"ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน"เห็นพ้องตรงกัน "แก้กม.ประชามติ"ให้ผ่านง่ายๆ ไม่ต้องยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น ชี้ปฏิบัติยาก แนะ"กกต."เข้มออกแบบป้องทุจริต ชงทำประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ช่วยประหยัดเงิน
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยวิสามัญ) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย , พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งภาพรวมของเนื้อหาร่างฯ ทั้ง 4 ฉบับคล้ายคลึงกัน คือ ขอแก้ไขผลการออกเสียงประชามติที่ถือเป็นข้อยุติ จากเดิมที่มีเงื่อนไขกำหนดล็อคไว้ 2 ชั้น คือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 2.ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ให้มีขั้นตอนผ่านการทำประชามติได้ง่ายขึ้น แต่ละฉบับเสนอแก้ไขให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์คะแนนเสียงที่ผ่านประชามติแตกต่างกันไป อาทิ ร่างของรัฐบาล ขอให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และสูงกว่าคะแนนโนโหวต
ส่วนร่างพรรคเพื่อไทย ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนโนโหวต แต่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง ขณะที่ร่างพรรคก้าวไกล ให้ยึดเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ด้านร่างของพรรคภูมิใจไทย เสนอให้แบ่งการทำประชามติเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประชามติเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม.ไม่ต้องอาศัยเสียงข้างมาก 2 ชั้น ให้ยึดเอาเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็เพียงพอ 2.ประชามติเพื่อหาข้อยุติ ให้ยึดจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนสูงกว่าคะแนนโหวตโน
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ ส.ส.แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขขั้นตอนการทำประชามติให้มีหลักเกณฑ์ที่ผ่านการทำประชามติง่ายขึ้น ไม่ต้องยึดเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น โดยมองว่า หลักเกณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติในการผ่านประชามติ เนื่องจากการออกเสียงประชามติเป็นเพียงการสอบถามความเห็นประชาชนในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง บางประเด็นอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป จึงไม่ออกมาใช้สิทธิ จึงไม่ควรนำจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมามีผลต่อการออกเสียง รวมถึงเสนอให้เพิ่มรูปแบบการทำประชามติในแบบอื่นๆ เช่น ไปรษณีย์ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์เพิ่มเติม นอกเหนือจากช่องทางการใช้บัตรลงคะแนน โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแบบระบบ เพื่อป้องกันการทุจริต ขณะที่ ส.ส.บางส่วนเสนอให้สามารถทำประชามติได้ในวันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.หรือวันเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อประหยัดงบประมาณ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี