ผมยังชั่งน้ำหนักอยู่ว่า จะเรียกว่าเป็น “ก้าวที่พลาด” ครั้งสำคัญของคุณไก่อู พลโทสรรเสริญแก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในการ “ขอแบบทหารๆ” ให้สำนักข่าวต่างๆ ช่วยตามรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนที่จะลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในตอนนี้ไหม
เล่าสั้นๆ ให้ฟังก่อน ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เผื่อท่านที่ไม่ได้ตามข่าวจะได้เข้าใจ “ต้นเรื่อง” ของการนำเสนอบทความนี้ คือ มีการเผยแพร่เอกสารที่เป็นตารางงานในการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี พร้อมกับข้อมูลว่า ออกตารางงานมาแบบนี้ แล้ว พลโทสรรเสริญก็มาขอให้สื่อช่องต่างๆ เลือกว่าช่องไหนจะไปตามรัฐมนตรีคนไหน เพื่อทำสกู๊ปข่าวออกอากาศ โดยให้ส่งมาออกทางช่อง เอ็นบีที (ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์) ด้วย อย่างนี้เป็นการใช้อำนาจแทรกแซงสื่อ บังคับสื่อให้ช่วยเชียร์รัฐมนตรี-รัฐบาลหรือเปล่า มันทำได้เหรอ มันถูกต้องเหรอ เผด็จการหรือเปล่า ฯลฯ
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ ก็รีบชี้แจงทันทีว่า ไม่ใช่เป็นการจัดระเบียบสื่อ แต่เป็นการขอความร่วมมือในการทำรายงานสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับรัฐมนตรีที่ลงไปในพื้นที่ด้วย เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีประชุมครม. นอกพื้นที่ ก็จะมีแต่ข่าวของนายกรัฐมนตรี แต่ความจริงแล้วยังมีรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกที่ร่วมลงพื้นที่ โดยรัฐมนตรีเหล่านี้จะได้ไปสัมผัสพื้นที่จริงว่า นโยบายที่รัฐบาลทำลงไปนั้น มีปัญหาอุปสรรคอะไร รัฐมนตรีจะได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องต่างๆ ของรัฐมนตรีได้ถึงประชาชนในสังคมให้มากที่สุดและรอบด้าน ตนจึงได้ขอความร่วมมือ ถามว่าใครช่องไหนสนใจติดตามรัฐมนตรีท่านใด ก็ให้เลือกได้ตามใจชอบ ตามที่สื่อช่องนั้นต้องการ
“ผมไม่ได้บังคับ ผมให้เลือกตามใจชอบเลย แต่ต้องไม่ซ้ำกันในแต่ละช่อง บางช่องบอกให้ผมเลือกให้ด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้เลือกให้ เพราะรู้ว่าคาแร็กเตอร์ความสนใจของแต่ละช่องไม่เหมือนกัน เท่าที่เห็นแต่ละช่องก็เลือกกันหมดแล้ว” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีบางช่องไม่ทำ ไม่เลือกตามรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ได้บอกแล้วว่าไม่ได้บังคับ แต่สื่อที่ตามลงไปทำข่าว ก็ต้องทำข่าวของท่านอยู่แล้ว ตนเพียงแต่ขอว่า ให้ส่งสิ่งที่ท่านทำให้กับเราด้วย เพื่อที่จะได้ออกอากาศทางช่อง NBT ที่สำคัญรายงานที่จะออกทางช่อง NBT นั้น ตนไม่ได้บังคับอะไรเลย ท่านจะทำเรื่องไหน อย่างไร เป็นไอเดียของท่านเลย แล้วให้ใช้ไมค์ของสถานีช่องนั้นๆ ได้เลย ไม่ต้องกลัวว่าต้องไม่มีสัญลักษณ์หรือโลโก้สถานี
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ที่ทำอย่างนี้ก็เพราะความพยายามที่จะแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาเมื่อลงพื้นที่ก็จะมีแต่ข่าวของนายกรัฐมนตรี ประชาชนจะรู้แต่เรื่องของนายกฯ ที่ขอความร่วมมืออย่างนี้ก็เพื่อความหลากหลายในการนำเสนอเนื้อหาการประชุมครม. ที่ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องนายกฯ และที่ต้องขอความร่วมมืออย่างนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่มีทีมข่าวที่เพียงพอ ยืนยันว่าผมมีทีมข่าวของกรมประชาสัมพันธ์เพียงพอ และเตรียมไว้แล้วเช่นกัน แต่ตนต้องการให้เกิดความหลากหลายในการนำเสนอ ไม่ใช่เฉพาะในมุมสื่อของรัฐเพียงอย่างเดียว เราให้อิสระในการคิดนำเสนอประเด็น เพียงแต่ขอให้ท่านส่งมาให้เราด้วยเพื่อที่เราจะช่วยเผยแพร่ทางช่อง NBT เป็นความต้องการที่แท้จริง
“การรายงานเรื่องของรัฐมนตรีแต่ละคน แต่ละช่องรายงานได้ตามสบาย ตามสไตล์ ผมอยากให้ประชาชนที่ดูช่องสื่อของรัฐ
ได้รับรู้ว่าสื่อเอกชนเขานำเสนออย่างไร เราเป็นเพียงตัวกลางช่วยเผยแพร่ให้ความหลากหลายแก่ประชาชน ไม่ใช่เป็นการจัดระเบียบสื่ออย่างที่มีการวิจารณ์กัน” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
แน่นอนละ มันมีความ “ล้ำเส้น” อยู่บ้าง ในมุมมองของสื่อ ว่าเฮ้ย! ฉันไม่ใช่ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์นะ จะมาสั่งกันอย่างนี้ได้อย่างไร นี่กำลังแทรกแซงสื่ออยู่ใช่ไหม แต่เท่าที่ดูจิตเจตนาของคุณไก่อูเธอแล้ว ผมไม่เห็นความสกปรกในกิริยาท่าทีของการขอครั้งนี้ เพียงแต่ท่านสื่อสารกับนักข่าวอย่างไร ถึงได้ออกมาเป็นมุมทำนองว่า สื่อกำลังถูกแทรกแซง ซึ่งต่อมา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ความว่า...
“...สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา มีหนังสือจากกรมประชาสัมพันธ์ส่งถึงบรรณาธิการสื่อมวลชนทุกแขนง เรื่องเชิญประชุมเตรียมการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดนครราชสีมาตามที่เนื้อหาในหนังสือระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการ พบปะประชาชนและประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2560
...เพื่อให้การรายงานข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชน รวมทั้งให้สื่อมวลชนทุกแขนงมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเตรียมการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ขอเชิญเข้าร่วมประชุมในวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ โดยมี พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน
...โดยขอความร่วมมือสื่อมวลชนแต่ละสถานีให้ช่วยติดตามผลิตสกู๊ปพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างการลงพื้นที่
ในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2560 นั้น ถึงแม้ว่าจะเปิดโอกาสให้แต่ละสถานีโทรทัศน์ใช้ไมค์ประจำช่องของแต่ละช่องเพื่อนำผลงานที่แต่ละสถานีผลิตไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ทางเอ็นบีที (NBT) โดยทางเอ็นบีทีจะกำหนดคิวออกอากาศไว้ให้ในลักษณะสดหรือเทปและทางอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อ้างว่า เป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพราะรัฐบาลอยากให้ประชาชนได้ทราบถึงผลงานของคณะรัฐมนตรีทุกคนลงที่ลงพื้นที่และติดตามงานช่วยเหลือประชาชน นั้น
...สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่าเป็นเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนและเป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่สื่อมวลชนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งและการควบคุมของรัฐบาล เพราะสื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีท่านใดทั้งสิ้น แต่หน้าที่ของสื่อมวลชนคือ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
...สมาคมฯ ขอแสดงความกังวลต่อการกระทำดังกล่าวของ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ว่าอาจเป็นการคุกคามและแทรกแซงสื่อ และไม่เห็นด้วยกับการขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติติดตามนำเสนอข่าวและผลิตสกู๊ปพิเศษให้กับรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่แต่ละท่านตามที่ทางอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือมา...”
ทีนี้ ลองเอาประโยคที่ผม “ขีดเส้นใต้” มาดูกันให้ชัดๆ ซิ
ก) ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่มีทีมข่าวที่เพียงพอ ยืนยันว่าผมมีทีมข่าวของกรมประชาสัมพันธ์เพียงพอ และเตรียมไว้แล้วเช่นกัน แต่ตนต้องการให้เกิดความหลากหลายในการนำเสนอ ไม่ใช่เฉพาะในมุมสื่อของรัฐเพียงอย่างเดียว
กับ ข) สื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีท่านใดทั้งสิ้น แต่หน้าที่ของสื่อมวลชนคือ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
ในคำพูดที่ผมใส่ “เส้นใต้บรรทัด” เอาไว้นี่แหละ คือ “หัวใจของเรื่อง” และเป็น “ทางออก” ของเรื่องนี้ด้วย
ถามว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องต้อง “แตกหัก” กันไหม ไม่ใช่ การรู้สึกว่าถูกบังคับถูกแทรกแซง สื่อมีสิทธิรู้สึกได้ แต่ดูเจตนาและท่าทีของพลโทสรรเสริญ ผมไม่เห็น “การคุกคาม” หรือ “บีบบังคับ” เห็นแต่ “การสื่อสารที่ผิดพลาด” เท่านั้น ดังนั้น คำที่ผมใส่เส้นใต้บรรทัดให้ คือจุดที่เราต้องชวนกันไปให้ถึง คือ
1) พลโทสรรเสริญ มีหน้าที่ควบคุม บังคับบัญชา วางแผน ให้คณะทำงานโฆษกของท่าน และคณะกรมประชาสัมพันธ์ ทำให้สุดความสามารถว่า สื่อที่รัฐมี กำลังคนที่รัฐมี นำเสนอการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรีสัญจรได้ อย่างที่สังคมจะได้ประโยชน์ โดยไม่ต้องไปเชื้อเชิญ ชักจูง ไหว้วาน หรือจะเรียกว่าแทรกแซง บังคับ อะไรก็ตามที กับสื่ออื่นๆ ปล่อยเขาทำงานของเขา ในแบบของเขา เอาที่เขาสบายใจ อย่าไปยุ่ง แต่ในฐานะโฆษกรัฐบาล ท่านมีการบ้านว่าจะทำยังไง ให้การแถลงข่าวของท่านของรัฐมนตรี ได้แทรกเข้าไปอยู่ในพื้นที่การนำเสนอข่าวของสื่อเอกชนให้ได้
2) อย่าทำอย่างนี้ให้ตัวเอง “ติดลบ” อีก อย่าอ้างว่าคุยกันแบบทหารๆ เพราะคนที่ท่านคุยด้วยไม่ใช่พลทหาร เป็นองค์กรวิชาชีพ
แม้ใจจะหวังดีอย่างเต็มที่ แต่สื่อเขามีเสรีภาพของเขา ที่ไม่ชอบให้ใครไปรบกวน กำหนด หรือแทรกแซง
3) ท่านต้องเข้าใจว่า ทุกวันนี้ สื่อไม่ใช่แค่กระจกเงาหรือหมาเฝ้าบ้านอย่างโลกในอุดมการณ์อีกแล้ว สื่อคือ “องค์กรธุรกิจ” ชนิดหนึ่ง ที่มีต้นทุน มีเป้าหมายทางการประกอบการ เขาจึงต้องการ “เลือกสินค้า” ด้วยตัวเอง และไม่ชอบ รับฝากร้าน” (ฮา...)
หน้าร้านใครหน้าร้านมัน อย่าบุก อย่าบีบ อย่ายุ่ง มีตังค์ก็มาซื้อพื้นที่ไปสิ ยินดีขาย
4) ในขณะที่สื่อ ซึ่งกล่าวอ้างถึงตนเองว่า “สื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีท่านใดทั้งสิ้น แต่หน้าที่ของสื่อมวลชนคือ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ” ผมก็ไม่ขอร่วมวงเถียงด้วยหรอกนะ ว่า พลโทสรรเสริญเขาก็ไม่ได้บังคับว่าเธอต้องเชียร์หรือประชาสัมพันธ์ แต่ในการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีนั้น มันมี “ข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ” อยู่ในตัวเองด้วยไหมล่ะ??
5) “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” นักเขียนนวนิยายชื่อดัง เจ้าของบทประพันธ์ “รากนครา” ซึ่งเป็นผู้สนใจข่าวสารบ้านเมืองอย่างยิ่งยวดคนหนึ่ง กล่าวไว้ในเฟซบุ๊คของเธอ ซึ่งโพสต์ภาพตารางการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีแต่ละคน และหัวข้อของการติดตามงานในโครงการต่างๆ ขณะลงพื้นที่นั้นๆ ว่า...
“...ความจริงเท่าที่ฟังคิดว่า จุดประสงค์สำคัญคือไม่ต้องการให้นักข่าวไปตามติดนายกฯแต่เพียงคนเดียว อยากให้กระจายๆ กันไปตามรัฐมนตรีคนอื่นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้มีลักษณะเป็นวันแมนโชว์และเพื่อให้ไม่เกิด “รัฐมนตรีที่โลกลืม” เขาขอความร่วมมือไม่ใช่หรือ หรือบังคับ จึงได้เกิดดราม่า ถึงขั้นนักข่าวบางคนบอกจะบอยคอตต์ไม่ทำข่าว ครม.สัญจร
...ตารางที่นักข่าวที่บอกว่าจะบอยคอตต์เอามาเผยแพร่ ทำให้ได้รู้ว่า มีโครงการดีๆ มากมายเกิดขึ้น...เช่น
• โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ซึ่งความเห็นส่วนตัวถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากเพราะปัญหาใหญ่ของผู้มีรายได้น้อย คือ ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ทำให้เกิดหนี้ซ้ำหนี้ซ้อนเป็นลิงแก้แห เห็นกันอยู่ทั่วไป
• การแก้ปัญหาวัณโรคในเรือนจำ-ตอนนี้วัณโรคระบาดในเรือนจำ!!! และแน่นอนว่ามันต้องแพร่ออกมาได้ไม่ยาก น่าตกใจที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยรู้เลย...เคยได้ยินว่าวัณโรคหายไปจากเมืองไทยมานานแล้ว แต่กลับมาใหม่เพราะแรงงานต่างชาติ และตอนนี้มามีมากอีกในเรือนจำ---นี่เป็นเรื่องที่ ปชช.ควรรู้และระวัง
• ดำเนินการเพิ่มคุณภาพด้านสุขภาพและบริการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (E-Health)---นี่ก็เป็นโครงการที่ดี เพราะคนเราต้องรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนวิ่งหาหมอวิ่งซื้อยามากิน อยากรู้ว่า นี่คือ เป็นเนตส่วนกลาง (เพราะก่อนหัวข้อโครงการนี้ มีโครงการเนตประชารัฐ) ให้ประชาชนเข้าไปสืบค้นหาความรู้+ขอคำปรึกษาเรื่องโรคใช่หรือไม่
เอาละเขียนแค่นี้ดีกว่าเพราะตามภาพมี 16 ข้อก็จริง แต่ใน 16 ข้อนั้นมีมากกว่า 20 โครงการที่เราไม่เคยรู้เลย ว่ามีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย
จึงเกิดคำถามย้อนกลับในใจว่า ทำไมประชาชน (อิฉันเอง) ไม่รู้เลย ดูข่าวทีวี.แต่ละวันตอนกินข้าวเย็น ก็ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยิน...ไม่เคยเห็นนักข่าวเอาโครงการเหล่านี้มาบอกเล่าให้ฟังบ้างเลย(บางโครงการเป็นการตามผล-แสดงว่าเริ่มทำไปนานแล้ว) ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องมีประโยชน์ เป็นเรื่องที่ประชาชนควรรู้ ??
ทำไมข่าวในจอทีวี.มีแต่นักข่าวรุมถาม รุมแซะ นายกลุงตู่ กับรองนายกลุงป้อม ด้วยคำถามประเภท คนนั้นว่างั้ัน คนนี้ว่างี้ ท่านว่าไง ฯลฯ
จึงอยากถามนักข่าวบ้างว่า อย่าไปรุมสองลุงนั้นมากได้ไหม? ช่วยไปตามทำข่าวโครงการเหล่านี้ัมาเล่า มาให้ความรู้กับ ปชช. บ้างเหอะ อย่างโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยเนี่ย ถ้าเอามาทำข่าวเผยแพร่ให้คนรู้มาก ๆ คนที่กำลังมีปัญหาเขาจะได้รู้ว่ายังมีช่องทาง ยังมีทางออก เป็นสะพานส่งข่าวทางออกให้คนจนมุมได้กุศลนะคะ งดการแซะ เสี้ยม บิดเบือน หันหน้ามาสร้างบุญกันเถอะค่ะ
6) มุมสะท้อนของคุณปิยะพรไม่เพียงแต่น่าสนใจ แต่ได้ “ตีแสกหน้า” สื่อที่ชอบอ้างว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนคือ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ” เข้าอย่างจัง
7) ผมเองก็ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ค ปู จิตกร บุษบา เหมือนกันว่า “...เพลาๆ เอาการเอาดราม่าชีวิตและอารมณ์ “แม่น้องพลอย” (ที่ลูกหายไปสามปี เพิ่งมารู้ว่าลูกถูกแฟนหนุ่มฆ่าและเผาร่างทิ้งไปนานแล้ว) มาขยี้ มาขายกินกันเถอะ เพื่อนสื่อที่รัก พาผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ฟังของท่าน ไปสู่ “การเรียนรู้” ดีกว่า ว่า... 1.เรื่องนี้ กระบวนการยุติธรรมจะเดินต่อไปอย่างไร2.ก่อนหน้านี้ ทำไมคดีจึงไม่คืบหน้า 3.หากพ่อแม่หรือคนอื่นๆ เจอปัญหาบุคคลในครอบครัวสูญหายเช่นนี้ เขาควรทำอย่างไร หนึ่งสองสามสี่ห้า จุดแรกที่เขาต้องไปคือที่ไหน เพื่ออะไร และอย่างไร 4.หยุดขายอารมณ์ แต่เอาเหตุการณ์นี้สอนสังคมให้มีปัญญา ให้รู้วิธีเผชิญกับปัญหา กระตุ้นภาครัฐว่าต้องใส่ใจปัญหาคนหายให้มากขึ้นแค่ไหน และกระบวนการยุติธรรม ยัง “พร่อง” อะไรไปในกรณีแบบนี้ดีกว่านะ #หยุดเอาน้ำตาแม่มาขาย #พาแม่ออกจากความเศร้าและความสูญเสียให้ได้ # อย่าขายความทุกข์เศร้าของเขากิน
ดังนั้น จากเหตุการณ์สื่อโวยวายว่าถูกคุกคาม ไก่อูชี้แจงว่า “เค้าเปล่านะตัว แค่คุยแบบทหารๆ” จึงมีการบ้านจาก “ประชาชน” อย่างคุณปิยะพรและผม ให้กลับไปคิดว่า “ประโยชน์สาธารณะ” ที่แท้จริงที่สื่อควรสื่อคืออะไรกันแน่!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี