นับตั้งแต่มีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 แต่ยังไม่มีกฎหมายหรือกฎกระทรวงใดๆ ออกมาเพื่อควบคุมอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดภาวะ “สุญญากาศ” ที่ทำให้เกิดการใช้กัญชาในเชิงสันทนาการอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดคำถามในสังคมถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาให้เป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันเยาวชนและทำให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยและเศรษฐกิจของชาติอย่างแท้จริง
ท่าทีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้นายกฯ เศรษฐาได้ออกมาประกาศว่าจะดึงกัญชากลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาเสพติดเหมือนเดิมแต่เมื่อมีแรงกดดันจากพรรคภูมิใจไทย หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญที่มีเสียงของ สส. ในคอนโทรลถึง 77 เสียงในสภา โดยเฉพาะหลังการพบกันของบิ๊กการเมืองที่กล่าวขานถึงในชื่อ “ปฎิญญาเขาใหญ่” ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยออกมากลับลำอีกครั้งด้วยการบอกว่าจะสนับสนุนให้กัญชามี พ.ร.บ. ควบคุม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยออกอาการเป๋ แสดงความลังเล หากไม่นับรวมถึงวาทกรรม “ตระบัดสัตย์” ที่พรรคเพื่อไทยย้ายข้าง สลับขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับขั้วการเมืองเดิมแล้ว จนหัวหน้าพรรคในขณะนั้นต้องลาออก และยังมีเรื่องโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่กว่าจะมาลงตัวที่แอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” พรรคเพื่อไทยก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแจกเงิน 1 หมื่นบาทและการได้มาซึ่งงบประมาณไปๆ มาๆ อยู่หลายครั้งจนประชาชนตาดำๆ สับสน เริ่มไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วจะได้เงินหมื่นเข้ากระเป๋า โดยที่ไม่สร้างหนี้ให้กับประเทศชาติไว้ให้ลูกหลานต้องมารับภาระหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งระหว่างการหาเสียงเมื่อต้นปี 2566 มีแกนนำตัวเป้งในพรรคเพื่อไทยอย่างน้อย 2 คน ให้สัมภาษณ์สื่อเห็นด้วยกับการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา ทวีตข้อความในแพลตฟอร์ม X ส่วนตัว (@Thavisin) ถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าและสนับสนุนให้มีการปราบปรามอย่างเข้มงวด จนเกิดเป็นกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์ แห่ทวงสัญญาในอดีตว่ามันเป็นยังไงกันแน่
การคลายปมประเด็นกัญชาที่จะถูกนำกลับมาเป็นยาเสพติด โดยจะให้มีการออก พ.ร.บ. ออกมาควบคุม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการป้องกันเยาวชนจากยาเสพติด การเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างสูงสุด และการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้ประกอบการภาคเอกชน หรือการปรับแนวทางโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ให้ตอบโจทย์กับผู้รับผลประโยชน์ โดยไม่ทำให้รัฐกระเป๋าฉีก จึงดูจะเป็นทาง “สายกลาง” ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และยังช่วยทำให้นโยบายภาครัฐหรือโครงการที่พรรคเพื่อไทยเคย “รับปาก” ประชาชนไว้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
เช่นเดียวกับเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ควรจะให้มีกฎหมายออกมาควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้เช่นเดียวกัน เพราะหากปล่อยให้เป็นสินค้าผิดกฎหมาย ไร้กฎหมายควบคุมแบบนี้ ก็คงไม่ต่างกับสร้างภาวะสุญญากาศให้กับบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับปัญหากัญชา
แน่นอนว่าเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายย่อมมีทั้งแรงต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงสนับสนุนของสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานคะแนนเสียงที่ทุกพรรคต่างหมายปองที่อยากเห็นรัฐบาลออกมาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพความเป็นจริง และบริบทของประเทศไทย ดังเช่นพรรคก้าวไกล ซึ่งประกาศชัดเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงจนได้รับคะแนนเสียงกว่า 14 ล้านท่วมท้น และชัดเจนในจุดยืนของนโยบายก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ แม้ว่าต้องพบกับแรงเสียดทานอย่างมหาศาลทางการเมือง
ก็อยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทย จะแสดงความกล้าหาญเดินหน้ารักษาสัญญา ตามที่แกนนำบางคนได้ให้ไว้กับประชาชนได้หรือไม่ เพราะหมายถึงเดิมพันทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า การรักษาสัญญาหรือนโยบายในการหาเสียงสำหรับคนที่อาสาเข้ามารับใช้ประชาชนจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี