23 ก.ค. 2568 น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในประเด็นปัญหาและอคติในสังคมไทยบางส่วนที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ว่า เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะมองแรงงานข้ามชาติในแง่ลบ เข่น มาแย่งงานคนไทยบ้าง ก่อให้เกิดโรคระบาดบ้าง เรื่องเหล่านี้ตนได้ยินมาตลอด แต่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยก็ต้องการแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในงานที่คนไทยก็ไม่ทำแล้ว อย่างที่เราเรียกกันว่างาน 3D คือ Dirty (สกปรก) Dangerous (อันตราย) และ Difficult (ยากลำบาก)
นอกจากนั้น สังคมไทยปัจจุบันยังเข้าสู่ยุคคนเกิดน้อยลงและกลายเป็นสังคมสูงวัยเต็มตัว มีผู้สูงอายุจำนวนมาก อย่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. – สภาพัฒน์) ก็เคยพยากรณ์ไปประมาณ 20 - 25 ปีข้างหน้า แล้วมีข้อกังวลว่าประเทศไทยอาจขาดแคลนแรงงาน อย่างในอดีตไทยเคยมีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ย 1 ล้านคนต่อปี แต่ล่าสุดเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา กลับมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 5 แสนคน
“นี่เป็นตัวสะท้อนว่าเราถึงจำเป็นต้องนำเข้า มีการไปทำ MOU (บันทึกความเข้าใจร่วม) กับประเทศเพื่อนบ้าน นำเข้าแรงงานเข้ามาทำงาน เพราะว่าผู้ประกอบการก็ต้องการ มันก็ดูจะผกผันกันเอง แต่ในขณะที่ทัศนคติของคนในสังคมก็จะเป็นแบบที่เราพูดกันว่าเขาเข้ามาแล้วมาแย่งงานคนไทย ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความจริง มันก็มีการศึกษาของหลายที่ที่พูดถึงว่าแรงงานข้ามชาติเองก็ช่วยทำให้ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) เราเติบโตมากขึ้น” น.ส.สุภัทรา กล่าว
น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มักมีเสียงสะท้อนความไม่พอใจอยู่เสมอเมื่อรัฐมีนโยบายที่สนับสนุนสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เช่น แรงงานข้ามชาติได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับแรงงานไทย เรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่งหากเราไม่คุ้มครองให้แรงงานข้ามชาติได้สิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย ก็จะส่งผลกระทบกับแรงงานไทยด้วย กล่าวคือ งานหลายๆ อย่างนายจ้างก็จะเลือกจ้างแรงงานข้ามชาติมากกว่าเพราะจ่ายต่ำกว่า อย่างงานที่ต้องจ้างคนไทย 400 บาท ก็ไปจ้างแรงงานข้ามชาติที่สามารถจ่าย 200 บาทได้ เป็นต้น และหลายงานก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานข้ามชาติ
หรืออย่างช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แล้วมีการติดเชื้อมากในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการควบคุมโรคระบาดถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ในเวลานั้นต้องมีการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือประชากรในประเทศนั้นมากกว่าร้อยละ 70 ฉีดวัคซีน ช่วงแรกๆ ยังพูดกันถึงเรื่องให้เฉพาะคนไทย หรือให้เฉพาะคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่สุดท้ายหากจะควบคุมโรคให้ได้ผลก็ต้องให้ทุกคน นำไปสู่การอาศัยกำลังของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการป้องกันโรคและชวนให้มาฉีดวัคซีน
“เราเลือกปฏิบัติไม่ได้หรอก เราจะไปบอกว่าใครเป็นคนแพร่ คือเชื้อโรคมันไม่ถามหาสัญชาติก่อนว่าสัญชาติอะไรแล้วจึงกระโดดเข้าใส่ ฉะนั้นการยอมรับความจริงว่า ณ วันนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่จำเป็นต้องมีแรงงานข้ามชาติอยู่ ทุกบ้านน่าจะมีคนทำงานบ้าน เกือบจะทั้งหมดนะที่ว่าถ้าจ้างคนทำงาน ไม่ลาวก็เมียนมา ไม่ก็กัมพูชา มีกันอยู่แล้วเพราะคนไทยก็ไม่อยากทำงานที่หนักแบบนี้” น.ส.สุภัทรา ระบุ
น.ส.สุภัทรา ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการที่บอกว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้อยากใช้แรงงานเถื่อน แต่ที่ต้องใช้เพราะขั้นตอนการจัดหาแรงงานข้ามชาติแบบถูกกฎหมายค่อนข้างยุ่งยาก ตนก็เข้าใจข้อจำกัดนั้น เช่น ไม่ได้เปิดตลอด ขั้นตอนยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายก็สูง แต่เราก็อยากเห็นคนเข้ามาอยู่ในระบบให้หมด แต่ด้วยเงื่อนไขของนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ
1.มีแผนระดับชาติว่าด้วยการบริหารจัดการแรงงานแบบยั่งยืน คือเป็นแผนระยะยาว ไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งคราว 2.เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัว เพราะในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ สังคมไทยก็กลายเป็นสังคมสูงวัย ความจำเป็นที่ต้องมีแรงงานเข้ามาเสริมนั้นก็มีอยู่จริง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่เดินหน้าแน่ๆ หากไม่มีแรงงานข้ามชาติ จึงเป็นเรื่องต้องสร้างความเข้าใจใหม่กับสังคม
“ไม่ใช่เรื่องว่าเป็นคนต่างชาติแล้วไปเหมารวมเขาว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนมาแย่งงาน ซึ่งจริงๆ เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่เริ่มทำงานกับแรงงานข้ามชาติก็ถือว่าดีขึ้นนะ ในมิติที่ว่าก็เริ่มมีคนเข้าใจมากขึ้น แม้แต่ในผู้นำของขบวนการแรงงานเองเมื่อก่อนก็จะแยกเหมือนกัน” น.ส.สุภัทรา กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน “สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ธ.ค. 67” โดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน พบว่า ณ เดือน ธ.ค. 2567 มีกลุ่มแรงงานประเทศเพื่อนบ้านของไทย 4 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนาม) ใน 3 กลุ่ม คือ 1.แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตาม MOU 2.แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติ ครม. 7 ก.พ. 2566 และ 3.แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติ ครม. 3 ต.ค. 2566 รวมทั้งสิ้น 3,019,250 คน แบ่งเป็นเมียนมา มากที่สุด 2,263,780 คน รองลงมา กัมพูชา 460,491 คน อันดับ 3 สปป.ลาว 291,315 คน และอันดับ 4 เวียดนาม 3,664 คน
ส่วนกิจการ 5 อันดับแรกที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำมากที่สุด อันดับ 1 กิจการเกษตรและปศุสัตว์ ตลอดจนภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับเกษตรและปศุสัตว์ 671,660 คน อันดับ 2 กิจการก่อสร้าง 669,651 คน อันดับ 3 กิจการให้บริการต่างๆ ยกเว้นกิจการรับเหมาฯ 316,054 คน อันดับ 4 กิจการผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 288,431 คน และอันดับ 5 กิจการผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปฯ 148,229 คน
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี