โดดป้องพอล แชมเบอร์สกันยกใหญ่! ‘กมธ.การทหาร’ จ้องเขม็งถอดรหัส ‘หนังสือขอฝากขังคดีม.112’ กังขาละเว้นบางข้อความ เจตนาลวงศาลฯหรือไม่ สำคัญ ชี้ ‘กอ.รมน.’ หลักฐานไม่เพียงพอ ดำเนินคดีขาดรัดกุม ขู่เตือนผิดกม.ป.ป.ช. เล็งส่งหนังถึง ‘อธิการบดีม.นเรศวร’ สอบถามปมถูกเลิกจ้าง
วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาต่อเนื่องกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 3 กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ให้ดำเนินคดี กับนายพอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร สัญชาติอเมริกัน ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112
โดยกมธ.ฯได้เชิญ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก (ทบ.), พล.ต.ธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษก กอ.รมน. พ.ต.อ.วัชรพงษ์ สิทธิรุ่งโรจน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก และ ร.ต.อ.พรชัย ปลั่งกลาง พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเข้าชี้แจง แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไม่ได้มาเข้าร่วมชี้แจงกมธ.ฯ โดยทางกองทัพบก(ทบ.) ชี้แจงว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ขณะที่ทางโฆษก กอ.รมน. แจ้งว่า ติดภารกิจ และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่าลาพักผ่อน
จากนั้น กมธ.ฯ ได้พิจารณาในประเด็นของหลักฐานที่ใช้ในการดำเนินคดีและฝากขังว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งในการประชุมกรรมาธิการครั้งก่อนหน้า ตัวแทน กอ.รมน. ชี้แจงว่า ดำเนินคดีตามมาตรา 7 (1) ของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งระบุไว้ว่า อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. คือการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัย คุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและรายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป
ด้านผศ.ดร.กริช ภูญียามา คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในกรณีนี้ เป็นการดำเนินการโดย กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานอยู่ในฐานะนิติบุคคล ที่มีกฎหมายกำกับไว้ ซึ่งเมื่อกฎหมายกำกับว่าต้องดำเนินการผ่าน ครม. ก็ต้องทำตามนั้น แต่กรณีนี้จะไม่มีปัญหาเลย หากไปแจ้งความกล่าวโทษในฐานะส่วนตัว แต่น้ำหนักของการกล่าวโทษย่อมไม่เท่ากันอยู่แล้วโดยสภาพ พร้อมย้ำหลักการของหน่วยงานของรัฐว่า กฎหมายมีไว้แค่ไหน ต้องใช้อำนาจตามขอบเขตนั้น สิ่งแตกต่างจากเอกชนที่ทำได้ทั้งหมดยกเว้นเรื่องที่กฎหมายห้าม
จากนั้นกมธ.ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานที่ใช้ดำเนินคดีมีเพียงพอหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นหลักฐานอื่นนอกจากเอกสารสูจิบัตรของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ทางตัวแทนของ กอ.รมน. ก็ไม่ได้กล่าวถึงหลักฐานอื่นใด
ต่อมากมธ.ฯ ได้พิจารณาข้อความในหนังสือคำร้องขอฝากขังนายพอล ที่มีการบรรยายพฤติการณ์แห่งคดี โดยระบุว่าผู้ต้องหาคือ นายพอล ได้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ของ ISEAS สถาบัน Yusof Ishak และในช่วงหนึ่ง ได้มีการแปลข้อความดังกล่าวเป็นภาษาไทยระบุว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการแบ่งฝ่าย อย่างมาก ซึ่งผู้ได้รับการแต่งตั้งระดับอาวุโสคนใหม่นั้น มาจากการแข่งขันที่มีการแบ่งฝ่ายและพวกพ้อง ในประเด็นข้อ ถกเถียงดังกล่าว… จะเปิดเผยให้ทราบว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่นั้นเป็นใคร บุคคลเหล่านี้เป็นตัวแทนของฝ่ายใด”
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ข้อความ … ที่ได้ถูกละไว้ เมื่อนำมาเทียบกับข้อความดั้งเดิมที่คัดลอกมาจากเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งได้นำมาเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งความ จะเห็นว่าข้อความภาษาอังกฤษระบุไว้ว่า “In this discussion, Dr Paul Chambers will explore who the new appointees are, the factions they represent,” จึงจะเห็นได้ว่าข้อความ… ที่หายไปนั้น คือคำว่า Dr.Paul Chambers
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนนี้ถ้านายพอล เป็นผู้โพสต์ข้อความนี้จริง ควรต้องใช้คำว่า I will explore แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นเขียนโดยไม่ใช่ ดร.พอล เขียน ก็จะใช้คำว่า Dr.Paul Chambers will explore แทน จึงขอตั้งเป็นประเด็นไว้ให้กรรมาธิการพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรม กรรมาธิการได้บันทึกไว้ว่าข้อความในเว็บไซต์ขณะนี้ได้มีการปรับแก้เนื้อหาไปแล้วบางส่วน อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่กล่าวว่า Dr.Paul Chambers will explore ก็ยังคงไว้เช่นเดิมซึ่งนายวิโรจน์ให้ความเห็นว่า หากในหนังสือคำร้องขอฝากขังใช้คำว่า Dr.Paul Chambers แทนข้อความ … ที่หายไปซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ศาลอาจนำมาร่วมพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดด้วยว่า นายพอล อาจไม่ใช่ผู้เขียนงานชิ้นนี้ จึงขอตั้งคำถามถึงผู้ดำเนินการฝากขังว่า จงใจตัดข้อความดังกล่าวเพื่อหลอกลวงศาลว่า ดร.พอล เป็นผู้เขียนใช่หรือไม่
ขณะที่นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน ในฐานะกมธ.ฯ กล่าวสนับสนุนข้อสังเกตของนายวิโรจน์ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้มาตรา 112 มีความข้องเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางการเมืองพอสมควร และต้องเน้นย้ำว่า ในหนังสือคำร้องขอฝากขัง ในส่วนอื่นที่กล่าวถึง ดร.พอล แชมเบอร์ส ก็ใช้คำว่าผู้ต้องหา แต่เหตุใดจึงเว้นข้อความ … ไว้เพียงส่วนเดียว ซึ่งทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และนิติกรก็เห็นตรงกันว่าเป็นข้อความส่วนที่มีความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงมีเพียงเท่านี้หรือไม่ แต่ถ้าหากมีเพียงเท่านี้จริง การดำเนินการดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้
ส่วนนายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวว่า งานวิชาการของ ดร.พอล ซึ่งเป็นคนระมัดระวังเรื่องการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก และจากประสบการณ์มั่นใจว่า ในงานสัมมนา คงไม่มีผู้เสวนาคนใดที่จะเขียนคำโปรยเพื่อแนะนำตนเอง
นายสุภลักษณ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินคดีนี้ไม่ได้กระทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และเคร่งครัดต่อกฎหมายเพียงพอ เพราะข้อความทั้งหมดในงานวิชาการ ไม่มีส่วนใดแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือดูหมื่นพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายและหลักฐานประกอบอย่างผิดฝาผิดตัว โดยใช้โพสต์เฟซบุ๊กของบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยไม่มีหลักฐานอื่นประกอบเลย
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ กล่าวว่า กมธ.ฯจะเตรียมทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามกรณีเลิกจ้างนายพอล เนื่องจากถูกเพิกถอนวีซาโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหากท้ายที่สุดกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ออกมาว่านายพอล เป็นผู้บริสุทธิ์ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมีนโยบายอย่างไรที่จะมอบความเป็นธรรม และมอบเสรีภาพทางวิชาการให้กับนายพอล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี