(ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว)
2) ประเด็นที่สอง การตรา พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 จะมีผลเป็นการคุ้มครองหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยที่ได้อาศัยหลักการตามพ.ร.ป.ป.ป.ช.2542 หรือไม่อย่างไร
5.ประเด็นข้อหารือดังกล่าว คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพิจารณาแล้ว มีความเห็นโดยสรุปดังนี้
1) ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า หลักเกณฑ์การขอให้พิจารณาใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองหรือผู้ได้รับผล
โดยตรงจากคำสั่งทางปกครอง ได้สิทธิในการขอทบทวนกระบวนการพิจารณาที่เสร็จสิ้นไปแล้วบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงใหม่ โดยคู่กรณีสามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 54 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
เมื่อข้อหารือนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ประกาศฯ เรื่องผลการคัดเลือกฯ หลักสูตรนายอำเภอฯ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงและชัดแจ้งในส่วนของผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 139 คน ซึ่งรวมถึงผู้ที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติกันไว้เป็นพยานจำนวน 20 คนด้วยเนื่องจากผู้ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวกระทำการทุจริตในการสอบคัดเลือก ส่วนราชการจึงได้ออกประกาศดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ประกาศผลการคัดเลือกในส่วนดังกล่าวไม่มีผลดังกล่าวมาแต่ต้น ดังนั้นการที่คู่กรณีจะยื่นคำขอให้ส่วนราชการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครอง โดยอ้างเหตุในการขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 54(1) หรือ(4)แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงต้องเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นที่ยุติแล้วแต่เดิมว่า มีการกระทำทุจริตในการสอบคัดเลือกนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือเป็นกรณีมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้เป็นฐานในการออกคำสั่งทางปกครองได้เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณี
สำหรับข้อเท็จจริงที่อ้างว่าปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 อันมีผลเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 และได้มีการนำหลักการกันเป็นพยานตามมาตรา 103/6 มากำหนดไว้ในมาตรา 135 ของกฎหมายฉบับใหม่โดยเพิ่มความไว้ในวรรคสามนั้นเห็นว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นมาตรการกันบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดไว้เป็นพยานและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของบุคคลดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามทุจริตซึ่งสิทธิประโยชน์อื่นนั้น ต้องเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่กรณีตามข้อหารือดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติกันไว้เป็นพยานนั้นได้กระทำการทุจริตในการสอบคัดเลือกการผ่านการสอบคัดเลือกที่ทุจริตนั้นจึงไม่ใช่สิทธิประโยชน์อื่นตามความหมายของมาตรา 135 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
(พ.ศ.2561) ดังกล่าว จึงไม่มีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญหรือเป็นกรณีมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้เป็นฐานในการออกคำสั่งทางปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณีผู้ที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติกันไว้เป็นพยาน จึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุในการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญป.ป.ช.(พ.ศ.2561) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมาเป็นเหตุในการขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 54(1) หรือ (4) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้
2)ประเด็นที่สอง เมื่อได้ให้ความเห็นในประเด็นที่หนึ่งว่า การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ป.ป.ช.พ.ศ.2561) ไม่ใช่เหตุในการขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 54(1) หรือ(4) แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องให้ความเห็นในประเด็นนี้อีก (ดูรายละเอียดตามความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 983/2562)
6.ปมเชือกกรณีกันเป็นพยานปมนี้ ก็แก้ออกได้อีกนะ ต้องรอดูกันต่อว่าจะมีฉากต่อไหม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี