เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา มีประเด็นดราม่าที่น่าสนใจ กรณีคาเฟ่แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ จัดพื้นที่เป็นห้องกระจกที่สามารถมองเห็นคนงานกำลังคัดแยกใบยาสูบ ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเข้าข่าย “สวนสัตว์มนุษย์ (Human Zoo)” หรือไม่ โดยฝ่ายที่เปิดประเด็นขึ้นมามองว่าเป็นการแบ่งชนชั้น มองคนไม่เท่ากัน ระหว่างคนมีฐานะดีนั่งจิบเครื่องดื่มในห้องแอร์ มองคนรากหญ้าฐานะยากจนนั่งทำงานท่ามกลางอากาศร้อนๆ
ส่วนฝ่ายที่โต้แย้งฝ่ายแรกก็ยกเหตุผล เช่น คนงานคัดแยกใบยาสูบไม่ได้ถูกบังคับมาแสดงวิถีชีวิต มีการเปรียบเทียบกับสถานที่อื่นๆ อาทิ ตามศูนย์ซ่อมรถยนต์ที่มีห้องรับรองลูกค้าซึ่งสามารถมองเห็นช่างกำลังทำงาน หรือสถานที่พักตากอากาศที่สามารถมองเห็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในไร่นารอบข้างได้ และมองว่าคิดมากเกินไปเรื่องสวนสัตว์มนุษย์ เป็นต้น ขณะที่ทางคาเฟ่ดังกล่าวได้ชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาลดทอนความเป็นมนุษย์และไม่ได้เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง แต่เป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้อาชีพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ที่มาของดราม่าร้อนๆ เรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ชาวตะวันตกยังออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก และมีความเชื่อว่าฝรั่งผิวขาว (อันหมายถึงคนจากรัฐชาติต่างๆ ในทวีปยุโรป และต่อมายังรวมถึงสหรัฐอเมริกา) ที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ อย่างรวดเร็วในยุคล่องเรือสำรวจดินแดนและปฏิวัติอุตสาหกรรม ถือเป็นผู้มีอารยะ (ศิวิไลซ์ – Civilize) เหนือกว่ามนุษย์ชาติพันธุ์-ชนเผ่าอื่นๆ ที่เหลือ
รายงานพิเศษ How colonialists presented people in 'human zoos' โดยสำนักข่าว DW ของเยอรมนี วันที่ 10 ม.ค. 2565 เล่าย้อนไปในปี 2440 เมื่อเบลเยียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Fair 1897 มีการนำชาวคองโกทั้งชายและหญิงรวม 267 มาแสดงวิถีชีวิตที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ในชานเมืองเทอร์วูเรน ผ่านการจำลองสภาพหมู่บ้านแบบคองโกในพื้นที่ดังกล่าว โดยเวลานั้นคองโกยังเป็นอาณานิคมของเบลเยียม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวยุโรป โดยมีรายงานผู้เยี่ยมชมถึง 4 หมื่นคนต่อวัน แต่มีเรื่องน่าเศร้าสลด เพราะมีชาวคองโก 7 คน เสียชีวิตก่อนจบงาน
รายงานข่าวดังกล่าวของสื่อเยอรมนี เผยแพร่เนื่องในโอกาสที่พิพิธภัณฑ์ AfricaMuseum Tervuren ในเบลเยียม กำลังจัดแสดงนิทรรศการ Human Zoos: The Age of Colonial Exhibitions เพื่อรำลึกถึงความโหดร้ายที่เคยกระทำกับชาวคองโก ซึ่ง มาร์เทน คอร์ทเทเนียร์ (Maarten Couttenier) นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยา และเป็น 1 ใน 3 ภัณฑารักษ์ของงาน กล่าวว่า สวนสัตว์มนุษย์ดึงดูดฝูงชนจำนวนมหาศาล โดยจัดแสดงผู้คนจากคองโกในบทบาทมนุษย์ถ้ำที่เต้นรำในกระโปรงราเฟียที่เต็มไปด้วยความปรารถนาอันดั้งเดิม
“สวนสัตว์มนุษย์ไม่เคยถูกจัดแสดงในฐานะปัญญาชน ศิลปิน หรือคนธรรมดาทั่วไป อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะระดับภูมิภาค แต่ผู้คนจากทุกเชื้อชาติได้รับการจัดแสดงและมีการแสดงทุกที่ไม่ว่าในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในแอฟริกา แต่กลไกยังคงเหมือนเดิมเสมอ โดยผู้เยี่ยมชมจะได้เห็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับพวกเขาและรู้สึกเหนือกว่า” คอร์ทเทเนียร์ กล่าว
รายงานข่าวยังกล่าวด้วยว่า ในยุครุ่งเรืองของอาณานิคมยุโรป สวนสัตว์มนุษย์หรือการจัดนิทรรศการของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ชนพื้นเมืองในทวีปแอฟริกาหรือทวีปอเมริกา รวมถึงชาวซามิ (Sami) ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคยุโรปเหนือ (สแกนดิเนเวีย) มักเดินสายจัดแสดงทั่วไปเพื่อความบันเทิงของผู้คน โดยจัดตามแนวทางของมานุษยวิทยาเชิงวิทยาศาสตร์แบบหยาบๆ
ในปี 2446 มีการเผยแพร่แผนภาพ “ประเภทเชื้อชาติ (Racial Types)” ซึ่งแสดงให้เห็นจินตนาการว่าด้วยความเหนือกว่าของเชื้อชาติที่มองว่าคนนอกยุโรปเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยอำนาจในฐานะเจ้าอาณานิคมทำให้เชื่อมั่นในความเหนือกว่าแบบมีอารยธรรมของตนเอง อย่างในเยอรมนี เคยมีการจัดแสดงสวนสัตว์มนุษย์ในปี 2439 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ในงานแสดงสินค้าที่เมืองเบอร์ลิน
“ชาวแอฟริกันจากอาณานิคมของเยอรมนีมากกว่า 106 คนถูกหลอกล่อด้วยคำสัญญาอันเป็นเท็จ และถูกบังคับให้แสดงตนต่อสาธารณชนที่ตกตะลึงเป็นเวลา 7 เดือนในฐานะชาวบ้านที่แต่งกายด้วยชุดแปลกตา พวกเขาต้องเข้ารับการตรวจร่างกายหรือ ‘ตรวจเชื้อชาติ’ เป็นการลดทอนด้อยค่าต่อหน้าสาธารณชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า” รายงานของสื่อเยอรมนี ระบุ
Nonviolence International New York องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ในเมืองนิวยอร์กของสหรัฐฯ เผยแพร่บทความ The History of the Human Zoo ทางเว็บไซต์ nonviolenceny.org เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564 ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษ 1800 (ปี 2343 – 2442) จนถึงประมาณช่วงทศวรรษปี 1950 (ปี 1493 - 2502) มีสวนสัตว์มนุษย์อยู่ทั่วโลก ตั้งแต่ทวีปยุโรปมาจนถึงนิวยอร์ก คนผิวสี (People of Color - POC) อาศัยอยู่ในสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์ในฐานะของสัตว์ที่ถูกจัดแสดง โดยมีทั้งชาวแอฟริกัน เอเชีย ลาตินอเมริกา และชนพื้นเมืองอื่นๆ
“พวกเขาถูกจัดแสดงไม่ว่าจะสวมเสื้อผ้าหรือเปลือยกายในแหล่งที่อยู่อาศัยที่มนุษย์สร้างขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งอ้างว่าดูใกล้เคียงกับบ้านเกิดของ POC แต่ละคนมากที่สุด ผู้ชมจะลูบคลำและถ่ายรูปพวกเขาเพราะพวกเขามองว่าคนเหล่านี้เหมือนกับสัตว์แปลก (Exotic Animal) ซึ่งการที่ POC ถูกกักขังไว้เพราะมีส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขนาด หรือรูปร่าง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดูแปลกในสายตาของคนที่ไม่ใช่ POC” บทความขององค์กรดังกล่าว ระบุ
บทความนี้ยังอ้างถึงสวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo) ในนิวยอร์ก ซึ่งในปี 2449 เคยมีการจัดนิทรรศการ “บ้านลิง (The Monkey House)” แต่มีลักษณะเหมือนสวนสัตว์มนุษย์ เพราะแม้จะเป็นการแสดงวิถีวัฒนธรรม เช่น การใช้ทักษะการยิงธนูและการทอผ้า แต่ผู้คนเหล่านี้กลับถูกจัดให้ใช้ชีวิตร่วมกับลิงและถูกแสดงท่าทีเหยียดหยามราวกับเป็นสัตว์ไม่ใช่มนุษย์ นอกจากนั้น ยังมีภาพถ่ายของชนพื้นเมืองชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกนำมาจัดแสดงวิถีชีวิตในย่านโคนี ไอส์แลนด์ (Coney Island) ของนิวยอร์ก เมื่อปี 2448 (ซึ่งขณะนั้นฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมของสหรัฐฯ) ด้วย
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” นำเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลซึ่งมนุษย์กระทำต่อกันในอดีตมาบอกเล่ากับท่านผู้อ่าน ส่วนงาน World Fair นั้น ในระยะหลังๆ รู้จักกันในชื่อ World Expo จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี เพื่อแสดงผลงานหรือความสำเร็จของชาติต่างๆ ทั่วโลก และยังคงจัดมาถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดจัดขึ้นที่เมืองโอซากาของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เม.ย. – 13 ต.ค. 2568 ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมจัดนิทรรศการด้วย โดยผู้สนใจสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้ หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ thailandpavilionworldexpo2025.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี