เศรษฐกิจตัวเลขสวย อัตราการเติบโตดี ส่งออกฟื้นตัว การลงทุนมีความหวัง แต่ทำไมคนไทยยังรู้สึกว่าฝืดเคือง!
นี่เป็นปัญหาที่ทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหาวิธีตอบและแน่นอนต้องเร่งหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วนเลยล่ะครับ
ในส่วนของตัวเลขทางการด้านเศรษฐกิจนั้น แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ประจวบกับกระแสข่าวดีจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่หลายฝ่ายเฝ้ารอมาเป็นเวลาเกือบจะ 4 ปีแล้ว จนกระทั่งนายกฯทนไม่ไหวต้องใช้ มาตรา 44 เร่งเครื่องเนื่องจากกระทรวงคมนาคม ดำเนินการล่าช้ามาแสนนาน ผลดังกล่าวหนุนให้ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้จะโตแบบ New Normal ไม่พลาดท่ากลายเป็น Less than Normal ได้ในช่วง 3-3.5% ของ GDP ซึ่งอย่างที่ว่าครับ อย่างน้อยดีที่ไม่ต่ำกว่า 3
ข่าวดีอีกเรื่องคือ ภาคการส่งออกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก ถึงแม้จะเทียบกับฐานที่ไม่สูงนักจากตัวเลขของปีก่อน แต่ก็ทำให้พอกระชุ่มกระชวยได้บ้าง ภาคการลงทุนก็เริ่มขยายตัวดีขึ้น เหลือเพียงแต่ความหวังเรื่องการลงทุนจากภาครัฐเดินหน้าได้จริงก็จะทำให้หลายเรื่องขยับไปได้อีกไม่น้อย
แต่เมื่อพูดถึงการลงทุนภาครัฐ แน่นอนปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันต่อมาคือ “การหาแหล่งทุน” ในการลงทุน ซึ่งก็คือ “การก่อหนี้” ก็จะมีเสียงกังวลถึงภาระหนี้ ไปจนถึงแผนบริหารหนี้สาธารณะ จากกรอบความยั่งยืนทางการคลัง เครื่องมือหนึ่งในการช่วยควบคุมวินัยการคลังของรัฐบาลที่มีเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยหมวดวินัยทางการคลังที่ไม่ว่าจะนักการเมืองหรือรัฐบาลทหารต้องปฏิบัติตามเคร่งครัดเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย ระบุไว้ว่า หนี้สาธารณะต่ออัตราการเติบโตต้องไม่เกิน 60%
ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยมีมูลค่ารวม 6.3 ล้านล้านบาท จาก จีดีพี ปีล่าสุดประมาณ 15 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42% ของ จีดีพี แบบนี้ถือว่าอยู่ในกรอบ (นึกดูสิครับว่าถ้าตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ออกพ.ร.บ.กู้เงินนอกระบบงบประมาณ 2 ล้านล้าน ผ่านขึ้นมา
หนี้ประเทศมันจะพุ่งไปขนาดไหน)
ตามกรอบนี้รัฐบาลโดยรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ก็บอกว่าจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามกรอบ และการลงทุนใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรถไฟความเร็วสูง ก็มีวงเงินลงทุนอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท กรุงเทพฯไปโคราช แต่หากรวมเม็ดเงินลงทุนด้านคมนาคมที่จะลงทุนไปถึงปี 2565 นั้นก็ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของแหล่งเงินต่างๆ ก็จะต้องมาว่ากันโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าจะ “กู้ทั้งหมด” แบบรัฐบาลที่แล้ว
สูตรอื่นในการหาแหล่งเงินทุนมาช่วยการก่อสร้างก็อาจเป็นการร่วมทุนกับเอกชน การลงทุนจากประเทศคู่ยุทธศาสตร์ในการก่อสร้างโครงการอย่างรถไฟเชื่อมภูมิภาค หรือจากหน่วยงานระดับทวีปอย่าง AIIB หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้าง
พื้นฐานแห่งเอเชีย ที่มีจีนเป็นตัวตั้งตัวตีในการลงทุน
หลายประเด็นต้องจับตากันครับไม่ว่าจะเป็น 1.ภาระหนี้ จากการรวบรวมแหล่งเงินทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของกระทรวงการคลัง 2.แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในรายละเอียดการก่อสร้าง เช่น เรื่องเส้นทาง เรื่องบริษัทผู้ก่อสร้าง รวมไปถึงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง ฯลฯ ยังอีกยาวนานกว่าจะสำเร็จ เรื่องนี้คือเรื่องของกระทรวงคมนาคม
วกกลับมาดูในขาเศรษฐกิจของชาวบ้านกันบ้าง
ล่าสุดมีตัวเลขจาก สมาคมการค้าธุรกิจอาหาร เปิดเผยตัวเลขที่เป็นผลกระทบโดยตรงจากการใช้กฎหมายเรื่องแรงงานต่างด้าว ทางเรายอมรับครับว่า เรื่อง “การจัดระเบียบ” เป็นเรื่องดีแต่ต้องมีทักษะในการบริหารจัดการมากกว่านี้สักนิด เพื่อไม่ให้ผลกระทบทางลบมันไปชิ่งโดนคนทำมาหากิน
แน่นอนผิดกฎหมายไม่ควรปล่อยไว้ อันนี้ใช่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือตัวเลขจากสมาคมที่บอกว่า จากการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 ทำให้ธุรกิจอาหารที่ใช้แรงงานต่างด้าวได้รับผลกระทบหนักจากความไม่มั่นใจของภาคแรงงานที่เร่งรีบเดินทางกลับภูมิลำเนา จนขาดแรงงาน
หากดูในตัวเลขพบว่า ธุรกิจร้านอาหารไทยโดยรวมมีมูลค่า 3.85 แสนล้านบาท จากการสำรวจพบว่ามีการปิดกิจการจากการขาดกำลังซื้อของประชาชน และจากการขาดแรงงานไปแล้วกว่า 1,000 ร้าน และมีแนวโน้มจะปิดเป็น 2,300 ร้าน ในปีนี้
เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงไม่มากก็น้อยกับประเด็นที่คนบอกว่า เงินในระดับชาวบ้านร้านตลาดนั้น “ไม่สะพัด” ทางรัฐบาลก่อนนี้ก็บอกว่า เกิดจากการที่รัฐบาล “ปราบปรามธุรกิจสีเทา” ถ้ามองเผินๆ ก็คือ ใช่เลยครับ
อยากให้แยกออกมาสองมุม มุมแรกคือ คนที่ธุรกิจเทามาตลอดก็จำเป็นไปทำให้ขาวเสีย มุมที่สองรัฐบาลก็ต้องมีกุศโลบายที่ดำเนินนโยบายทางนี้ให้แยบคายจนไม่เกิดผลกระทบไปในวงกว้าง เพราะสุดท้ายแล้วหากชาวบ้านรู้สึกว่า “ปากท้อง” ไม่อิ่ม ปัญหานี้จะวกกลับมาทำให้รัฐบาลปวดหัวได้ไม่น้อยแน่นอน
ธุรกิจสีเทา หรือธุรกิจที่ไม่เข้าระบบของประเทศนี้มีสัดส่วนสูงมากถึงประมาณ 45% เมื่อเทียบกับ จีดีพีของประเทศ แปลว่า
มีเงินสะพัดอยู่ในสีเทาสูงถึงกว่า 5-6 ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นตลาดสด ตลาดรถมือสอง ตลาดของหนีภาษี ตลาดของผิดกฎหมาย ตลาดนัด ร้านข้างทาง รวมไปถึงอบายมุขทั้งหลายแหล่
ปัจจัยลบต่อเนื่องในช่วง 4-5 เดือน ที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่การปราบปรามเข้มงวดในหลายเรื่องจนธุรกิจสีเทาซบเซา ขยับตัวได้ยาก แน่นอนผลของมันคือ เงินไม่สะพัด จนคนบ่นไปทั่ว ความจริงเรื่องนี้พูดยากครับ มันเหมือนต่างคนต่างกลืนน้ำลายตัวเอง
คสช.ก็อยากปราบปรามความสีเทาของประเทศ แต่หันไปหันมามาเฟียก็เป็นทหารบ้าง ตำรวจบ้าง (เรื่องนี้ประชาชนเขาทราบกันดี)
ส่วนตัวคนที่บ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็รู้ตัวว่าตัวเองก็ทำมาค้าขายแบบไม่สุจริต 100% ผิดที่ผิดทาง ผิดประเภทบ้าง ก็เลยทำอะไรมากไม่ได้ อย่างที่กล่าวตอนแรก มันต้องมีกุศโลบายทางนโยบายสำหรับทางออกที่ไม่กระทบวงกว้างมากนัก คือหาทางออกให้ วิน-วินกันทุกฝ่าย ทั้งการจัดระเบียบของประเทศ และประชาชนในประเทศที่จะได้รับผลกระทบ
ปัญหาเก่าไม่ทันจบ ปัญหาใหม่ก็งอกขึ้นมาจากการออก พ.ร.ก.เรื่องแรงงานต่างด้าว นี่ก็เป็นเรื่องเทาอีกเรื่องที่มีมาเฟียมาเกี่ยวข้องจากการเรียกหัวคิวแรงงานพวกนี้ตั้งแต่ตอนแรก จนการทำให้ถูกต้องตามระเบียบเป็นเรื่องยาก แต่ปัญหาก็งูกินหางอีกเมื่อ “ระเบียบ” ที่จะทำให้ถูกต้องนั้น เป็นความยุ่งยากสับสนจากข้อกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพอีก
ธุรกิจอาหารส่วนใหญ่ในปัจจุบันของไทยเราพึ่งพาแรงงานต่างด้าวถึง 70% จากธุรกิจอาหาร 3 แสนแห่งทั่วประเทศ เมื่อมีการจัดระเบียบส่งผลต่อความอ่อนไหวของคนที่อยู่อย่างผิดกฎหมายถึงจะผ่อนผันไปถึงสิ้นปีก็ยังไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะตอนออกพ.ร.ก.ตอนแรกนั้นไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ตอนนี้ก็ต้องแก้กันพัลวัน
ระลอกปัญหาถัดมาที่จะเกิดขึ้นก็จะตอกย้ำปัญหาเดิมในช่วงครึ่งปีแรกนี้ นั่นคือการที่เศรษฐกิจตัวเลขสวย ส่งออกดีขึ้น ลงทุนกระเตื้อง ภาครัฐเดินหน้า แต่ภาคประชาชน สังคมชาวบ้านร้านตลาดซบเซา จนอาจตามมาด้วยปัญหาสังคมจากเศรษฐกิจปากท้อง
การสร้างความสมดุลทั้งทางการข่าวของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการสร้างสมดุลให้เงินทุกภาคส่วนสะพัดทั้งระบบก็เป็นเรื่องจำเป็น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้วย้อนไปดูตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ก็น่าเป็นห่วงอีก ถึงแม้ว่า อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของทั้งประเทศดีขึ้นมาปริ่มๆ อยู่ที่ไม่ถึง 80% จากเกิน 85% ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้ดำเนินนโยบายสร้างหนี้กระหน่ำให้คนไทยมาตลอด 2 ปี 9 เดือน ตอนนี้ปัญหาเรื้อรังที่สะสมคือ “วินัย” ของคนไทยที่เสื่อมโทรมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กับค่านิยมที่ต้องมี ต้องได้ ต้องเก๋ จนตัวเลขของเครดิตบูโรสะท้อนชัดว่า กลุ่มคนอายุไม่เกิน 30 ปี คนทำงานรุ่นใหม่นั้นมีอัตราการเป็นหนี้เสียสูงที่สุด ใช้จ่ายเกินตัว และมูลหนี้ก็ไม่ได้เป็นการสร้างเนื้อสร้างตัวแต่เป็นหนี้ที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้บุคคล
ปัญหาทั้งหมดมันก็วกกลับไปวนกันพัลวันไปหมดครับ อย่างไรเสียก็เป็นกำลังใจให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และเชียร์ให้ท่านแบ่งทีมลงมาดูเรื่องของปากท้องชาวบ้านร้านตลาด และเยาวชนกันอย่างขึงขังเหมือนที่ท่านดูแลเจ้าสัวธุรกิจใหญ่บ้าง
แล้วเราจะได้เห็นทิศทางที่สวยงามกว่านี้ไปพร้อมๆ กันครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี