รัฐบาลผสม 19 พรรค! ‘ปธ.ชวน’ ประเมินผลงานสภาฯชุดนี้ เป็นไปด้วยดีพอสมควร ผ่านกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเกือบทุกฉบับ รับเสียดายช่วงปลายสมัยกลับ ‘ง่อนแง่น’ เกิดปัญหาประชุมล่มบ่อย
7 มี.ค.2566 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในรายการมองรัฐสภาผ่านทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ถึงภาพรวมผลงาน 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ว่า สภาชุดนี้มีการประชุมครบทั้ง 8 สมัย โดยวันสุดท้ายของ วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และครบวาระ 4 ปี วันที่ 23 มี.ค.นี้ นับจากการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ถือว่า เป็นระยะเวลาหนึ่งที่ครบของกระบวนการนิติบัญญัติ แม้อาจจะมีการยุบสภาก่อนวันใดวันหนึ่ง ทั้งนี้ ภาพรวมตั้งแต่เริ่มสมัยสภาชุดนี้นับแต่มีระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปจากเดิม จึงทำให้มีลักษณะที่เกิดพรรคการเมืองใหม่มากรวมแล้ว 26 พรรค ซี่งระบบนี้แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดเงื่อนไข
อย่างไรก็ตาม แต่โครงสร้างของบ้านเมืองยังคงยึดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งระบบนี้ฝ่ายเสียงข้างมากคือผู้ตั้งรัฐบาลทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงประกอบด้วยพรรคการเมืองเกือบ 19 พรรค เป็นฝ่ายค้าน 7 พรรค ปกติแล้วรัฐบาลผสมจะไม่ค่อยมีการรวมถึง 20 พรรคเช่นนี้ ซึ่งมากสุดเป็นประวัติการณ์ แต่การเริ่มต้นของสภาชุดนี้ก็เป็นไปด้วยดี มีปัญหาเพียงช่วงปลายสมัย แม้ว่าปกติแล้วจะมี ส.ส.เดิมเข้ามาในสภามากกว่า ส.ส.ใหม่ แต่สภาชุดนี้มี ส.ส.ใหม่มากกว่าครึ่งที่ยังไม่เคยเป็น ส.ส.มาก่อน หรือใหม่ทั้งพรรค แต่เมื่อมองภาพความเป็นจริงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 เราไม่มีสภามา 5 ปี ดังนั้นการเริ่มของสภาชุดนี้ จึงเริ่มต้นจากการไม่มีสภามา 5 ปี จึงต้องมาเรียนรู้กันใหม่ มีทั้งบวกและลบในหลายเรื่อง
นายชวน กล่าวว่า ในส่วนของการพิจารณากฎหมายของสภาชุดนี้ ในโครงสร้างระบบประชาธิปไตยมีรัฐบาลต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหาร ดังนั้น ระบบนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีเสียงข้างมาก ซึ่งต่างจากระบบประธานาธิบดี ดังนั้น การที่รัฐบาลต้องคุมเสียงข้างมากจึงเป็นเรื่องที่เป็นหัวใจของการทำหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ หากรัฐบาลต้องการใช้กฎหมายในการบริหาร รัฐบาลต้องนำเสียงข้างมากมาให้ได้ โดยตั้งแต่เรื่มสภาชุดนี้ รัฐบาลก็สามารถทำได้ดี กฎหมายที่รัฐบาลเสนอมาก็สามารถผ่านได้เรียบร้อย หรือเรียกได้ว่าผ่านสภาเกือบทุกฉบับ จะมีเพียงกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกบ้างที่ไม่ได้รับการพิจารณาหรือไม่ผ่านสภาเพราะเป็นกฎหมายที่เสนอร่วมกับรัฐบาล ยกเว้นช่วงหลังในปีสุดท้ายไม่สามารถผ่านการพิจารณาด้วยเงื่อนไของค์ประชุม
นายชวน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงข้างมากได้ก็ยังมีเสียงของฝ่ายค้านเป็นองค์ประชุม แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการกดบัตรเป็นองค์ประชุมเพิ่มมากขึ้น ภายหลังเมื่อฝ่ายค้านไม่กดบัตร ทำให้เป็นปัญหาองค์ประชุมและจะเห็นว่าในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีปัญหาความร่วมมือในองค์ประชุมเช่นกัน หรือแม้แต่การไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายก็ไม่มาเพื่อให้ครบองค์ประชุม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะสมาชิกต้องกล้าแสดงความเห็นว่าเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับใดด้วยการลงมติไม่รับ เพราะการไม่มาร่วมการพิจารณาทำให้กฎหมายค้างการพิจารณาและเกิดปัญหาเวียนซ้ำที่เดิม ทำให้การพิจารณากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติสะดุดด้วยเรื่องนี้ และไม่น่าเชื่อว่าลามไปถึงวุฒิสภา โดยเฉพาะการประชุมร่วมรัฐสภา เพราะโดยปกติวุฒิสภาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้องค์ประชุมครบ แต่ช่วงหลัง 2-3 ครั้งที่วุฒิสภาก็ทำแบบผู้แทน อาทิ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสมาชิก และเป็นกฎหมายเพียงกฎหมายเดียวในการประชุมร่วมรัฐสภาที่ไม่ได้พิจารณาตลอดเวลา 4 ปี และมองว่าถ้าอนาคตเกิดปัญหาเช่นเดียวกันก็จะเกิดปัญหาในการบริหารกิจการของสภาและรัฐบาลได้
"ยอมรับว่าช่วงหลังๆ กฎหมายที่เป็นประโยชน์เสียโอกาสมาก อาทิ กฎหมายขนส่งทางราง กฎหมายเช็คซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลสำหรับการบริหารประเทศโดยรัฐบาลเพิ่งส่งมาภายหลังซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีปัญหาองค์ประชุม ทำให้กฎหมายเหล่านั้นไม่ได้รับการพิจารณาแต่หากไม่มีปัญหาองค์ประชุม เชื่อได้ว่ากฎหมายจะได้รับการพิจารณาทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย" นายชวน กล่าว -001