กกต.ไม่เร่งวินิจฉัยคุณสมบัติ‘พิธา’ถือหุ้นสื่อ ส่อไม่ทันก่อนเลือกตั้ง อ้างเหลือเวลาน้อย ต้องให้ความเป็นธรรม เผยมีผู้สมัครบัญชีรายชื่อหลายคนถูกฟ้องล้มละลาย เร่งหาข้อเท็จจรองเพิ่มก่อนชงศาลพิจารณา
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี (ITV) ว่า ตนยังไม่เห็นคำร้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติ มีขั้นตอนตามกฎหมาย มีอยู่ 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง โดยก่อนการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 61 ถ้า กกต.ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติให้ยื่นต่อศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 วัน แต่หากดำเนินการไม่ทัน ภายหลังวันเลือกตั้งถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง กกต.ก็จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติในการสมัครแต่ก็ยังลงสมัคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้น ก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส.ไปก่อน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการภายหลังการประกาศผล ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ได้กำหนดช่องทางในการดำเนินการไว้โดยให้ ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
เมื่อถามว่า ทำไม กกต.ไม่ยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อการเลือกตั้ง เพราะถ้ายื่นหลังการเลือกตั้งจะมีผลกระทบมากกว่านั้น นายแสวง กล่าวว่า ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน ดังนั้น สำนักงานก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหาก่อนจะนำเสนอให้ กกต.พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา อย่างเช่นวันนี้ หน่วยงานที่ กกต.ได้ขอความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ล่าสุดเพิ่งจะส่งข้อมูลมาให้ และพบว่ามีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่ง ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ กกต.เห็นว่าจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรม และได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน จึงให้สำนักงานไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าคำสั่งล้มละลายยังมีผลอยู่หรือไม่ และผู้ถูกกล่าวหาได้มีการดำเนินการในเรื่องของการต่อสู้อย่างไรหรือไม่ จากนั้น กกต.จึงค่อยมาพิจารณาเรื่องการส่งเรื่องยื่นต่อศาล ดังนั้น จึงต้องแยกเรื่องกระบวนการให้ความเป็นธรรม กับผลกระทบออกจากกันด้วย
- 006