‘มท.1’ กำชับ ‘ผู้ว่าฯ-ฝ่ายปกครอง’ ทั่วประเทศ เดินหน้าแก้ปัญหาไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ตั้งเป้าลดขั้นตอนทำงาน มอบสถานะบุคคล ลดปัญหาค้ามนุษย์ อาชญากรรมทุกรูปแบบ
1พ.ค.2568 เมื่อเวลา14.00น. ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานมอบนโยบายและสัมมนาตามโครงการเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายอนุทิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งสร้างโอกาสแห่งการพัฒนาชีวิต ให้แก่บุคคลกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิที่พึงจะได้รับตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไว้กับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ระบุสิทธิอันสำคัญคือสิทธิที่จะมีสัญชาติ
'หลักใหญ่ใจความที่เราจะต้องไม่ลืมคือ เมื่อบุคคลใดอยู่ในโลกนี้โดยปราศจากการมีสถานะ ก็เท่ากับเขาถูกลิดรอนสิทธิ ในการจะมีชีวิตในฐานะมนุษย์ ที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการเดินทาง การได้รับการดูแลคุ้มครองจากรัฐ หรือแม้แต่สิทธิในการทำงาน' นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล นำไปสู่การขาดโอกาส การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม และทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ตกอยู่ในสภาวะเปราะบางและมีความเสี่ยงในการดำรงชีวิต อันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆรวมถึงการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมต่างๆ ดังนั้น การเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ทางมนุษยธรรม ความมั่นคง และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการจัดการกับภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของประเทศไทยตามความภาคีระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ UNHCR ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย บนเวทีในระดับนานาชาติด้วย
'ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอทุกท่าน ได้เป็นผู้นำในการศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการทำงานในขั้นตอนใหม่ ตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด ที่ให้ลดระยะเวลากระบวนการทำงาน จาก 270 วันเหลือเพียง 5 วัน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ต้องได้รับความร่วมมือและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน ซึ่งมั่นใจว่าไม่เกินความสามารถของทุกท่าน ร่วมกันแก้ไขให้กลุ่มเป้าหมายได้รับชีวิตใหม่ ได้เข้าถึงโอกาส และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยมีสิทธิที่พึงมี ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง' นายอนุทิน กล่าว
ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 รวมทั้งสิ้นกว่า4 แสนคน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ประมาณกว่า 3 แสนคน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ประมาณกว่า 1 แสนคน ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ ล้วนมีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องให้ผู้ปฏิบัติงาน ในส่วนภูมิภาค มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน การปฏิบัติภารกิจ เร่งรัดแก้ไขปัญหา สถานะบุคคล
การประชุมมอบนโยบายและสัมมนาฯ ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม อาทิ พล.ต.ต.ชัชชัย วงค์สุนะ รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ นางแทมมี่ ลินน์ ชาร์ป (Tammi Lynn Sharpe) ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ตลอดจนคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารกรมการปกครอง คณะที่ปรึกษาและคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ปลัดจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และนายอำเภอ 878 อำเภอ
.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี