วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’

แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’

วันจันทร์ ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567, 07.00 น.
Tag : ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แนวหน้าTalk
  •  

ปัจจุบันสังคมโลกเปิดใจยอมรับ “บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)” มากขึ้น จากเดิมในอดีตที่คนกลุ่มนี้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงของตนเองได้ แต่ทุกวันนี้หลายประเทศให้การรับรอง “สิทธิในการใช้ชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกัน” รวมถึงประเทศไทยเองก็มุ่งมั่นไปให้ถึงจุดนั้น โดยมีข้อเสนอทั้งในรูปแบบการร่างกฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.คู่ชีวิต) และการแก้ไขกฎหมายเดิม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) พยายามผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภามาตั้งแต่ปี 2556

ความพยายามนี้เข้าใกล้ความจริงมากที่สุดในวันที่ 15 มิ.ย. 2565 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับรองร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 4 ฉบับ ในวาระ 1 (รับหลักการ) แต่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นเกิดปัญหา “สภาล่ม” องค์ประชุมไม่ครบบ่อยครั้ง จึงไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในวาระ 2 (พิจารณาเป็นรายมาตรา) และวาระ 3 (ลงมติเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบให้ประกาศใช้) จนกระทั้งมีการยุบสภาในวันที่ 20 มี.ค. 2566 และเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ชุดใหม่ในวันที่ 14 พ.ค. ปีเดียวกัน


ล่าสุดในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หยิบยกร่างกฎหมายว่าด้วยการใช้ชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกันทั้ง 4 ฉบับ กลับมาเข้าที่ประชุมอีกครั้งและผ่านวาระ 1 ไปได้ด้วยดีเช่นเคย ซึ่งหนึ่งในผู้ผลักดันร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันมาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วจนถึงชุดนี้อย่าง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้มาบอกเล่าในรายการ “แนวหน้า Talk” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ถึงที่มาที่ไป และความเป็นไปได้ที่ร่างกฎหมายจะผ่านกลไกรัฐสภาออกมาบังคับใช้ได้จริง

ธัญวัจน์ เล่าว่า มีร่างกฎหมายถึง 4 ฉบับในเรื่องนี้ ทั้งของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพรรคก้าวไกล ของพรรคประชาธิปัตย์ และของภาคประชาชน โดยภาพรวมกฎหมายส่วนใหญ่มีสาระสำคัญเหมือนกัน แต่จะต่างกันบ้างในรายละเอียดเช่น 1.อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถแต่งงานกันได้ โดยร่างของ ครม. ให้ที่ 17 ปี แต่ของพรรคก้าวไกลจะอยู่ที่ 18 ปี เพราะต้องการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อีกทั้งเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่ควรมีใครถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร

2.เหตุแห่งการฟ้องหย่า ร่างของ ครม. ใช้ถ้อยคำตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ คือกรณีกระทำตนเป็นปรปักษ์กับคู่สมรสอย่างร้ายแรง แต่ของพรรคก้าวไกลตัดคำว่า “อย่างร้ายแรง” ออก เพราะอาจมีปัญหาการตีความว่าอย่างไรถือว่าร้ายแรงซึ่งไม่ต้องการให้รอเหตุการณ์ลุกลามบานปลายไปจนถึงขั้นเลือดตกยางออก หากมีความรุนแรงมากในระดับหนึ่งก็ควรให้หย่าได้ 3.บทกำหนดเฉพาะสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส)

4.คำว่า “บิดามารดา” กับคำว่า “บุพการี” ร่างของ ครม. กับของพรรคก้าวไกล ยังใช้คำว่าบิดามารดาเหมือนกฎหมายเดิม เพราะคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันไม่ได้มีบุตรด้วยการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นบทบิดามารดาจึงไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ก็เปิดโอกาสให้คู่สมรสเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ ขณะที่ของภาคประชาชนเปลี่ยนเป็นคำว่าบุพการี ซึ่งก็ต้องไปดูที่ชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพราะคำคำนี้รวมไปถึงปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาด้วย คือภาคประชาชนไม่อยากใช้คำว่าบิดามารดา แต่ก็จะมีประเด็นขอบเขตความรับผิด

ทั้งนี้ “ต้องยอมรับว่าคนเรามีความรักเกิดขึ้นได้ทุกเพศ และในความเป็นจริงก็มีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เพียงแต่ไม่มีทะเบียนสมรสทำให้ไม่มีสิทธิ์หลายประการ” เช่น การเซ็นรักษาพยาบาลให้กับคู่สมรส, กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่อีกฝ่ายก็ไม่ได้สิทธิ์ที่พึงได้, การลดหย่อนภาษีสำหรับคนมีคู่สมรส, การทำประกันสุขภาพ, การจัดการทรัพย์สินที่หาได้ระหว่างใช้ชีวิตร่วมกัน, การจัดการมรดก ซึ่งการมีกฎหมายรับรองจะทำให้คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันได้สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้เหมือนคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไป

โดยกระบวนการร่างกฎหมาย เมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติวาระ 1 แล้ว ก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมารับฟังความคิดเห็นและปรับปรุงร่างกฎหมาย จากนั้นนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติวาระ 2 และ 3 ตามลำดับ หากผ่านวาระ 3 ขั้นต่อไปคือการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อนึ่ง หากย้อนไปในสภาผู้แทนฯ ชุดที่แล้ว ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จริงๆ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระ 1 รวมถึงผ่านการพิจารณาในชั้น กมธ. แล้ว แต่ที่ไม่ได้ไปต่อในเพราะเวลานั้นมีปัญหาเรื่องกฎหมายว่าด้วยกัญชา ทำให้ไม่ได้ถูกนำเข้ามาพิจารณาในวาระ 2 แต่ครั้งนี้ ธัญวัจน์ เชื่อว่าร่างกฎหมายจะผ่านแน่นอน แม้ไม่ถึง 100% แต่บรรยากาศก็ดูดีขึ้น

“จากที่ได้ยินเรื่องอินเตอร์ไพรด์ (Inter Pride) การ Bid (เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ) การที่จะจัดเป็นเวิลด์ไพรด์ (World Pride) มันจะเกิดขึ้นพฤษภาคม นั่นหมายถึงถ้าก่อนพฤษภาคมสมรสเท่าเทียมไม่เสร็จ ประเทศเราก็จะไม่มีคุณสมบัติในการ Bidding ไพรด์ เพราะเรายังไม่มีกฎหมาย LGBT โดยการ Bidding ของปี 2028 (2571) จะเกิดขึ้นพฤษภาหน้า (ปี 2024 หรือ 2567)” ธัญวัจน์ กล่าว

สำหรับงาน “เวิลด์ไพรด์ (World Pride)” ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของผู้มีความหลากหลายทางเพศจากทั่วโลก ธัญวัจน์ มองว่า เป็นการเปิดเศรษฐกิจจากทั่วโลก ประเทศไทยจะถูกมองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่ใช่เป็นการจัดงานโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะเราก็ให้ความสำคัญในด้านสิทธิด้วย และมีผลต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะเดินทางมาประเทศไทยตลอดทั้งปีไม่เฉพาะแต่ช่วงเทศกาล จะเป็นการเปิดการท่องเที่ยวของประเทศในระดับใหญ่

เมื่อดูพัฒนาการระดับนานาชาติ เนเธอร์แลนด์ คือประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันโดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่ ฝรั่งเศส ก็มีการแก้ไขถ้อยคำของผู้ที่ทำการสมรส จากคำว่า “ชายและหญิง” เป็นคำว่า “บุคคล” ส่วนในทวีปเอเชีย มีเพียง 2 ชาติในขณะนี้ คือ ไต้หวัน กับ เนปาล แต่หากไทยผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะกลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

จากกฎหมายรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน หรือ “สมรสเท่าเทียม” ยังมีร่างกฎหมายอีกฉบับที่อาจเกี่ยวข้องกัน คือ “ร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ” เช่น การเปลี่ยน “คำนำหน้านาม” ให้สอดคล้องกับเพศสภาพที่เปลี่ยนไปโดย ธัญวัจน์ กล่าวว่า ในบางประเทศ อาทิ มอลตา, อาร์เจนตินา กฎหมายไปไกลถึงขั้นไม่ต้องผ่านความเห็นของนักจิตวิทยาหรือไม่ต้องผ่านกระบวนการแปลงเพศ เพียงเจ้าตัวตัดสินใจก็ไปขอเปลี่ยนได้ทันที

ส่วน “ข้อกังวล” ของฝ่ายที่คัดค้านร่างกฎหมายนี้ ซึ่งมองว่า “ต่อไปคนเราคบกันตกลงจะใช้ชีวิตด้วยกันจะรู้ได้อย่างไรว่าอีกฝ่ายเป็นเพศไหน?” ประเด็นนี้ก็มีการพูดคุยกันอยู่ โดยในส่วนของภาคประชาชนเสนอแนะว่าก่อนแต่งงานต้องมีการแจ้งให้คู่สมรสทราบ แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกลไม่มีในส่วนนี้ เพราะคนคบหากันย่อมรู้อยู่แล้วว่าอีกฝ่ายเป็นเพศอะไร เพราะไม่ใช่การเจอกันแล้วจะไปจดทะเบียนสมรสในทันที แต่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนจะให้ทำได้เพียง 1 ครั้ง หากมากกว่านั้นต้องให้ศาลพิจารณา เพื่อป้องกันการเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์แอบแฝง อาทิ เป็นผู้ชายทำผิดกฎหมายแล้วขอเปลี่ยนเพศเป็นผู้หญิงเพื่อจะได้ถูกจำคุกในเรือนจำหญิง หรือเปลี่ยนเพื่อขอรับสิทธิในกองทุนต่างๆ ที่ตั้งมาเพื่อผู้หญิง เป็นต้น โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฉบับของพรรคก้าวไกล มี 4 ด้านคือ

1.การได้สิทธิ์ไม่จำเป็นต้องผ่านการปรึกษาแพทย์หรือการผ่าตัดแปลงเพศก่อน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพบนความผิดชอบในการดำเนินชีวิต 2.สิทธิ หน้าที่และความเสมอภาคภายหลังการเปลี่ยนเพศ เช่น สิทธิด้านสุขภาพ แม้จะเปลี่ยนเพศแล้วแต่หากยังไม่มีการแปลงเพศ สวัสดิการต่างๆ ก็จะยังได้ในส่วนของเพศเดิมอยู่ 3.ไม่ก้าวก่ายการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา อาทิ จากหญิงแปลงเพศเป็นชายจะสามารถบวชได้หรือไม่ เพราะกฎหมายรับรองเฉพาะในส่วนของการเปลี่ยนเพศเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ศาสนิกชนของแต่ละศาสนาจะต้องไปพูดคุยกัน

แต่เรื่องนี้คงมีการถกเถียงกันเพราะฝ่ายหนึ่งจะมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องโครงสร้างสังคมแต่อีกฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ และ 4.การคุ้มครอง เช่น กรณีเป็นเด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เพศกำเนิดเป็นหญิงแต่มีจิตใจเป็นชาย หากทำผิดแล้วถูกจับจะใช้ตำรวจชายหรือหญิง หรือหากใช้ตำรวจชายจับแล้วเจ้าหน้าที่จะผิดหรือไม่เพราะคนคนนั้นบอกว่าตนเองเป็นผู้ชาย เป็นอีกมุมที่ยังต้องถกเถียงกัน

“เรื่องนี้มันเป็นเรื่อง Sensitive (ละเอียดอ่อน) ต้องพูดเลยว่าขอบคุณที่ถามเรื่องนี้ ก็มีหลายคนที่ถามว่าทำไมมีมาตรการคุ้มครอง ซึ่งการคุ้มครองมันต้องมองภาพใหญ่ว่าจริงๆ แล้วในเรือนจำเรามีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มคนที่เป็น LGBT หรือว่า Lady Park (ที่จอดรถสำหรับผู้หญิง) หรือมาตรการเงินที่สนับสนุนผู้หญิง ซึ่งต่างๆ เหล่านี้มันต้องป้องกันคนที่ไม่ซื่อสัตย์ที่จะมาใช้ประโยชน์ เพราะว่าเราต้องสงวนไว้กับกลุ่ม LGBT กับผู้หญิง” ธัญวัจน์ ระบุ

ยังมีร่างกฎหมายอีกฉบับที่ต้องจับตามองคือ “การยกเลิกความผิดอาชีพขายบริการทางเพศ (Sex Worker)” ซึ่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เคยเสนอแนะให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539แต่ ธัญวัจน์ มองว่า ในมุมของตนและพรรคก้าวไกล เห็นว่าหากยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเพียงอย่างเดียวอาจกลายเป็นเปิดช่องให้เอื้อต่อการค้ามนุษย์ จึงควรมีกฎหมายขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวด้วย เช่น การทำงานต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจเท่านั้นไม่ใช่เพราะถูกข่มขู่บังคับ หรือหากสภาพร่างกายไม่พร้อมตลอดจนสิ่งที่เจอหน้างานไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ต้องสามารถออกจากสถานการณ์นั้นได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ

นอกจากการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเรื่องเพศแล้ว ในช่วงท้ายของรายการยังมีโอกาสได้พูดคุยกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ของพรรคก้าวไกลไล่ตั้งแต่ 1.คนในพรรคหวั่นไหวกับคดีความซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ กับคำถามนี้ต้องบอกว่า พรรคก้าวไกลเชื่อในการเดินทางและความเปลี่ยนแปลง อย่างก่อนหน้านี้ที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้เห็นแรงกระเพื่อมของประชาชนและมีคนมาร่วมเดินทางมากขึ้น

โดยการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ 7 ล้านเสียงแต่เลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้ 14 ล้านเสียง ดังนั้นพรรคก้าวไกลถูกยุบจริงๆ ก็น่าจะยิ่งมีคนมาร่วมเดินทางมากขึ้น 2.ข่าวสมาชิกพรรรคมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ เรื่องนี้ธัญวัจน์ ยอมรับว่าถูกโจมตีเช่นกันว่าทำงานขับเคลื่อนประเด็นเรื่องเพศแต่ไม่ออกมาพูดอะไร แต่ตนขอชี้แจงว่าที่ไม่พูดเพราะไม่รู้เท็จจริงเพียงพอ เช่น คำให้การและหลักฐานของแต่ละฝ่าย อีกทั้งยังเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่ยืนยันได้ว่าคนในพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

3.บทบาทของ 2 อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล” ที่ไปตั้งกลุ่ม “คณะก้าวหน้า” กับการมีอิทธิพลต่อพรรคก้าวไกล ประเด็นนี้ต้องบอกว่า ในการเดินทางมีภาพของอุดมการณ์ความเท่าเทียม และทั้ง 2 คนก็ไม่ได้เป็นเจ้าของอุดมการณ์หรือชุดความคิดเรื่องความเท่าเทียมและการกระจายอำนาจ ดังนั้นใครก็สามารถพูดถึงแนวคิดเหล่านี้ได้ ทั้ง 2 คนจึงไม่ได้มาสั่งอะไร แต่เป็นการมีความเห็นสอดคล้องกันแล้วต่างฝ่ายต่างไปดำเนินการในหนทางของตนเอง

ส่วนที่มีคำถามว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ยังมีผลให้ทั้ง 2 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี แต่ก็เท่ากับว่าเมื่อครบ 10 ปีแล้ว ทั้งธนาธรและปิยบุตรสามารถกลับเข้ามาเป็นผู้นำในพรรคก้าวไกลได้ เรื่องนี้ตนตอบไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของอนาคตและตนก็ไม่ทราบว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้างแต่การกลับเข้าสู่การเมืองก็ถือเป็นเรื่องดีเพราะตนก็ชื่นชมทั้ง 2 คน

4.มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สส. ของพรรคก้าวไกลไม่ค่อยลงทำงานกับพื้นที่ เรื่องนี้ขอโต้แย้ง เพราะแม้จะสามารถบอกได้ทั่วประเทศ แต่ตนก็เห็น สส. แบบแบ่งเขตของพรรคลงพื้นที่บ่อยมาก แม้กระทั่งตนที่เป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อก็ยังไปในหลายพื้นที่ ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านบ้าง หรือกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนมองการทำกิจกรรมของ สส. อย่างไร เช่น ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สส. ในพื้นที่เขาก็มีกิจกรรมวิ่ง กล่าวคือ เป็นกิจกรรมสัมพันธ์ของคนที่เลือกพรรคก้าวไกลและประชาชนทั่วไป

“มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองว่าเป็นการสัมพันธ์กันแล้วก็มีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกัน หรือมองว่าไม่เห็นมีอะไรมาช่วยเหลือชาวบ้าน มันขึ้นอยู่กับว่าเขาจะมองเรื่องนี้อย่างไรแต่ถ้าถามว่า สส. เขตไม่ทำการบ้านหรือไม่ลงพื้นที่หรือเปล่าก็คงต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะเห็นทุกคนทำงานหนักจริงๆ แล้วก็มีกิจกรรมเสวนา แต่คิดว่าน่าจะเป็นวิธีการลงพื้นที่หรือการทำงานที่มันต่างออกจากพรรคการเมืองอื่นก็ได้”ธัญวัจน์ กล่าว

5.ภาพลักษณ์ของ สส. พรรคก้าวไกล ดูเป็น “สายปาร์ตี้” มีแต่เรื่องดื่มเหล้าสังสรรค์ เรื่องนี้อยากชี้แจงว่า เวลาสื่อนำเสนอข่าว เนื้อหาที่คนให้ความสนใจ คือเรื่องคนดังเรื่องเพศ เรื่องมีเงื่อนไข แต่มีอีกมุมที่ไม่ได้อยู่ในสื่อ เช่น ศิริกัญญา ตันสกุล (สส.บัญชีรายชื่อ) ใช้เวลา 7 วัน เตรียมข้อมูลอภิปรายร่างงบประมาณ 2567 หรือ ชัยธวัช ตุลาธน (หัวหน้าพรรค) เตรียมข้อมูลทั้งการอภิปรายและการไปขึ้นศาล เรื่องเหล่านี้คนอาจให้ความสนใจน้อยกว่าเรื่องเหล้า

6.พรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านแต่ไม่ออกตัวเรื่องอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ต้องโทษจำคุกแต่ได้ไปอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เรื่องนี้พรรคไม่ได้เกรงใจแต่อาจเป็นเพราะมีงานยุ่งๆ ทุกคนพัลวันจริงๆ นอกจากนั้น ไม่แน่ใจว่าสังคมเข้าใจอย่างไร แต่ในทางกฎหมายคุณทักษิณก็ไม่ได้เป็นอะไรกับพรรคเพื่อไทย และ 7.พรรคก้าวไกลประกาศจะเป็นฝ่ายค้านเต็มรูปแบบ คำถามคือจะเป็นได้จริงหรือไม่ ธัญวัจน์ กล่าวว่า พรรคพยายามใช้คำว่า “ฝ่ายค้านเชิงรุก” อย่างก่อนหน้านี้ที่พรรคก้าวไกลมี สส. เพียง 70 เสียง ยังยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้งที่มีคำพูดว่ายื่นไปก็ไม่ผ่านแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจยื่นและปัจจุบันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น

“คิดว่าฝ่ายค้านเราทำอะไรได้หลายอย่าง โอเค! เราตรวจสอบในเรื่องการทุจริตหรือความไม่ชอบมาพากลอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ แต่ที่สุดแล้วเราสามารถปักธงความคิดได้ไม่ว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องกระจายอำนาจ เรื่องเลือกตั้งส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งถามว่าเราทำได้ไหม ณ ตอนนี้เรารู้ว่าเราเป็นฝ่ายค้านเสียงไม่พอ แต่ว่าเราปักธงแล้วนะให้สังคมได้พูดคุยเรื่องนี้ และคิดว่ามันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับที่สมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น” ธัญวัจน์ กล่าวในตอนท้าย

หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค
  • แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’ แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’
  • แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’  เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’ แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’
  • ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’ ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’
  • ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ
  • แนวหน้าTalk : ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’  นโยบาย‘กลาโหม’ยุครัฐมนตรี‘เพื่อไทย’ ยกเครื่อง‘พลทหาร’ปูทางสู่‘เลิกเกณฑ์’ แนวหน้าTalk : ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’ นโยบาย‘กลาโหม’ยุครัฐมนตรี‘เพื่อไทย’ ยกเครื่อง‘พลทหาร’ปูทางสู่‘เลิกเกณฑ์’
  •  

Breaking News

เข้าถึงยากขึ้น! 'สมศักดิ์'เล็งใช้ใบรับรองแพทย์ก่อนใช้'กัญชา'

'DSI'จับกุมตัวผู้ต้องหาฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์

(คลิป) แนวหน้าTAlk : ปอกเปลือก 'ศรีสุวรรณ' นักร้อง No.1

'อธิการบดี มธ.'ประกาศความพร้อม ดูแลคนไทยใน'สังคมสูงวัย'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved