หลักการความรับผิดของนิติบุคคลในคดีแพ่งโดยทั่วไป จะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้โดยกฎหมาย เช่น กรณีบริษัทจำกัด บุคคลที่ต้องรับผิดทางกฎหมายคือนิติบุคคล ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจ ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายในคดีแพ่งเว้นแต่เข้าไปร่วมทำนิติกรรม เช่นเข้าไปทำการค้ำประกันส่วนกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด บุคคลที่ต้องร่วมรับผิดคือหุ้นส่วนผู้จัดการ ส่วนหุ้นส่วนโดยทั่วไป ไม่ต้องรับผิดเว้นแต่เข้าไปทำนิติกรรม หรือค้ำประกันด้วยตนเอง
แต่ด้วยปัญหาเรื่องข้อจำกัดของความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลดังกล่าวในกรณีที่เป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงคดีสิ่งแวดล้อม ในอดีตเคยเกิดปัญหาคือกรณีที่มีการละเมิดทางด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงมีการดำเนินคดีคุ้มครองผู้บริโภคกับนิติบุคคล ต่อมาภายหลังเมื่อชนะคดีแล้ว ไม่สามารถทำการบังคับคดีกับนิติบุคคลนั้นได้เนื่องจากบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ถูกโยกย้ายไปอยู่ในนามของ กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการทั้งสิ้น
ภายหลังกฎหมายจึงมีการพัฒนาการโดยการ บัญญัติความรับผิดเกี่ยวกับผู้แทนของนิติบุคคล อาทิ บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมาตรา 44“ในคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งถูกฟ้องเป็นนิติบุคคล หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งและทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลหรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วมและให้มีอำนาจพิพากษาให้บุคคลเช่นว่านั้น ร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคได้ด้วย เว้นแต่ผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว หรือในกรณีของผู้รับมอบทรัพย์สินนั้นจากนิติบุคคลจะต้องพิสูจน์ได้ว่าตนได้รับทรัพย์สินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ร่วมรับผิดไม่เกินทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้รับจากนิติบุคคลนั้น”
ส่วนในคดีสิ่งแวดล้อมนั้นได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 111 “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคลกรรมการ หรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วยเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น” ซึ่งในหลักการดังกล่าวแม้จะถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายคนละฉบับแต่มีจุดประสงค์เดียวกันก็คือในกรณีที่เกิดความเสียหายจากนิติบุคคลบุคคลที่เป็นตัวแทนหรือภาษาที่เข้าใจโดยทั่วไปคือเจ้าของนั้นเอง ต้องเข้ามาร่วมรับผิดด้วย ทั้งกรณีที่การเกิดความเสียหายจากการซื้อสินค้าและบริการในคดีคุ้มครองผู้บริโภคและค่าเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อม
ซึ่งหากผู้บริโภครวมถึงผู้เสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมมีการดำเนินคดีจนประสบความสำเร็จและศาลมีการพิพากษาให้ชนะคดีแล้ว ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ ที่เกิดจากกำไร จากการประกอบธุรกิจนั้นที่ไหลเวียนไว้ในบัญชีส่วนตัวของเจ้าของ คงจะสามารถติดตามบังคับคดีได้ง่ายขึ้น และเป็นมาตรการสำคัญให้ทางผู้ประกอบการในคดีคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบการในคดีสิ่งแวดล้อมจะต้องดำเนินธุรกิจโดยระมัดระวังและมีธรรมาภิบาล และเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ทางผู้บริโภคและผู้เสียหาย ทางด้านสิ่งแวดล้อมคงต้องพิจารณาและนำไปใช้