“ประชากรประเทศฟิลิปปินส์เยอะมาก แล้วส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เรียกได้ว่าถ้ารวมเงินเดือนของเขาโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณหมื่นนิดๆ เอง แล้วประเด็นคือครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวใหญ่ แล้วบริบทของประเทศฟิลิปปินส์เอง ด้วยความที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ก็มีประเด็นเรื่องการห้ามคุมกำเนิด อาจจะเป็นข้อกำหนดทางศาสนาอะไรแบบนี้ ฉะนั้นก็ทำให้เขามีครอบครัวใหญ่ ประกอบกับความที่เขายากจน ด้วยตัวเงินภายในประเทศเขาเองก็อาจไม่เพียงพอกับการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว”
รศ.ดร.กมลพร สอนศรี อาจารย์สาขาวิชาบริหารรัฐกิจคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพเศรษฐกิจและสังคม ฟิลิปปินส์ อันเป็นแรงกดดันที่ทำให้คนที่นั่นจำนวนมากเดินทางออกไปแสวงหาโอกาสในต่างแดน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ด้วยความที่เคยเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มี “จุดแข็ง” ในเรื่อง “ทักษะภาษาอังกฤษ”เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน โดยพบว่า มีชาวฟิลิปปินส์มากกว่า 10 ล้านคน ที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ ตั้งแต่ใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์ ไปจนถึงในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หรือหากเป็นแรงงานฝีมือ เช่น บุคลากรด้านการแพทย์หรือด้านวิทยาศาสตร์ ก็มักไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา เพราะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าอยู่ที่ฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นยังมีงานประเภทประสานงานทางโทรศัพท์ (เจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์) ที่บริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา นิยมจ้างชาวฟิลิปปินส์ทำงาน เพราะได้ทั้งภาษาอังกฤษแถมค่าจ้างก็ไม่แพง อีกทั้งนิสัยของชาวฟิลิปปินส์ยังดูเป็นคนง่ายๆ เป็นกันเอง มีชีวิตชีวา จึงโดดเด่นด้านงานบริการ และต้องบอกว่า “แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนถือเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ” เพราะแต่ละปีส่งเงินกลับประเทศจำนวนมาก
เรื่องเล่าข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ฟิลิปปินส์สู่ไทย : การไหลเวียนและแรงดึงดูดของแรงงานข้ามชาติ” จัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยจุดเริ่มต้นของแรงงานย้ายถิ่นชาวฟิลิปปินส์ ต้องย้อนไปถึงสมัยที่ฟิลิปปินส์ยังเป็นอาณานิคมของสเปน หรือก่อนหน้าการเข้ามายึดครองของสหรัฐอเมริกา ในยุคแรกๆ งานของชาวฟิลิปปินส์คือการเป็นกะลาสีเรือ ไปตามเส้นทางการค้าทางทะเล ต่อมาในยุคเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มมีอาชีพเป็นแรงงานภาคเกษตร
“ข้อดีของการเป็นเมืองขึ้นของอเมริกา จริงๆ มันอาจจะไม่ดี แต่เรามองในมุมบวก ก็คืออเมริกาเองก็อำนวยความสะดวกให้โดยที่เมื่อชาวฟิลิปปินส์เข้าไปทำงาน เขาก็พิจารณาเปลี่ยนสัญชาติให้เป็นคนอเมริกันเลย มันเลยทำให้คนฟิลิปปินส์ออกไปทำงานในอเมริกาเป็นจำนวนมาก จริงๆ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงอเมริกายังไม่เท่าไหร่ พอไปเจอช่วงวิกฤตน้ำมัน ในช่วงปี 1970 (2513) กว่าๆ มันจะมีความรุ่งเรืองของประเทศในแถบตะวันออกกลางค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นโอกาสอีก ที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ไหลออกนอกประเทศไปอีก” รศ.ดร.กมลพร กล่าว
รศ.ดร.กมลพร เล่าต่อไปว่า งานที่ชาวฟิลิปปินส์ไปทำในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีตั้งแต่แรงงานก่อสร้าง พนักงานโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งรวมถึงชาวฟิลิปปินส์ที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ก็จะเริ่มออกไปทำงานในภูมิภาคดังกล่าวในช่วงนี้ ต่อมาในทศวรรษ 1980 (ปี 2523-2532) จะเริ่มเห็น “แรงงานหญิง” ชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไปเป็นแม่บ้านหรือพี่เลี้ยงเด็ก หรือเป็นพนักงานโรงแรม กระทั่ง ณ ปัจจุบัน กลายเป็นผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์ออกไปทำงานต่างแดนมากกว่าผู้ชาย
และคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า “การไปทำงานต่างแดนของชาวฟิลิปปินส์ถือเป็น “วัฒนธรรม” อย่างหนึ่ง” เพราะไม่ว่าจะเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่มีการศึกษาหรือทักษะสูงหรือไม่ก็ตาม ล้วนนิยมออกไปหารายได้ในต่างประเทศมากกว่าจะทำงานอยู่ในบ้านเกิด “รายได้ที่ชาวฟิลิปปินส์ในต่างแดนส่งกลับภูมิลำเนาถือเป็นอันดับ 2 ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ” เงินเหล่านี้ถูกส่งให้ญาติพี่น้อง พ่อแม่ บุตรหลาน ได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรวมถึงการลงทุน เท่ากับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ไปโดยปริยาย
แต่อีกด้านหนึ่ง “เมื่อผู้คนนิยมไปทำงานต่างประเทศ..ผลคือฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับปัญหา “สมองไหล” ขาดแคลนแรงงานฝีมือในประเทศ” เช่น แพทย์ พยาบาล โดยเคยมีการสำรวจแล้วพบว่า แม้แต่เด็กอายุน้อยๆ เพียง 10-15 ปี ก็คิดอยากออกไปทำงานต่างประเทศแล้ว นอกจากนั้น ยังพบว่า “แรงงานฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างแดน อาจได้ทำงานไม่ตรงคุณวุฒิที่จบมา” เช่น จบแพทย์แต่ต้องไปทำงานเป็นพยาบาล จึงทำให้ไม่ได้รับการเพิ่มพูนทักษะอย่างที่ควรจะเป็นหรืออย่างที่คาดหวัง
รศ.ดร.กมลพร ยังยกตัวอย่างเกี่ยวกับ “ความนิยมของชาวฟิลิปปินส์ในการมาทำงานในประเทศไทย” ด้วยว่า ชาวฟิลิปปินส์ในไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะสูงและอยู่ในภาคการศึกษา ตั้งแต่ครูในโรงเรียนไปจนถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ในขณะที่ภาคสาธารณสุขอย่างแพทย์และพยาบาลแม้จะมีบ้างแต่ก็ไม่มากนัก สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์นิยมเข้ามาเป็นครูในไทย นอกจากเรื่องรายได้แล้วยังได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากการเปิดเสรีอาเซียน ทำให้ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ 2 ภาษา จึงมีการจ้างครูชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นยังพบว่า “ชาวตะวันตกไม่ “อิน” กับวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่นิยมความรื่นเริง เมื่อเทียบกับชาวฟิลิปปินส์” ทำให้นักเรียนที่เรียนกับครูชาวตะวันตกจะค่อนข้างเครียด ในขณะที่ “ชาวฟิลิปปินส์เก่งเรื่องร้องรำทำเพลง เมื่อนำมาปรับใช้กับการสอนภาษาก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียนชาวไทย” ซึ่งเมื่อบวกกับค่าจ้างครูชาวตะวันตกที่สูงกว่า จึงเอื้อให้ครูชาวฟิลิปปินส์ได้รับการว่าจ้างจากโรงเรียนในไทยมากกว่า
อีกทั้ง “ประเทศไทยยังไม่มีปัญหาความขัดแย้งหรือการกีดกันด้วยเหตุแห่งศาสนา” ทำให้ชาวฟิลิปปินส์อยู่แล้วสบายใจ “แม้กระทั่งการเดินทางในประเทศไทยก็สะดวกกว่าหากเทียบกับการเดินทางในฟิลิปปินส์” ทั้งด้วยสภาพภูมิประเทศที่ไทยไม่ได้เป็นหมู่เกาะ จำนวนประชากรในไทยที่ไม่ได้แออัด และไทยมีตัวเลือกในการเดินทางที่หลากหลายกว่า
“มีชิ้นงานหนึ่งที่ศึกษาครูฟิลิปปินส์ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย อันนี้อาจจะแชร์ตัวเลขได้เล็กๆ ว่าถ้าเป็นครูอยู่ในฟิลิปปินส์จะได้เงินปริญญาตรีไม่เกินสองหมื่น ได้ประมาณหมื่นห้า (ต่อเดือน)แต่ถ้าอยู่ประเทศไทยจะได้สองหมื่นห้าถึงสี่หมื่น แล้วประเด็นคือค่าครองชีพฟิลิปปินส์แพงมาก อันนี้บอกเลย สมมุติ 300 บาท วันหนึ่งไม่รู้จะพอหรือเปล่า เพราะชีวิตความเป็นอยู่เขาแพง ขณะที่ประเทศไทยเราสามารถอยู่ได้แบบสบายๆ
แล้วคนฟิลิปปินส์เขาก็แบบเวลามาอยู่ในประเทศไทย เขาก็อยู่แบบสบายๆ เนื่องจากค่าครองชีพเมื่อเทียบกับประเทศเขามันน้อยกว่าต่ำกว่า แล้วเขาก็ได้เงินเดือนสูงกว่า แต่อันนี้เป็นเฉพาะวิชาชีพครูที่เราไปศึกษา เพราะจริงๆครูก็เป็นสัดส่วนของอาชีพที่คนฟิลิปปินส์เข้ามาในประเทศไทยเยอะที่สุด ประมาณ 75% ของแรงงานฝีมือทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย” รศ.ดร.กมลพร ยกตัวอย่าง
เมื่อมองไปที่บทบาทของภาครัฐ ต้องบอกว่า “ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในชาติต้นแบบเรื่องระบบบริหารจัดการการส่งประชากรของตนเองออกไปทำงานในต่างประเทศ” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส โดยมีกฎหมายที่อำนวยความสะดวกสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ นอกจากนั้นยังมีภาคประชาสังคม (NGO) ที่ช่วยผลักดันการปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงทำงานร่วมกับรัฐในการอำนวยความสะดวกและดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน
โดยภาครัฐของฟิลิปปินส์มีหน่วยงาน Philippine Overseas Employment Administration (POEA) ดูแลตั้งแต่มาตรฐานการทำสัญญาจ้างของบริษัทในต่างประเทศที่ชาวฟิลิปปินส์จะเดินทางไปทำงาน ออกใบอนุญาตให้ภาคเอกชนที่ต้องการตั้งบริษัทจัดหางาน ออกใบรับรองการเดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมายของชาวฟิลิปปินส์ และมีหน่วยงาน Overseas Workers Welfare Administration(OWWA) ดูแลเรื่องสวัสดิการของชาวฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตัวแรงงานแต่ยังรวมถึงครอบครัวด้วยผ่านกลไกกองทุนสวัสดิการแรงงาน
“อาจมีการฝึกอบรมแรงงานเกี่ยวกับสภาพการทำงานในต่างประเทศเป็นอย่างไร เช่น ไปซาอุฯ สภาพการทำงานเป็นอย่างไร เงินเกษียณอายุเป็นอย่างไร ประกันสุขภาพเป็นแบบไหนแล้วก็รวมไปถึงการดูแลเงินกู้ก่อนออกเดินทางด้วยนะ หรือว่าอาจมีเรื่องของกู้ฉุกเฉิน หน่วยงานนี้ OWWA เขาก็จะทำหน้าที่ดูแลตรงนี้ให้กับแรงงานหมดเลย” รศ.ดร.กมลพร กล่าว
จากเรื่องราวของชาวฟิลิปปินส์ ยังมีวิทยากรอีก2 ท่าน ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งสามารถติดตามได้ในฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย. 2567!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี