‘วิโรจน์’สรุปไทม์ไลน์แจ้ง ม.112‘พอล แชมเบอร์ส’ ชี้เบาะแสป.ป.ช.หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง
2 พฤษภาคม 2568 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก “Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ระบุว่า...
สรุป Timeline การแจ้ง ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส กมธ.ทหาร พร้อมชี้เบาะแสให้ ป.ป.ช. หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง
Note: ยาวแต่ครบ
25 ต.ค. 67: พล.ต.ชายแดน กฤษณสุวรรณ รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 3 ทำหนังสือที่ กห0483/326 ถึงอธิการบดี ม.นเรศวร เพื่อขอตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายพอล แชมเบอร์ส และสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร มากถึง 11 ข้อ โดยจากหนังสือฉบับดังกล่าว กอ.รมน.ภาค 3 เข้าใจไปเองว่า การสัมมนาออนไลน์ หรือ Webinar ในหัวข้อ Thailand’s 2024 Military and Police Reshuffles: What do They Mean? นั้นเป็นบทความทางวิชาการของนายพอล แชมเบอร์ส ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ซึ่งข้อเท็จจริง ถ้อยคำที่ปรากฏในเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเพียงสูจิบัตรประชาสัมพันธ์หัวข้อการสัมมนาออนไลน์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 ต.ค. 2024 เวลา 10.00-11.30 น. (เวลาประเทศสิงคโปร์) ที่นายพอล แชมเบอร์ส ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากร ซึ่งในวันที่เผยแพร่สูจิบัตรดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ ก็ยังไม่ถึงวันจัดสัมมนา และนายพอล แชมเบอร์ส ก็ยังไม่ได้บรรยายอะไร
28 ต.ค. 67: ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร ทำบันทึกข้อความที่ อว 0603.21.01(03)/1876 จัดส่งข้อมูลของนายพอล แชมเบอร์ส ให้กับอธิการบดี ม.นเรศวร
1 พ.ย. 67: ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร ทำบันทึกข้อความที่ อว 0603.21.01(03)/1877 ถึงอธิการบดี ม.นเรศวร เพื่อให้ช่วยประสานนัดหมายกับ กอ.รมน.ภาค 3 เพื่อที่จะได้พูดคุยกัน เพื่อสร้างความกระจ่าง และคลายความกังวลของ กอ.รมน.ภาค 3
27 ก.พ. 68: พล.ท กิตติ แจ่มสุวรรณ ในฐานะแม่ทัพภาค 3 (ผอ.รมน.ภาค 3) มอบอำนาจให้ พ.อ.มงคล วีระศิริ หัวหน้าแผนกกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองบริหารงานบุคคล กอ.รมน.ภาค 3 เข้าแจ้งความ ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ กับนายพอล แชมเบอร์ส ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก โดยมี ร.ต.อ.พรชัย ปลั่งกลาง พนักงานสอบสวน เป็นเจ้าของสำนวน
31 มี.ค. 68: ศาลจังหวัดพิษณุโลกอนุมัติหมายจับนายพอล แชมเบอร์ส ตามคำขอของ สภ.เมืองพิษณุโลก เป็นหมายจับที่ จ245/68 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2568
4 เม.ย. 68: พ.ต.อ.วัชรพงษ์ สิทธิรุ่งโรจน์ ผกก.สภ.เมืองพิษณุโลก ไปที่ ม.นเรศวร เพื่อแจ้งว่ามีหมายจับนายพอล แชมเบอร์ส โดยมีหนังสือที่ ตช 0021(พล).4/2053 เรื่อง แจ้งการดำเนินคดีผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลากรในมหาวิทยาลัย เรียนอธิการบดี ม.นเรศวร แจ้งว่ากองทัพภาคที่ 3 ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายพอล แชมเบอร์ส ในความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ โดยให้ประสานแจ้งผู้ต้องหาทราบเพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวนต่อไป
8 เม.ย. 68: นายพอล แชมเบอร์ส เดินทางไปที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในเว็ปไซต์ ISEAS – Yusof Ishak Institute ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ของประเทศสิงคโปร์ โดยนายพอล แชมเบอร์ให้การปฏิเสธ ว่าไม่ใช่ผู้เขียน และโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเว็บไซต์ และไม่ใช่แอตมินที่จะสามารถเข้าไปโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ดังกล่าวได้ ต่อมานายพอล แชมเบอร์ส ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก นายพอล แชมเบอร์ส ได้ยื่นขอประกันตัว 2 ครั้ง แต่ศาลปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติกลัวว่าจะมีการหลบหนี ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว พร้อมนำตัวนายพอล แชมเบอร์ส เข้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก
ในวันเดียวกัน แทมมี่ บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โพสต์แถลงการณ์บนเพจเฟสบุ๊ก โดยรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด โดยยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือพลเมืองอเมริกันในต่างประเทศอย่างจริงจัง และกำลังดำเนินการติดต่อกับทางการไทยเกี่ยวกับกรณีนี้
9 เม.ย. 68: ทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัว โดยให้วางเงินประกัน 3 แสนบาท ยึดพาสปอร์ตของนายพอล แชมเบอร์ กำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร ให้รายงานตัวต่อผู้กำกับดูแล และให้ใส่กำไล EM
ในเวลา 16.00 น. ร.ต.อ.ชยพล ธรรพรังษี รอง สว.ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก แจ้งคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามคำสั่ง สตม.ที่ 284/2552 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2552 ระบุพฤติการณ์ตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมืองฯ มาตรา 12 วงเล็บ 8 โดยให้อุทธรณ์ภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นทนายความต้องยื่นประกันตัวต่อที่ ตม.พิษณุโลก เนื่องจากมีการเพิกถอน VISA ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ขอเข้าตรวจค้นห้องทำงาน และขอยึดคอมพิวเตอร์ของนายพอล แชมเบอร์ส ที่ ม.นเรศวร โดยแสดงหมายค้นของศาลจังหวัดพิษณุโลก และมี ผศ.ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้นำค้น
10 เม.ย. 68: ตม.พิษณุโลก ให้ประกันตัวนายพอล แชมเบอร์ส โดยมีเงื่อนไขต้องรายงานตัวทุก 30 วัน พร้อมวางเงินประกัน 3 แสนบาท
11 เม.ย. 68: ตำรวจขอเข้าตรวจค้นห้องทำงานของนายพอล แชมเบอร์ส ที่ ม.นเรศวร อีกครั้ง โดยประสานผ่าน ผศ.ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร โดยที่ไม่มีหมายค้น โดย ผศ.ดร.ภาณุ แจ้งว่าจะเป็นผู้นำค้นด้วยตนเอง แต่เมื่อปรึกษากับนิติกรมหาวิทยาลัยแล้วสุดท้าย ตร.กลับไปโดยไม่มีการค้นห้องทำงานอีกครั้ง นายพอล แชมเบอร์ส ต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอน VISA ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง
18 เม.ย. 68: พ.ต.ท.รัฐกิตติ์ ศรีนิธิธีรโชติ สว.ตม.พิษณุโลก มีหนังสือแจ้งแก้ไขคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร โดยเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมืองฯ มาตรา 12(เปลี่ยนเป็น มาตรา 12(7) และเปลี่ยนคำสั่งตรวจคนเข้าเมืองเป็นคำสั่งที่ 92/2566 ลงวันที่ 3 เม.ย. 2566 แทน
24 เม.ย. 68: พ.อ.วีรพงษ์ ไชยวงศ์ ผู้อำนวยการกองข่าว กอ.รมน.ภาค 3 ชี้แจงต่อ กมธ.ทหาร ว่าจุดเริ่มต้นของการแจ้ง ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส มาจากโพสต์เฟซบุ๊กของบัญชีผู้ใช้งานที่ชื่อว่า “เอ็ดดี้ อัษฎางค์” ที่โพสต์เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 ซึ่งบัญชีผู้ใช้งานที่ใช้ชื่อว่า “เอ็ดดี้ อัษฎางค์” เป็นผู้แปลถ้อยคำที่ปรากฎบนสูจิบัตรที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ISEAS-Yusof Ishak Institute โดยที่ กอ.รมน.ภาค 3 ไม่ได้ให้คำตอบแก่ กมธ.ทหารว่า การแปลของบัญชีผู้ใช้งานที่ชื่อว่า “เอ็ดดี้ อัษฎางค์” นั้นได้รับรองการแปลจากผู้แปลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หรือไม่ และไม่ได้ให้คำตอบด้วยว่า เหตุจึงไม่แจ้งความ ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ กับบัญชีผู้ใช้งานที่ชื่อว่า “เอ็ดดี้ อัษฎางค์” ทั้งๆ ที่เป็นผู้แปล และเป็นผู้เผยแพร่ถ้อยคำที่แปลบนเฟซบุ๊กของตนเอง โดย พ.อ.วีรพงษ์ ไชยวงศ์ ได้ปิดไมค์ และออกจากการประชุม ZOOM ก่อนที่วาระการประชุมจะสิ้นสุดลง
กมธ.ทหาร ตั้งข้อสังเกตว่า กอ.รมน.ภาค 3 เป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ จะต้องยึดหลักกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ถ้ากฎหมายไม่ให้ทำ ก็ทำไม่ได้ รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำอะไรได้ต้องมี “กฎหมายให้อำนาจ” เท่านั้น
อีกกรณีหนึ่งที่ กอ.รมน. สามารถไปแจ้งความได้ ก็คือ กอ.รมน. ต้องเป็นผู้เสียหายทางนิตินัย เช่น ทรัพย์สินภายในสำนักงานสูญหาย เป็นต้น
การกระทำความผิดตาม ม.112 นั้นเป็นอาญาแผ่นดิน บุคคลที่พบเห็นการกระทำความผิดนั้นสามารถไปแจ้งความดำเนินคดีได้ ในกรณีนี้ถ้า พ.อ.มงคล วีระศิริ ไปแจ้งความในนามปัจเจกบุคคล ก็จะไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แต่เนื่องจาก พ.อ.มงคล วีระศิริ รับมอบอำนาจจาก พล.ท.กิตติ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาค 3 (ผอ.รมน.ภาค 3) ไปแจ้งความในนามของ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ จึงจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า กอ.รมน. ใช้อำนาจตามมาตราใด ใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งในตอนแรก พ.อ.วีรพงษ์ ชี้แจงว่าใช้อำนาจตาม ม.7(1) แต่ กมธ.ทหาร ได้ทักท้วงและถามต่อว่า การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคง จะต้องรายงานให้ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป แล้วในกรณีนี้ ทาง กอ.รมน. ได้ทำรายงานถึง ครม. หรือไม่ และ ครม. มีมติให้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส หรือไม่ ซึ่งปรากฏคำตอบว่า กอ.รมน.ภาค 3 ยังไม่ได้ทำรายงานให้ ครม. รับทราบ และยังไม่มีมติ ครม. ให้ไปแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส
พ.อ.วีรพงษ์ ชี้แจงต่อว่า ใช้อำนาจตาม ม.8 และ ม.5 วรรคเจ็ด ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ซึ่ง ม.8 กล่าวถึงการมอบอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ให้กับ ผอ.รมน.ภาค หรือ ผอ.รมน.จังหวัด และ ม.5 วรรคเจ็ด ให้ผอ.รมน. มีอำนาจทำนิติกรรม และฟ้องคดี โดยกระทำในนามของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง กมธ.ทหาร ได้ทักท้วงว่า การที่จะมอบอำนาจให้ไปฟ้องคดีตาม ม.5 วรรคเจ็ด กอ.รมน. ก็ต้องทำตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุใน ม.7(1) เสียก่อน และในกรณีนี้ พ.อ.มงคล วีระศิริ ก็ไปแจ้งความดำเนินคดีในนาม กอ.รมน.ภาค 3 ไม่ได้ดำเนินการในนามของสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
นอกจากนี้ พ.อ.วีรพงษ์ ยังอ้างว่า กอ.รมน.ภาค 3 ใช้อำนาจตาม ม.8 ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม แต่เมื่อถูก กมธ.ทหาร ทักท้วงว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วสามารถใช้อำนาจก้าวล่วง ผบ.เหล่าทัพ และ รมว.กลาโหม ได้อย่างไร พ.อ.วีรพงษ์ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า “เป็นทหาร” และไม่สามารถชี้แจงอะไรได้มากกว่านี้
ต่อมา พ.อ.วีรพงษ์ ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มีระเบียบภายในของ กอ.รมน. ซึ่งพอ กมธ.ทหาร ขอให้ส่งให้ เนื่องจากสงสัยว่าระเบียบดังกล่าวจะขัดกับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ แม้ว่าจะ พ.อ.วีรพงษ์ จะแจ้งว่า “กำลังจะส่งให้” แต่ปัจจุบัน กมธ.ทหาร ก็ยังไม่ได้รับการส่งมอบจาก พ.อ.วีรพงษ์ แต่อย่างใด จนในที่สุด พ.อ.วีรพงษ์ ก็ปิดไมค์ และออกจากการประชุมระบบ ZOOM ก่อนที่จบวาระการประชุม
26 เม.ย. 68: คุณทักษิณ ชินวัตร ยอมรับว่าการแจ้งความ ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส มีผลต่อการเจรจาในเรื่องภาษีศุลกากรตอบโต้กับสหรัฐอเมริกา
28 เม.ย. 68: พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพพบก ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ปกติแล้วกลไกตาม ม.7(1) ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ไว้สำหรับการเสนอจัดทำแผนงาน เพื่อใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหามีความยุ่งยากและซับซ้อน และอาจต้องอาศัยหลายหน่วยงานมาร่วมแก้ จึงมีขั้นตอนต่างๆ ไปให้ฝ่ายบริหารอนุมัติ เพื่อนำไปประกอบกับกลไกของกฎหมายตาม ม.15 เพื่อใช้แก้ไขปัญหาความมั่นคงนั้น อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ได้ตอบคำถามว่า กอ.รมน.ภาค 3 ใช้อำนาจตามมาตราใดของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ไปความ ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส
และยังได้ชี้แจงต่อว่า ความผิดตาม ม.112 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน บุคคลที่พบเห็นข้อความที่มีลักษณะเข้าข่ายทำลักษณะดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็สามารถแจ้งความได้ แต่ พล.ต.วินธัย ก็ยังไม่ได้ชี้แจงว่า กอ.รมน.ภาค 3 เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้มีสถานะเป็นบุคคล การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใด ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายมหาชน ซึ่งต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึง พล.ต.วินธัย ก็ยังไม่ได้ตอบว่า กอ.รมน.ภาค 3 ใช้อำนาจตาม มาตราใด ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ไปแจ้งความ ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส และไม่ได้ชี้แจงว่า เหตุใด กอ.รมน.ภาค 3 จึงไม่ไปแจ้งความ ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ กับบัญชีผู้ใช้งานที่ชื่อว่า “เอ็ดดี้ อัษฎางค์” ทั้งๆ ที่บัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวเป็นผู้แปล และเผยแพร่ข้อความที่แปลนั้นในช่องทางของตน
นอกจากนี้ พล.ต.วินธัย ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเด็นในเรื่องสูจิบัตรประชาสัมพันธ์ที่หน้าเว็บไซต์ของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ที่นำเอาไปถกเถียงในวันนั้น อาจไม่ใช่ประเด็นหลักที่ใช้ประกอบการฟ้องร้องครั้งนี้ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ชี้แจงว่า กอ.รมน.ภาค 3 มีหลักฐานสำคัญอะไรอีกบ้าง ซึ่งเบื้องต้นตามหลักฐานเอกสาร บันทึกการจับกุม และคำร้องขอหมายขัง ที่ทนายความของนายพอล แชมเบอร์ส นำมาแสดงให้แก่ กมธ.ทหาร นั้นปรากฏหลักฐานเพียงเท่านี้จริงๆ และ กอ.รมน.ภาค 3 ก็ไม่ได้กล่าวถึงหลักฐานอื่นระหว่างการประชุม
อีกข้อสงสัยหนึ่ง ก็คือ ตกลงแล้ว พล.ต.วินธัย ในฐานะโฆษกกองทัพบก ซึ่งมีต้นสังกัดคือ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ โฆษก กอ.รมน. ตั้งแต่เมื่อใด แม้ว่าจะเคยเป็นอดีตโฆษก กอ.รมน. และปัจจุบันจะมีหนังสือให้ไปช่วยราชการในตำแหน่ง รอง ผอ.สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน. ก็ตาม แต่สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน. นั้นมีอำนาจหน้าที่ในงานด้านมวลชน และประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการสร้างการมีส่วนร่วมความรักสามัคคี ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงของชาติ ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่า ให้สามารถแถลง หรือชี้แจงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการด้านคดีความของ กอ.รมน. ได้ ซึ่งจำเป็นต้องสอบถามไปยัง ผอ.สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน. ว่าสำนักมีหน้าที่ในส่วนนี้หรือไม่ และในหนังสือให้ไปช่วยราชการมีการระบุให้ พล.ต.วินธัย ปฏิบัติหน้านี้นี้หรือไม่ หรือได้รับอำนาจจาก ผอ.สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ ให้ปฏิบัติหน้าที่นี้ หรือไม่ อย่างไร
29 เม.ย. 68: พล.ต.ธรรมนูญ ไม้สนธิ์ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงการแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส ต่อสื่อมวลชน โดยมีใจความเดียวกันกับ พล.ต.วินธัย สุวารี โดยไม่มีสาระเพิ่มเติมใดๆ ที่สามารถตอบข้อสงสัยจากสังคมให้กระจ่างกว่าเดิมได้ และยังตอบอีกด้วยว่า การแจ้ง ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส ไม่เกี่ยวกับการเจรจาภาษีกับประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน หรือ American Political Science Association (APSA) ซึ่งเป็นตัวแทนของศาสตราจารย์ นักปฏิบัติ และ นักศึกษาที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ มากกว่า 10,000 คน ได้ได้ออกแถลงการณ์ ให้ปล่อยตัวนายพอล แชมเบอร์ส โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เขียนถึง มาร์โค รูบิโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ส.ส. และวุฒิสมาชิก โอคลาโฮมา หลายคน รวมถึง โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุดของไทย
ซึ่งในวันนั้น นายพอล แชมเบอร์ส ยื่นคำร้องต่อศาลพิษณุโลก ขอถอดกำไล EM โดยศาลพิษณุโลกไม่อนุญาตให้นายพอล แชมเบอร์ส ถอดกำไล EM ชี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง
30 เม.ย. 68: ทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้นายพอล แชมเบอร์ส ถอดกำไล EM แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันตัวอื่นๆ
1 พ.ค. 68: อธิบดีอัยการภาค 6 สั่งไม่ฟ้องนายพอล แซมเบอร์ส ในข้อหาผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และจะดำเนินการคําสั่งไม่ฟ้อง พร้อมความเห็นไปยังผู้บัญชาการตํารวจภูธร ภาค 6 เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ ตาม ป.วิอาญา ม.145/1
กมธ.ทหาร กำลังรวบรวมข้อสังเกตที่สำคัญต่างๆ ในกรณีการแจ้ง ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส อย่างละเอียด และหากในที่สุดแล้ว มีการสั่งไม่ฟ้อง ก็จะส่งข้อสังเกตเพื่อชี้เบาะแสให้กับ ป.ป.ช. โดยอาศัยมาตรา 33(1) มาตรา 132 และมาตรา 142(5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เพื่อให้ทาง ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาไต่สวน ชี้มูล และดำเนินคดี ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ///-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี