วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’

แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’

วันจันทร์ ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567, 07.15 น.
Tag : แนวหน้าTalk อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผังเมือง
  •  

เรียกว่าเป็นประเด็น “ข้ามปี” ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 มาจนถึงต้นปี 2567 กับ “ร่างผังเมืองฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)” หรือชื่อเต็มคือ “ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)” ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากภาคประชาชนว่า “ฟังเสียงและเอื้อประโยชน์นายทุนมากเกินไปหรือไม่?” โดยเฉพาะบรรยากาศเวทีประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) มีการแสดงพลังคัดค้านจากหลายกลุ่ม

ทำให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง กทม. ต้องออกมายืนยันว่าไม่ได้เอื้อนายทุนอย่างที่เข้าใจกัน อาทิ ในวันที่ 9 ม.ค. 2567 วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ไม่มีการจัดทำร่างผังเมืองเพื่อเอื้อนายทุนตามที่มีการตั้งข้อสงสัย เนื่องจากแต่เดิมมีแนวคิดปรับผังที่ดินเพื่อให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จริง แต่ปัจจุบันในการปรับผังใหม่ ระบุว่า เจ้าของที่ดินผู้ได้ประโยชน์จากการปรับผังที่ดินต้องปันประโยชน์ให้แก่สาธารณะด้วย


เช่น ให้พื้นที่สีเขียวที่ประชาชนเข้าถึงได้ หรืออนุญาตให้จัดตั้งระบบสาธารณูปโภค ทางเท้า เสาสะพานทางเดินลอยฟ้าในที่ดินของตนเอง เป็นต้น ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากการปรับผังแล้วยืนยันว่า กทม. ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ให้ประชาชนสามารถแสดงสิทธิ์ได้ เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา กทม.พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น

6 ม.ค. 2567 อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตการจัดทำร่างผังเมืองของ กทม.

ขณะที่ในวันที่ 10 ม.ค. 2567 เป็นท่าทีของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกมาติงว่า “อย่าใช้วาทกรรมเรื่องเอื้อนายทุน เพราะทำให้สังคมแตกแยก” พร้อมกับชี้แจงว่า ผังเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนการดูจุดเดียวไม่ได้สะท้อนทั้งเมือง เช่น การแก้ผังเมืองจุดหนึ่ง ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนทั้งกรุงเทพฯ ดีขึ้น ต้องดูภาพรวมทั้งหมด โดยตนได้ให้นโยบายไปว่า อยากเห็นกรุงเทพมหานครที่ผู้คนสามารถอยู่อาศัย ทำงาน และเดินทางได้ เมื่อใดก็ตามที่บ้านกับที่ทำงานอยู่ห่างกัน คุณภาพชีวิตอาจแย่ลง เพราะต้องเดินทางมากขึ้น

เช่น เห็นเด็กรุ่นใหม่ ต้องไปอาศัยอยู่นอกวงแหวนเพราะหาที่อยู่อาศัยใกล้กว่านั้นไม่ได้ ขณะที่แหล่งงานกระจุกตัวอยู่กลางกรุงเทพฯ ดังนั้น ต้องหาวิธีทำให้คนมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานมากขึ้น หรือให้แหล่งงานไปอยู่ใกล้แหล่งอาศัยมากขึ้น เป็นที่มาของการกำหนดร่างผังเมืองเขตสีแดงอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก มีนบุรี โดยหวังว่าจะมีการสร้างแหล่งงานใกล้บ้านประชาชนเขตนั้นๆ มากขึ้น รวมถึง การเพิ่มผังเมืองเขตสีส้มย่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เพราะต้องการให้คนอยู่ใกล้แหล่งงานมากขึ้น ไม่ต้องไปอาศัยบริเวณรอบนอกวงแหวน

รายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เกาะติดการจัดทำร่างผังเมืองของ กทม. มาอย่างต่อเนื่อง ได้มาบอกเล่าในรายการ ว่า หากเป็นคนที่เดือดร้อนและเฝ้าติดตามสถานการณ์จะสนใจเรื่องผังเมือง เช่น ซอยบ้านกำลังจะถูกขยายและสามารถสร้างตึกสูงได้ หรือทราบว่าผังเมืองฉบับใหม่จะทำให้ที่ดินของตนเองถูกเวนคืน

ซึ่งโดยปกติแล้ว พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน จะรู้ว่าต้องการที่ดินแบบไหนบ้างก็ต่อเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก่อนหน้านั้นจะอยู่ในผังเมืองก่อน และหากผังเมืองผ่านแล้ว อีกไม่นานก็จะมี พ.ร.บ.ผังเมือง ไปเวนคืนที่ดินดังกล่าว ดังนั้นผังเมืองจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับรู้และไปแสดงความคิดเห็น เพราะหากไม่แสดงความคิดเห็นเผลอๆ ที่ดินบ้านเราจะหายไป ในซอยมีตึกสูงเกิดขึ้น หรือพื้นที่ที่เคยถูกใช้รับน้ำก็จะหายไป โดยผังเมืองจะถูกทบทวนและทำใหม่ทุกๆ 5-6 ปี แต่รอบนี้ที่เป็นรอบใหญ่เพราะไม่เคยถูกทบทวนสำเร็จมานาน

โดยกลไกจะเริ่มตั้งแต่สำนักผังเมืองจัดทำผังเมือง หากประชาชนไม่ว่าอะไรก็คือผ่าน จากนั้นก็จะไปดูงบประมาณประจำปีว่าพร้อมหรือไม่ หากพร้อมก็จะออก พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน และเวนคืนตามที่วางไว้ในผังเมือง หรือผังเมืองเดิมสร้างอพาร์ตเมนท์หรือตึกสูงไม่ได้ ผังเมืองใหม่ก็สามารถแก้ให้สร้างได้ โดยเฉพาะเมื่อโครงการรถไฟฟ้าผ่านไปที่ไหน ตามแนว 2 ข้างรางนั้นก็จะมีการพัฒนา หากประชาชนไม่ดูให้ดี สภาพแวดล้อมที่บ้านก็จะเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองใหม่ของ กทม. ทำมาแล้ว 6 ครั้ง ล่าสุดคือครั้งที่ 7 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 ณ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) ตนก็เรียกร้องว่าอยากให้ขยายเวลาเพื่อรับฟังประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่ฟังแต่ทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยหากดูการเปิดเวทีครั้งก่อนๆ เช่น วันที่ 23 ธ.ค. 2566-6 ม.ค. 2567 คือ 6-7 ครั้ง ก็ทำอยู่ในห้วงเวลานี้ ถามว่าช่วงนี้คนอยู่ใน กทม. มาก-น้อยเพียงใดเพราะอยู่ในช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่

แน่นอนว่าบริษัทอสังหาฯ ก็มีสิทธิ์ให้ความเห็นกับ กทม. และตนก็ไม่ได้รังเกียจทุนเหล่านี้เพราะเป็นผู้ที่จะไปสร้างย่านการค้า นอกจากนั้นเห็นร่างผังเมืองแล้วตนก็เห็นภาพชัดว่า กทม. รับฟังกลุ่มทุนอสังหาฯ ไปแล้วจริงๆ ซึ่งการเอื้อเอกชนรายใหญ่ก็ไม่ผิดตราบใดที่เป็นประโยชน์สาธารณะร่วมกัน อย่างล่าสุด กทม. ก็แถลงว่าดูประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง แต่หากวันใดที่ประโยชน์สาธารณะที่รายใหญ่อ้างขัดกับมวลชน เมื่อนั้นก็ต้องให้ความสำคัญกับมวลชนแต่ประเด็นคือผังนี้ไม่ได้รับฟังมวลชนอย่างทั่วถึง

คำถามต่อมาคือชาวบ้านเดือดร้อนอะไร ตนยกตัวอย่างเรื่อง “เส้นทางลัด” เช่น ถ.ราชพฤกษ์ตัดใหม่ หรือซอยเอกชัย 30 ที่สามารถทะลุกับซอยเอกชัย 33เหตุใดไม่บรรจุไว้ในผังเมืองใหม่ฉบับนี้ด้วย ซอยกำนันแม้นที่สามารถขยายถนนได้เพื่อระบายการจราจรในเขตจอมทองก็ไม่มีในผังเมือง แต่จะไปตัดถนนเส้นใหม่ขนาดใหญ่ซึ่งมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งหากไปฟังชาวบ้าน บอกได้เลยว่าเขาอยากได้ทางลัดมากกว่า หากใช้การขยายทางเดิม-เพิ่มทางลัดจะรู้มากขึ้นว่าที่ดินแปลงไหนมี ตรงไหนออกได้

“เคยเจอไหม? บางแปลงที่ว่าโดนที่เอกชนขวางสนุ้กอยู่ แล้วงบฯ กทม. ก็เข้าไปพัฒนาไม่ได้เพราะถนนเส้นนี้มันเป็นถนนเอกชนในหมู่บ้าน เป็นที่เอกชนไม่ใช่ที่สาธารณะ กทม. เอางบประมาณทำถนนได้ไหม? เอาไฟฟ้าส่องสว่างเข้าได้ไหม? ขยะก็ไปเก็บไม่ได้ด้วย คำถามคือถนนเหล่านี้ไม่อยู่ในแผนนี้เพื่อทำการเวนคืน? ก็ไม่ได้ไปถามเขาไง ผมไม่ว่าถ้าจะไปเอื้อทุนอสังหาฯ ใหญ่ เพราะเขาก็มีส่วนในการสร้างเมืองร่วมอยู่แล้ว แต่คนตัวเล็กคุณไปฟังเขาหรือยัง?” อรรถวิชช์ กล่าว

อรรถวิชช์ กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างเขตจตุจักรและเขตพญาไท ซึ่งตนค่อนข้างชำนาญพื้นที่ อย่างซอยรัชดาภิเษก 42 มีข้อกำหนดว่าถนนในซอยต้องกว้างมากกว่า 6 เมตร จึงจะทำตึกสูงได้ วิธีการก็คือวัดจากกำแพงบ้านฝั่งหนึ่งถึงกำแพงบ้านอีกฝั่งหนึ่งของถนนหากเกินมา 1 เซนติเมตร ก็ถือว่าผ่านแล้วเพราะกฎหมายกำหนดให้ยึดแนวกำแพงเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงในซอยมีกระถางต้นไม้ ไม่มีทางเท้า วัดจริงได้ 4.5-5 เมตร หรือโครงการบางรูปแบบก็กำหนดไว้ที่ 12 เมตร ก็ใช้วิธีวัดแบบเดียวกัน

และแม้จะมีข้อกำหนดให้การก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรร ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนคือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนโดยรอบ แม้ชาวบ้านจะทักท้วงว่าถนนในซอยคับแคบรถวิ่งสวนกันยังแทบไม่ได้ ยิ่งรถขนาดใหญ่ เช่น รถขยะ รถดับเพลิง ไม่มีทางวิ่งสวนกันได้ แต่ทุนอสังหาฯ มักใช้วิธีจัดเวทีกันแบบเงียบๆ ชาวบ้านรู้ตัวอีกทีคือโครงการได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้างแล้ว ซึ่งก็เห็นบางโครงการที่สุดท้ายมีปัญหาจนต้องทุบทิ้ง

ตนจึงตั้งคำถามถึง กทม. ว่า “ทำไมบางพื้นที่ไม่กำหนดไปเลยว่าห้ามสร้างตึกสูง?” อย่างในเขตพระนครหรือเขตดุสิตก็มีการกำหนดแบบนั้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ แต่พื้นที่อย่างซอยราชครูหรือซอยอารีย์ ในเขตพญาไท ประชาชนต้องออกมาคัดค้านทุกครั้งที่มีข่าวว่าจะมีโครงการตึกสูงมาก่อสร้าง เหตุใดไม่กำหนดห้ามสร้างบ้าง จะได้ไม่ต้องเถียงกันอีก ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “ผังเมืองเฉพาะ” ที่คน กทม. ต้องออกไปแสดงความคิดเห็นที่ผ่านมา กทม. คิดแต่มุมการเติบโต แต่ไม่เคยคิดในมุมความสุข

เห็นได้จากสีผังเมืองจากอ่อนก็มีแต่จะเข้มขึ้นทุกวันๆ เขียวกลายเป็นส้ม เป็นแดง เข้มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่คิดถอยกลับบ้างหรือ? หากซอยไหนที่เต็มแล้วก็ควรจะไปพัฒนาที่อื่นไม่ใช่กระจุกอยู่จุดนั้นที่เดียว คือการเกิด “เมืองไกล (Satellite Town)” ทุกวันนี้สามารถเกิดได้ เพราะมีรถไฟฟ้าไปไกลหลายสาย ดังนั้นก็ควรคิดได้แล้วว่าในย่านกลางเมืองที่การพัฒนามาถึงขีดสุด ยังสมควรจะยัดอะไรเพิ่มลงไปอีกหรือไม่ อย่างตนเห็นว่าพอแล้ว เพราะบางพื้นที่ชาวบ้านเขาก็ขอให้พอได้แล้ว อย่างเขตพญาไทชาวบ้านเข้มแข็งทุกซอย ใครอยากสร้างตึกสูงตรงนั้นมีเหนื่อยแน่

“ผมสงสารชาวบ้าน พอตกวันอาทิตย์แทนที่จะไปเที่ยวเล่น พาลูกไปเที่ยวต่างจังหวัด ต้องมานั่งเฝ้า EIA ตึกสูง แล้วเผลอไม่ได้ มันมาอีกแล้ว ทำไม กทม. ไม่คิดมุมกลับ? ก็เปลี่ยนสีสิ ซอยเส้นนี้สร้างไม่ได้ก็ขีดว่าสร้างไม่ได้ ต่อให้กำแพงชนกำแพงมัน 6 เมตร หรือ 12 เมตรก็ตามเมื่อเราดูแล้วชนกำแพงมัน 6 เมตร หรือ 12 เมตรก็จริง แต่มันมีกระถาง จุดเลี้ยวเลี้ยวไม่พ้น หรือท่อน้ำ มันต้องเปลี่ยนให้ขนาดใหญ่ขึ้นไหม? ระบบการ Drain (ถ่าย) น้ำไม่พอ แล้วเราคิดว่างบประมาณ กทม. จาก 4-5 ปีจากนี้ เราก็ยังไม่ได้ไปทำอะไรให้เขา แล้วคุณจะให้เขาสร้างทำไมก็สงวนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยไปเลย” อรรถวิชช์ ระบุ

อรรถวิชช์ยกตัวอย่างอีกพื้นที่คือ เขตหลักสี่ ซึ่งถนนโลคัลโรด มีแนวรถไฟฟ้าสายสีแดงขนานไปกับคลองเปรมประชากร หากทำสะพานเชื่อมบริเวณสันเขื่อนคลองเปรมประชากรซึ่งมีขนาดใหญ่มาก จะช่วยให้ประชาชนในย่านทุ่งสองห้องออกมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีทุ่งสองห้อง เดินทางเข้า-ออกเมืองได้ เป็นการช่วยคนบริเวณนั้นประหยัดค่าใช้จ่ายได้พอสมควร เพราะเดินข้ามสะพานก็มาถึงสถานีรถไฟฟ้าแล้ว หากทำเพียงสะพานคนเดินข้ามก็ไม่ต้องเวนคืน หรือแม้แต่สะพานรถข้ามก็เวนคืนเพียงเล็กน้อย

หรือเรื่องของ “พื้นที่รับน้ำ” ตนจำได้ว่า ในยุคหนึ่งที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้ให้ กทม. ไปสำรวจว่ามีพื้นที่รับน้ำกี่แห่ง เช่น ในเขตคลองสามวา มีการตั้งงบประมาณขึ้นมาเพื่อศึกษาและมีการทำประชาพิจารณ์ แต่ร่างผังเมืองฉบับใหม่ตนมองไม่เห็นว่ามีหรือไม่ อาทิ “บึงคู้บอน” ขณะที่บริเวณรอบบึงเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งตนกำลังติดตามอยู่ว่า พื้นที่ที่เคยเตรียมไว้ทำบึงรับน้ำกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปแล้วหรือไม่

อนึ่ง “มีข้อค้นพบว่า พื้นที่ใดที่ศึกษาแล้วมีความเหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่รับน้ำ ราคาที่ดินจะตก” แต่กลับกลายเป็นว่า “บางจุดมีนายทุนอสังหาริมทรัพย์ไปซื้อที่ดินประเภทนี้ แล้วจู่ๆ ก็กลายเป็นโครงการที่อยู่อาศัยขึ้นมาแถมราคาที่ดินยังแพงขึ้น” เพราะเป้าหมายเดิมที่จะทำเป็นพื้นที่รับน้ำไม่ได้อยู่ในผังเมืองอีกแล้วตนเชื่อว่าประชาชนย่านคู้บอน เขตคลองสามวา ไปจนถึงเขตหนองจอก รู้ดีว่าอะไรหายไปจากผังเมือง ก็อยากให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ ตนขอเชิญชวนผู้อยู่อาศัยใน กทม. เข้าไปตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นร่างผังเมืองฉบับใหม่ได้ โดยสแกน QR Code หรือคลิกที่ Link นี้ https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/frontend/web/ ซึ่งระบบจะมีให้เลือกดูหลายหมวด เช่น ผังจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน (ที่มีแบ่งเป็นสีต่างๆ) ผังการคมนาคมผังทรัพยากรธรรมชาติ ผังที่โล่ง ผังแสดงการผันน้ำ

ซึ่งเมื่อเข้าไปดูแล้วหากมีเรื่องใดไม่สบายใจหรืออยากเสนอแนะ เช่น บึงรับน้ำที่เคยมีหายไป ไม่อยากให้ตัดถนนผ่านหน้าบ้าน ไม่อยากให้สร้างตึกสูงในซอยอีก หรืออยากให้มีการทำทางลัดตรงนั้น อยากให้สร้างสะพานตรงนี้โดยก่อนหน้านี้จะมีแบบฟอร์มเป็นกระดาษให้กรอกแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ก็ให้กรอกข้อมูลทางออนไลน์ โดยจะรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2567

“ผมคิดว่าจริงๆ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ท่าน Live (ถ่ายทอดสด) อยู่ทุกวันอยู่แล้ว ท่านวิ่งออกกำลังกายตอนเช้าท่านก็ Live ท่านลองเปลี่ยนมา Live เรื่องผังเมืองดู แล้วมานั่งคุยกัน ลอง Live เปลี่ยนจากไปวิ่งจ๊อกกิ้งตอนเช้า อันนี้ผมไม่ได้ว่าท่าน ผมว่าดีท่านไปวิ่ง คือท่านจะได้เห็นสภาพ กทม. แต่หมายถึงท่านเปลี่ยน จัดเวทีสักวันหนึ่ง ผู้ว่าฯ นั่ง Live เลย แล้วท่านก็ให้ชาวบ้านส่งเข้ามาว่าตรงนี้เคยเป็นอะไร ชุมชนเราไม่เคยมีทางเข้า-ออกเลย ต้องมุดสะพานข้ามลอดหัว ก็บอกท่านผู้ว่าฯจะได้อยู่ในผังเมือง” อรรถวิชช์ ฝากทิ้งท้าย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค
  • แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’  เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’ แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’
  • ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’ ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’
  • แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’ แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’
  • ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ
  • แนวหน้าTalk : ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’  นโยบาย‘กลาโหม’ยุครัฐมนตรี‘เพื่อไทย’ ยกเครื่อง‘พลทหาร’ปูทางสู่‘เลิกเกณฑ์’ แนวหน้าTalk : ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’ นโยบาย‘กลาโหม’ยุครัฐมนตรี‘เพื่อไทย’ ยกเครื่อง‘พลทหาร’ปูทางสู่‘เลิกเกณฑ์’
  •  

Breaking News

เข้าถึงยากขึ้น! 'สมศักดิ์'เล็งใช้ใบรับรองแพทย์ก่อนใช้'กัญชา'

'DSI'จับกุมตัวผู้ต้องหาฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์

(คลิป) แนวหน้าTAlk : ปอกเปลือก 'ศรีสุวรรณ' นักร้อง No.1

'อธิการบดี มธ.'ประกาศความพร้อม ดูแลคนไทยใน'สังคมสูงวัย'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved