25 ก.ค. 2568 นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งและการปะทะกันด้วยกำลังทหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การสร้างกระแสความเกลียดชังต่อแรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทย ว่า ใน จ.สมุทรสาคร มีแรงงานกัมพูชาอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก และนายจ้างอาจเช่าที่อยู่อาศัยให้อยู่โดยเฉพาะ ไม่ค่อยได้ออกมาอยู่ปะปนกับแรงงานชาวเมียนมา สถานการณ์ที่นี่จึงเห็นภาพไม่ชัด
อย่างไรก็ตาม จากที่ติดตามสถานการณ์ในภาพรวม ยอมรับว่าไม่ค่อยสู้ดีนักทั้งแรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชา อย่างที่มีข่าวคนไทยบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวแทนรัฐ มีการบุกไปละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวของแรงงานข้ามชาติเท่านั้นแต่รวมถึงคนไทยด้วย เช่น พ่อค้า – แม่ค้าผู้ประกอบการในตลาดที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่แล้วเกิดเรื่องขึ้น ซึ่งตนเข้าใจว่ามีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์แล้วหลายคดี แต่ก็ยังคงออกมาเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบนี้ก่อให้เกิดการเหมารวม เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงยังจัดการเรื่องการลดความขัดแย้งหรือเกลียดชังได้ไม่ดี จะเห็นว่าไม่มีการพูดถึงในขณะที่คนบางกลุ่มยังคงเคลื่อนไหวต่อไป ขณะเดียวกัน ตนเป็นห่วงการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในอดีตอาจมีข่าวแรงงานข้ามชาติฆ่านายจ้าง หรือโรคระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่บ้าง แต่จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ครั้งคราว ต่างจากปัจจุบันที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ เสพสื่ออย่างไวและตัดสินใจเร็วเพียงเสี้ยววินาทีว่าคนนั้นไม่ดี
หรือคนที่อยากมีแสงแล้วเป็นสื่อแบบไม่มีจรรยาบรรณ เหมารวมโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง และบางครั้งก็มีสื่อกระแสหลักบางสำนักหยิบไปนำเสนอด้วย โหมกระหน่ำกันไปทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นคนละเรื่อง แรงงานข้ามชาติมาทำงานก็เพียงเพื่อเลี้ยงปากท้อง ไม่รู้เรื่องผู้นำทะเลาะกันแต่กลับต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้อีก หากเป็นตัวเราเองก็คงคิดหนักเหมือนกัน ก็ต้องให้ข้อเท็จจริงจากเสียงของแรงงาน เกี่ยวกับความรู้สึกในสถานการณ์เช่นนี้ และที่ผ่านมาเขาได้รับการตอบสนองจากรัฐไทย โดยนโยบายหรือผู้ประกอบการที่ดีอย่างไรบ้าง
“เขามาอยู่เมืองไทยด้วยปัจจัยที่ผลักเขามาจริงๆ มันไม่ใช่แค่ความยากจนนะ ถ้าพม่า (เมียนมา) ก็เป็นเรื่องขัดแย้งทางการเมือง สู้รบ – บีบเกณฑ์ทหาร มันจำเป็นต้องมา ถ้าประเทศเขาดี เศรษฐกิจดีเขาไม่มาหรอก แต่ที่เขามาตรงนี้ก็ต้องขอบคุณประเทศไทย เราก็ต้องขอบคุณเขาด้วยในฐานะที่เราขาดแคลนแรงงาน เราขาดทุนมนุษย์ ขาดปัจจัยการผลิต ไม่มีเขาเราก็อยู่ยาก เขาไม่มีเราเขาก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีเงินไม่มีรายได้ ต่างพึ่งพาอาศัยกัน ที่จะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นอกเห็นใจกัน มองมนุษย์เท่ากัน” นายสมพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน “สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ธ.ค. 67” โดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน พบว่า ณ เดือน ธ.ค. 2567 มีกลุ่มแรงงานประเทศเพื่อนบ้านของไทย 4 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนาม) ใน 3 กลุ่ม คือ 1.แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตาม MOU 2.แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติ ครม. 7 ก.พ. 2566 และ 3.แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติ ครม. 3 ต.ค. 2566 รวมทั้งสิ้น 3,019,250 คน แบ่งเป็นเมียนมา มากที่สุด 2,263,780 คน รองลงมา กัมพูชา 460,491 คน อันดับ 3 สปป.ลาว 291,315 คน และอันดับ 4 เวียดนาม 3,664 คน
ส่วนกิจการ 5 อันดับแรกที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำมากที่สุด อันดับ 1 กิจการเกษตรและปศุสัตว์ ตลอดจนภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับเกษตรและปศุสัตว์ 671,660 คน อันดับ 2 กิจการก่อสร้าง 669,651 คน อันดับ 3 กิจการให้บริการต่างๆ ยกเว้นกิจการรับเหมาฯ 316,054 คน อันดับ 4 กิจการผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 288,431 คน และอันดับ 5 กิจการผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปฯ 148,229 คน
043...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/likesara/901802 หยุดเลย! ‘นักวิชาการ-เพจดัง’ดีงสติคนไทยอย่าคุกคามแรงงานเขมร ย้ำพวกเขาไม่เกี่ยวอะไรด้วย
https://www.naewna.com/local/902069 รักชาติอย่างมีสติ! ‘สอบสวนกลาง’ห่วงสถานการณ์ไล่ทำร้ายชาวกัมพูชา เตือนเข้าข่ายผิดกฎหมาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี