บทบัญญัติสำคัญในกฎหมายดังกล่าวที่ได้เคยถูกเลื่อนบังคับใช้เนื่องจากอ้างเหตุผลด้านความพร้อมด้านงบประมาณนั้นส่วนสำคัญคือ มาตรา 22ซึ่งมีสาระสำคัญกล่าวคือ ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว
เมื่อวิเคราะห์จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นหากมองผิวเผินอาจจะเห็นว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขภาระหน้าที่และความยุ่งยากให้แก่เจ้าพนักงานซึ่งเป็นผู้ใช้กฎหมายในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจแต่การจับกุมควบคุมตัว เช่น เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น ซึ่งจะต้องเพิ่มขั้นตอนในการทำงานกล่าวคือจะต้องมีการบันทึกภาพวีดีโอตั้งแต่ถูกจับกุม ตลอดช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวไปจนถึง เมื่อส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนหรือหมดอำนาจในการควบคุมตัวนั่นเอง
โดยเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาจะต้องทำการบันทึก วีดีโอไว้ตลอดช่วงที่ทำการควบคุม ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาทางด้านเทคนิคคือแบตเตอรี่หรือหน่วยความจำของอุปกรณ์ แต่ข้ออ้างดังกล่าวไม่สามารถยกขึ้นอ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดได้หากผู้ถูกควบคุมสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองเกิดบาดเจ็บ ถูกทำร้ายหรือกระทำให้ทรมาน ในช่วงระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว
อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง การบันทึกวีดีโอไว้ตลอดช่วงที่ทำการจับกุมและควบคุมตัว หากในขณะจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ให้การรับสารภาพก็ดีหรือแม้ไม่ได้ให้การรับสารภาพโดยตรงแต่ให้ถ้อยคำอื่นซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐานในการพิสูจน์การกระทำความผิดในคดีก็ดี เช่น ได้พูดหรือให้การถึงข้อมูลหรือความเชื่อมโยงในคดี หรือได้พูดให้การถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดในคดี
หากเป็นตามกรณีดังกล่าวแล้วนอกจากการบันทึกวีดีโอไว้ตลอดช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่และสามารถเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลับมาแล้ว ในกรณีที่จำเลยอาศัยช่องว่างทางข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดีเพื่อให้ตนพ้นผิดนั้น จะยากขึ้น
เนื่องจากขณะที่ถูกจับกุมเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดโดยปกติในหลักการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นศาลมักจะมีความเห็นว่า คำให้การหรือถ้อยคำอื่นของจำเลยที่ได้ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ในขณะที่ถูกจับกุมนั้น เป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดจำเลยไม่ได้มีเวลาปั้นแต่งหรือปรึกษาไตร่ตรองไว้ก่อน จึงเชื่อว่าถ้อยคำที่จำเลยได้ให้ไว้ในขณะที่จับกุมนั้นมีความน่าเชื่อถือกว่าถ้อยคำที่จำเลยให้การในชั้นศาล เมื่อพิจารณาประกอบกับพยานแวดล้อมอื่นๆ เช่น ผู้เสียหายหรือผู้จับกุมมิได้มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และพิจารณาประกอบพยานแวดล้อมอื่น ศาลมักจะพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเสมอ ซึ่งจะเป็นยาขมและความท้าทายของทนายความจำเลยในคดีอาญา แต่จะเป็นขนมหวานของทนายความโจทก์(อัยการ)ในการพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลย !!