เมื่อเร็วๆ นี้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี คณะทำงานโครงการพัฒนามาตรฐานระบบสุขภาพระดับพื้นที่สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ที่มีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรหลัก ได้ลงพื้นที่ประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนานโยบายและการนำนโยบายสู่การปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่รับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาอยู่ภายใต้การดูแลของ อบจ.
การลงพื้นที่ครั้งนี้ นำโดย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายณรงค์ วุ่นซิ้ว กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน ซึ่งมี นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูล
องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีรับโอน รพ.สต.ในจังหวัดมาทั้งหมด 143 แห่ง โดยทาง อบจ.กาญจนบุรีได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องยกระดับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อชุมชน สร้างให้เป็น “รพ.สต.พรีเมี่ยม” ผ่านโครงการยกระดับคุณภาพระบบบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาศักยภาพการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัด อบจ.กาญจนบุรี ให้มีคุณภาพมาตรฐานในการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีการบูรณาการด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และระบบจัดการความปลอดภัย
นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การมาครั้งนี้ เพื่อศึกษาว่าการถ่ายโอนภารกิจมีอุปสรรคหรือติดขัดประการใด ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกันด้วย เพราะที่ผ่านมา รพ.สต. คุ้นชินกับคำสั่งจากส่วนกลาง เมื่อมาอยู่กับท้องถิ่นก็จะเห็นงาน เห็นตัวตน เห็นสภาพแวดล้อม เห็นสุขภาพอนามัยของคนเป็นสำคัญ ซึ่งเราจะศึกษาการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ ก่อนจะยกระดับผลการศึกษาของพื้นที่นำร่องทั้ง 10 พื้นที่ ออกมาเป็นคู่มือให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน
“สสส.ได้สนับสนุนทุนในการศึกษาการดำเนินงานถ่ายโอนภารกิจของอบจ.นำร่อง 10 แห่งเป็นเวลา 3 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าโครงการจบ ทุกอย่างจะจบ แต่ละแห่งต้องทำอะไรใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางหรือต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไปด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวและย้ำว่า “อยากได้อะไรบอกมาเลย ทำได้ทุกเรื่อง เพื่อประโยชน์ของประชาชน และเพื่อให้เราทำงานได้ราบรื่น”
ด้าน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า หลังจากรับทราบข้อมูลเบื้องต้น พบว่ากาญจนบุรีโชคดี ที่ได้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีศักยภาพ มีหลักคิด เข้าใจงาน โดยเฉพาะการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ไม่ต้องอธิบายมาก การบริหารจัดการจึงเป็นระบบ ทำให้ รพ.สต. ทำงานง่าย ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบ
“ผมเชื่อว่าท้องถิ่นทำได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ เหตุนี้ สสส. สำนัก 3 พร้อมจะช่วยสนับสนุน ประคับประคอง กระตุ้น จุดประกาย ช่วยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้การถ่ายโอนเดินไปได้ โดยหลังจากนี้ทั้ง 10 จังหวัดนำร่องจะมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดความเชื่อมั่น ปฏิบัติหน้าที่ได้ราบรื่น” ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนามาตรฐานระบบสุขภาพระดับพื้นที่สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายในการพัฒนานโยบายสู่การปฏิบัติขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่รับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาอยู่ภายใต้การดูแลของ อบจ.ในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี ระยอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และภูเก็ต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี