‘เท่าพิภพ’ เดินลงไปใต้ถุนสภาฯ คุย ‘พี่น้องนักข่าวประจำรัฐสภา’ สะท้อนเสียง ‘ปากท้องเข้าขั้นแย่-ไร้ปากเสียงช่วย’ ยกเคส ‘5ปีทำงานเงินเดือนเพิ่มแค่ 500 ’ จี้คุ้มครองสื่อจากอำนาจมืด-เพิ่มรายได้-เปิดทางให้เสรีภาพนำเสนอ
7 ก.พ.2566 เมื่อเวลา 14.50 น. ที่รัฐสภา นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายสะท้อนเสียงจากใต้ถุนสภาฯ และคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ ว่า ตนเดินลงไปนั่งพูดคุยกับสื่อมวลชนประจำรัฐสภา เพื่อรับฟังความต้องการ และความคิดเห็นจริงๆจากพวกเขา ซึ่งจากการรับฟังเป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง พบว่าแม้สื่อจะทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้คนในสังคม แต่ไม่มีใครทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้สื่อ หลายครั้งสื่อที่ไปทำข่าวชุมนุมทางการเมือง ไม่กล้าห้อยป้ายสื่อ แม้ตัวเขาจะสนับสนุนการชุมนุม แต่บริษัทที่เขาสังกัดอยากได้อีกแบบก็ต้องทำตามที่ต้องการ
"สื่อมีหลายแบบ ทั้งสื่อซ้าย สื่อขวา สื่อเป็นกลาง สื่อเสี้ยม สื่อตบทรัพย์ แต่ตนมองว่าไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบใด ก็ไม่ควรไปควบคุมเขา ทุกคนควรได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี นอกจากนี้เสียงจากนักข่าวใต้ถุนสภาฯ ยังสะท้อนไปในเนื้องานที่มีความลำบากมาก เงินเดือนน้อย โอทีไม่มี โบนัสไม่มี สวัสดิการก็มีเพียงประกันสังคม เวลาทำงานไม่มีวันหยุด หรือเวลาทำงานไม่ชัดเจน ถึงขนาดที่มีนักข่าวบอกกับตนว่า 5 ปีที่ผ่านมาที่ทำงานมาเงินเดือนขึ้นมา 500 บาท"นายเท่าพิภพกล่าว
นายเท่าพิภพ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันสำนักข่าวหลายๆแห่งก็ไม่ให้ตั้งสหภาพ ออกกฎห้ามเรียกร้อง ห้ามประท้วง เสรีภาพในที่ทำงานยังไม่มีเลย เสรีภาพสื่อที่ไหนจะมีได้ ดังนั้นจริยธรรมจะมีไม่ได้ ถ้าปากท้องมันไม่ดีด้วย เมื่อปากท้องไม่ดี ก็ต้องไปได้นอกได้ใน ไปรับเงินจากพรรคการเมืองแล้วเสนอข่าวแบบไม่มีจริยธรรมก็ได้ วิธีแก้คือทำให้การเมือง และปากท้องสื่อดี ต้องคุ้มครองสื่อจากอำนาจมืดอำมหิต ให้เขามีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูล ขณะเดียวกันต้องมีค่าตอบแทนให้สมเหตุผล ทั้งโอที เงินเดือน เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้สิทธิ์เรียกร้องในการทำงานด้วย สิ่งเหล่านี้ถ้าแก้ได้ จะนำไปสู่การทำให้สังคมมีวิธีคิดที่ดีขึ้น และอาจไปสู่การแก้ปัญหาหลายๆอย่างได้.-001