วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / การเมือง
ครป.ออกแถลงการณ์ หยุดเศรษฐกิจผูกขาด-อำนาจเหนือตลาดในธุรกิจการค้าไทย

ครป.ออกแถลงการณ์ หยุดเศรษฐกิจผูกขาด-อำนาจเหนือตลาดในธุรกิจการค้าไทย

วันอาทิตย์ ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 17.47 น.
Tag : การค้า คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ครป. ธุรกิจ ผูกขาด เศรษฐกิจ
  •  

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ ครป.ฉบับที่ 6/2563 หยุดเศรษฐกิจผูกขาด และอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจการค้าไทย

ตามที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN.) ร่วมกันจัดเวทีอภิปรายสาธารณะเรื่อง “หยุดเศรษฐกิจผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจการค้าไทย” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น


เครือข่ายภาคประชาชนมีความเห็นและข้อสรุปร่วมกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องร่วมกันหยุดเศรษฐกิจผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจการค้าไทย โดยร่วมกันตั้งคำถามกับนโยบายทุนนิยมประชารัฐและเศรษฐกิจผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทย เพื่อร่วมกันแก้ไขไม่ให้ประเทศไทยต้องกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไป

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 และที่ผ่านมาได้กำหนดให้รัฐบาลจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ รวมถึงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจมีอํานาจเหนือตลาดและกําหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่น หรือกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งได้ติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจและการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้สัญญาสัมปทาน โครงการร่วมทุนภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนและโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่ารัฐบาลได้ทำตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกติการัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่หรือไม่ ได้สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและการป้องกันเศรษฐกิจผูกขาดอย่างจริงจังหรือไม่ แต่องค์กรภาคประชาชนพบว่านโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น กลับสวนทางกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่กลุ่มทุนที่ร่ำรวยมั่งคั่งอยู่แล้วให้ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ รวมถึงการยกเว้นภาษีรวมถึงการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่นักลงทุนต่างชาติผ่านนโยบายการส่งเสริมการลงทุน นับเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ ผ่านการครอบครองเศรษฐกิจและสงครามการแย่งชิงทรัพยากรภายใน ที่อาจส่งผลร้ายต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศไทยในระยะยาว

ดังนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องร่วมกันตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดและการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด เพื่อขจัดการผูกขาดเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังต่อไป โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอคัดค้านนโยบายทุนนิยมประชารัฐและขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดในประเทศไทย โดยบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัดและอย่างมีประสิทธิภาพต่อการกระทำที่เข้าข่ายผูกขาดตลาดหรือครอบงำตลาดเกินกึ่งหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศซึ่งพบว่ายังมีอยู่จำนวนมากในระบบตลาดการค้าไทย โดยประกาศมาตรการที่ป้องกันและไม่อนุญาตให้เอกชนกลุ่มใดถือครองตลาดในด้านนั้นๆ เกินกึ่งหนึ่งของตลาดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะธุรกิจการค้าปลีกของกลุ่มบริษัทซีพีออลล์ (CP ALL) ซึ่งเป็นผู้นำตลาดอุปโภคและบริโภคในประเทศไทยกว่า 67.9% และเทสโก้โลตัส (Tesco Lotus) อีกกว่า 16.07% ซึ่งหากทั้งคู่ควบรวมบริษัทกันแล้วจะมีมูลค่าสูงกว่า 83.97% ซึ่งน่าจะเป็นการผูกขาดตลาดไกรเซอรีของไทยในที่สุด และธุรกิจผูกขาดดังกล่าวอาจได้ผลประโยชน์ส่วนเกินมากมายจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาโดยไร้มาตรการควบคุมจากภาครัฐเพื่อกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม

2) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเข้มงวดในการพิทักษ์ดูแลสิทธิผู้บริโภคในตลาดการค้าไทย ที่ถูกเอาเปรียบมาโดยตลอดโดยไร้การดูแล และขอคัดค้านการเอื้อประโยชน์ของอำนาจทางการเมืองที่ไปสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจการบิน ค้าปลีก ร้านค้าปลอดภาษี ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต การผูกขาดเหล้า-เบียร์โดยกฎหมายที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่เจ้า รวมถึงสถาบันการเงินและการธนาคารไทยที่ขูดรีดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ ที่มีอัตราที่สูงมากในสถาบันธนาคารไทยโดยไร้การควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดจากธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล

3) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ที่ถูกตั้งคำถามในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะต้องคำนึงว่าทิศทางการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่ที่ไร้การแทรกแซงกำกับควบคุมจากรัฐไม่ใช่คำตอบของประเทศไทยอีกต่อไป เนื่องจากได้ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำและมอบอำนาจการครอบครองโภคทรัพย์ส่วนเกินทั้งหลายไปให้กลุ่มทุนธุรกิจผูกขาด มากกว่าการเฉลี่ยทรัพยากรให้ประชาชนอย่างเป็นธรรมตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (social-democracy) ที่รัฐเข้ามาจัดการระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ตลาดเสรีที่ปล่อยให้มือใครยาวสาวได้สาวเอาอีกต่อไป เนื่องจากกลุ่มทุนผูกขาดได้เข้าไปมีอิทธิพลในอำนาจทางการเมืองจนเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรส่วนร่วมของสังคมเพื่อแปรเป็นมูลค่าทางการเงินทั้งจากทรัพยากรสาธารณะ งบประมาณภาครัฐ และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมาก

4) ทิศทางประเทศไทยต้องเป็นทิศทางการพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รักษาระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การส่งเสริมการลงทุนแบบเลือกปฏิบัติและการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมือนในยุคเก่า  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่กำลังผลักดันกันอยู่ผ่านนักการเมืองนายหน้าในพื้นที่ภาคใต้ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เป็นกึ่งสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โครงการสัมปทานพื้นที่ในสนามบินต่างๆ ที่พบว่ามีภาครัฐเสียประโยชน์ การให้ที่ดินและการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แก่กลุ่มทุนเอกชนต่างๆ ที่มั่งคั่งอยู่แล้วโดยไม่รู้จบ รวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC.) ฯลฯ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI.) ว่าส่งเสริมปัญหาความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจผูกขาดหรือไม่ ซึ่งควรส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและให้ธุรกิจขนาดเล็กร่วมแข่งขันได้ โดยเน้นการใช้มาตรการเพิ่มภาษีต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผูกขาดตลาด แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บริษัทต่างชาติจำนวนมากโดยไม่มีรายงานต่อสาธารณะและการให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI.) ควรเปิดเผยข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนแก่กลุ่มทุนต่างๆ ทั้งหมดอย่างโปร่งใสในระบบอิเลคทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการตรวจสอบจากประชาชน โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีในโครงการต่างๆ และการอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บริษัทต่างชาติทั้งหมด

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยควรเร่งสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่นต่างๆ นอกจากการเสริมสร้างอาชีพการงานในพื้นที่ที่สามารถขยายตัวอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกท้องที่แล้ว ต้องสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากหลักประกันความมั่นคงทางอาหารที่คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตรกรรมและแรงงานในภาคการผลิตด้วย โดยเสริมสร้างเกษตรกรรมและอาหารที่ปลอดภัยในทุกภูมิภาค ผ่านการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน ส่งเสริมการจัดการเศรษฐกิจโดยชุมชนและทรัพยากรป่าชุมชนบนดอยสูงในภาคเหนือ ถึงประมงชายฝั่งพื้นบ้านในภาคใต้ ส่งเสริมระบบการจัดการน้ำและการเกษตรกรรมสีเขียวโดยชุมชนในภาคอีสานหรือการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่รับผิดชอบต่อสังคมในภาคตะวันออก เพื่อรองรับวิกฤตคนตกงานจำนวนมหาศาลอันใกล้นี้ และสัดส่วนประชากรสูงอายุที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

5) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันให้มี “กฎหมายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า” เหมือนนานาอารยประเทศ ยกเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลดหย่อนภาษีเงินได้และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในท้องถิ่นที่รับผิดชอบเพื่อการพัฒนาพื้นที่ต่อไปด้วย แม้ว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีมรดกและภาษีที่ดินแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นระบบอัตราก้าวหน้าที่แท้จริงแบบที่มีการใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกันทั่วโลก ซึ่งต้องเพิ่มอัตราเพดานภาษีให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันและขึ้นแบบขั้นบันใดแบบในกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศต่างๆ ที่สามารถใช้กฎหมายภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ มากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากกลุ่มทุนและคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วไม่ควรได้รับการยกเว้นภาษี แต่ควรเก็บภาษีให้มากขึ้นเป็นลำดับเพื่อคืนส่วนเกินที่ได้กำไรไปจากสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่รัฐเปิดโอกาสให้ โดยการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าเพื่อคืนส่วนเกินระหว่างทาง และการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้าคือการคืนส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และเศรษฐกิจติดอันดับโลก ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องจากโครงสร้างดังกล่าว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบผ่านกรรมาธิการด้านต่างๆ รวมถึงรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้ามากำกับดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยตรง แทนการสนับสนุนนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาดโดยการอ้างส่งเสริมการลงทุนเหมือนในยุคการพัฒนาทุนนิยมและอุตสาหกรรมเริ่มแรก ซึ่งเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วและนำมาสู่ปัญหาการกระจุกตัวทางอำนาจในปัจจุบันในรูปแบบทุนครอบงำรัฐและระบอบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ในประเทศไทย

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมกันติดตามตรวจสอบและตั้งคำถามถึงนโยบายทุนนิยมประชารัฐและเศรษฐกิจผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดเศรษฐกิจการเมืองไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของรัฐบาลและแอบอิงอำนาจจนประเทศชาติเสียหายย่อยยับมาอย่างยาวนาน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดทุนธุรกิจผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดในกลไกการค้าไทยทั้งหมดโดยเร็ว เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในประเทศไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • วิเคราะห์เจาะลึกผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ \'ดร.รุ่ง\' หรือ \'วิทัย\' ใครเหมาะคุมเสถียรภาพเศรษฐกิจ? วิเคราะห์เจาะลึกผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ 'ดร.รุ่ง' หรือ 'วิทัย' ใครเหมาะคุมเสถียรภาพเศรษฐกิจ?
  • ประเทศเดียวในโลก! \'นายกฯ\'หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่\'หุ้น\'เขียวทั้งกระดาน ประเทศเดียวในโลก! 'นายกฯ'หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่'หุ้น'เขียวทั้งกระดาน
  • 15 องค์กรประชาธิปไตยฯ แถลงการณ์จี้‘แพทองธาร’ลาออก รับผิดชอบทางการเมือง 15 องค์กรประชาธิปไตยฯ แถลงการณ์จี้‘แพทองธาร’ลาออก รับผิดชอบทางการเมือง
  • ศก.ดิ่งเหว! ‘ศิริกัญญา’เผย 4 หน่วยงานหลักรับกลางวง กมธ. เย้ยรัฐบาลใหม่เตรียมแบกหนี้ ศก.ดิ่งเหว! ‘ศิริกัญญา’เผย 4 หน่วยงานหลักรับกลางวง กมธ. เย้ยรัฐบาลใหม่เตรียมแบกหนี้
  • ตอบหน่อยจะได้หายโง่! ‘ชาดา’ไล่บี้‘ธปท.’ ใครเป็นคนคุม‘แบงก์’ปล่อยค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ยโหด ตอบหน่อยจะได้หายโง่! ‘ชาดา’ไล่บี้‘ธปท.’ ใครเป็นคนคุม‘แบงก์’ปล่อยค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ยโหด
  • \'สนธิรัตน์\'เตือน! ประเทศขาดถ่วงดุล-ปชช.อ่อนแอ หวั่นไทยจมกับดักเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง 'สนธิรัตน์'เตือน! ประเทศขาดถ่วงดุล-ปชช.อ่อนแอ หวั่นไทยจมกับดักเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง
  •  

Breaking News

'เจิมศักดิ์'เทียบฟอร์ม 2 ตัวเต็งชิงผู้ว่าฯแบงก์ชาติ จับตาพลิกความคาดหมาย

'มิว ศุภศิษฎ์'เปิดใจโต้ข่าวลือคู่เลิก ลั่นสร้างเรือนหอ 2 หลัง งบ 100 ล้าน?

กระบะขนแรงงานเถื่อน! ซิ่งหนีแหกด่าน จอดทิ้งชายป่า27เมียนมาโดนรวบ

‘วิโรจน์’พร้อมยกมือให้‘นายกฯชั่วคราว’เพื่อผ่าน‘งบ 69’ แลกเงื่อนไขสิ้นปี‘ยุบสภา’

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved