แล้วคือการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้นโยบายการแจกเงินถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า

“เวลาถามผมเรื่องนี้ผมจะไม่สุดโต่งห้ามแจกเงินเลย ไม่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเลย ไม่ใช่ แต่ที่ย้ำมาตลอดก็คือว่าปัญหาใหญ่ของเรามันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องมากระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าแบบนี้ นี่ยังไม่พูดเรื่องปัญหาที่ต้องเป็นดิจิทัล แล้วตอนหลังก็บานปลายกลับกลายเป็นพอจะกู้เงินมาไว้ก่อนก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาอีก” อภิสิทธิ์ กล่าว

หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค
  • แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’ แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’
  • แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’  เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’ แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’
  • ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’ ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’
  • แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’ แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’
  • ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ
  •  

Breaking News

ถล่มยับ! เปแอสเชทะลุชิงสโมสรโลก

'กอบศักดิ์' ฟันธง 'ภาษีทรัมป์' รอบนี้ของจริง! เตือนไทยจับตาโครงสร้างการค้าโลกใหม่

รัฐบาลย้ำต้องขุดรากถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังออกหมายจับแก๊ง 'ก๊ก อาน'

ยิปซีพยากรณ์'ดวงรายวัน'ประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2568

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved