คดีเกี่ยวกับความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น เสียง แปลงสั่นสะเทือน รวมถึงปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาปัจจัยสำคัญคือปัญหาข้อเท็จจริงว่ามลภาวะต่างๆ ที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือผู้เสียหายนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียงดังกลิ่นเหม็นหรือแรงสั่นสะเทือนก็ตาม ถึงขนาดที่เป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญต่อผู้อื่นหรือไม่อันเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกันและมักอาศัยประสาทสัมผัสของแต่ละคนเป็นเครื่องชี้วัด
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คู่ความมักจะใช้พยานหลักฐานไม่ว่าจะมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กรมอนามัยสิ่งแวดล้อมฯ หรือพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจวัด รวมถึงพยานบุคคลคือตัวผู้เสียหายนั่นเอง เพื่อนำสืบและเบิกความต่อศาลยืนยันถึง เหตุเดือดร้อนรำคาญ แหล่งกำเนิดมลพิษ รวมถึงความเสียหาย
นอกจากนี้ในกระบวนวิธีพิจารณาคดีนั้นสามารถเปิดช่องให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้ตัดสินคดีสามารถเดินเผชิญสืบเพื่อรับรู้รับทราบข้อเท็จจริงโดยเฉพาะ คดีประเภทด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อมลภาวะดังกล่าวข้างต้นได้
ในกรณีดังกล่าวเคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ตัดสินและวางหลักเกี่ยวกับการเดินเผชิญสืบเอาไว้กล่าวคือ คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 2329/2524 ซึ่งมีประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสำคัญคือ “คดีดังกล่าวจำเลยได้ประกอบกิจการทุบทองคำเปลวในตึกแถวซึ่งอยู่ในซอยเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้เดินเผชิญสืบที่เกิดเหตุและตัดสินว่าเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากการทุบทองคำเปลวของจำเลยทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์เกินสมควร และได้พิพากษาให้จำเลยระงับการก่อความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าวตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาว่า จากการตรวจวัดจากเจ้าหน้าที่กรมอนามัย ปรากฏว่าการทุบทองคำเปลวของจำเลยไม่ก่อให้เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือนถึงขนาดเป็นความเดือดร้อนรำคาญ โดยศาลฎีกาได้พิพากษาในประเด็นดังกล่าวเอาไว้ว่า การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่นั้นต้องอาศัยความรู้สึกของบุคคลธรรมดา เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสองนายได้ไปเดินเผชิญสืบแล้วมีความเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเกินสมควรย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้
จากคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความเดือดร้อนรำคาญนั้นแม้อาจจะต่ำกว่าที่หน่วยงานรัฐได้กำหนดไว้แต่เป็นลักษณะที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญโดยอาศัยความรู้สึกของบุคคลธรรมดาทั่วไป ย่อมถือเป็นการละเมิดและก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าปัญหามันเกิดจากการตรวจวัดเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในคดีเดือดร้อนรำคาญ คือเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐทำการตรวจวัดนั้น ระดับของเสียง แรงสั่นสะเทือนหรือกลิ่นมักจะมีน้อยกว่าปกติ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี