"บิ๊กป้อม"ร่อนจดหมาย ร่ายยาวก่อนเข้าเส้นทางการเมือง รับยังมีเจตนาอนุรักษ์นิยม แต่ต้องเชื่อในประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศเดินหน้า
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก "พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์จดหมายเปิดใจฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นฉบับที่มีเนื้อหาต่อจากจดหมายเปิดใจ "ทำไมต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง" ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาที่เล่าถึงสภาพแวดล้อมในวัยเด็กของ พล.อ.ประวิตร และประวัติการรับราชการทหาร ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จนเติบโตจากกองทัพภาคที่ 1 ในสังกัดกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือคนส่วนใหญ่รู้จักในนาม "ทหารเสือราชินี"
พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ชีวิตถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยความเป็น "ทหารอาชีพ" จาก "ทหารชั้นผู้น้อย" ค่อยๆ เติบโตมาจนเป็น "ผู้บัญชาการกองทัพ" และด้วยการปลูกฝังจากสังคมแวดล้อม ระบบการศึกษา และหน้าที่การงาน ทำให้ตนมีความจงรักภักดีที่มีต่อ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" เป็นสภาวะที่ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณ
พล.อ.ประวิตร ระบุต่อว่า บ้านของตนเป็นแหล่งรวมการใช้ชีวิตของพี่น้องเพื่อนฝูงมาตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ จนกระทั่งทำงานรับใช้ราชการ เป็นที่พบปะ หารือ ช่วยเหลือเกื้อกูล มีอะไรก็แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ชีวิตที่ดำเนินไปเช่นนี้ทำให้รับรู้ว่า ผู้มีความรู้ความสามารถเหล่านี้ มีไม่น้อยเลยที่มีเจตนาดี และมีจิตใจที่พร้อมจะเสียสละมาทำงานเพื่อประเทศชาติ หากรัฐสภาและรัฐบาลได้คนมีความรู้ความสามารถเหล่านี้เข้ามาร่วมงาน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำพาประเทศพัฒนาสู่ความเจริญรุ่งเรือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับความเป็นไปของประเทศคือ โอกาสที่คนเหล่านี้จะได้เข้ามาร่วมทำงานให้กับประเทศนั้นมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีหนทางเลย ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ปิดกั้นพวกเขา การแข่งขันทางการเมืองที่มุ่งเอาชนะคะคานสูงยิ่ง ทำให้ทุกคนที่คิดจะเข้ามาเสี่ยงกับการเป็นเป้าถูกโจมตี ทำลายล้าง ความคิดที่จะเสียสละมาทำงานเพื่อชาติกลายเป็นเปิดทางให้ตัวเองถูกทำลาย และแม้จะมีบางคนที่กล้าพอจะเข้ามา ทว่าวัฒนธรรมการเลือกตั้ง ไม่เอื้อให้คนมีความสามารถเหล่านี้ได้รับชัยชนะ เนื่องจากไม่มีความสามารถในการหาคะแนนเท่ากับ "ผู้มีอาชีพนักการเมือง" ที่มีความเชี่ยวชาญในการหาวิธีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่า คนมีความรู้ ความสามารถ และมีเจตนาดีต่อการพัฒนาประเทศเหล่านี้ แทบไม่เหลือโอกาสที่จะเข้ามาทำงานให้ประเทศในระบบที่อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามที่ฝ่าย "ประชาธิปไตยเสรีนิยม" มุ่งมั่น กำหนด
พล.อ.ประวิตร ระบุต่อว่า ฝ่าย "อนุรักษ์นิยม" ที่มองไม่เห็นหนทางอื่นนอกจากการทำ "รัฐประหาร" ยึดอำนาจและเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ ความสามารถ ด้วยการแต่งตั้งคนเหล่านี้เข้ามา การเรียกร้องให้ "กองทัพ" เป็นผู้นำทำรัฐประหาร และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศจึงเกิดขึ้นเสมอ และต้องยอมรับว่าการรัฐประหารหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เป็นทางออกที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าส่งผลดีต่อประเทศ นี่เป็นประสบการณ์และมุมมองที่ทำให้ตนเข้าใจ เห็นใจ และพร้อมจะยืนอยู่ข้างความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ของคนกลุ่มที่มีอิทธิพลและส่วนได้ส่วนเสียสูงกับความเป็นไปของประเทศ ของผู้มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสแสดงบทบาท เพราะผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้ยากลำบาก จนเป็นที่น่าเสียดายเหล่านี้
พล.อ.ประวิตร ระบุทิ้งท้ายว่า ตลอดเกือบ 10 ปีของการทำงานในฐานะนักการเมือง จากร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนถึงมาร่วมสร้าง และเป็น "หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ" แม้ "จิตวิญญาณ" ตนยังมั่นคงกับ "สำนึกอนุรักษ์นิยม" แต่ความเข้าใจต่อความจำเป็นที่ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วย "ประชาธิปไตยเสรีนิยม" ได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งตนจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป ถึงความเข้าใจต่อความจำเป็นดังกล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี