ผมได้นำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผมมาเป็นหัวข้อในการเขียนบทความของผม ซึ่งได้เขียนไปแล้ว 3 บท (18/5/68, 25/5/68 และ 15/6/68) เกี่ยวกับการนอน การปฏิบัติตนเองถ้าต้องไปสนามบินตั้งแต่เช้า การออกกำลังสร้างเสริมกล้ามเนื้อ ยืดเส้นสาย การทรงตัว และการออกกำลังกายทั่วๆ ไป
ตอนนี้ก็มาถึงการทำงานแล้วครับ ตั้งแต่ 2567 ผมไม่ได้สอนแพทย์ประจำบ้าน ปีที่ 2 (residents)ของภาควิชาอายุรศาสตร์ที่หมุนเวียนมาที่หน่วยทางเดินอาหาร กลุ่มละ 4-5 คน ทุกเดือน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดทางสาขาวิชาระบบทางเดินอาหาร (Fellow) ที่มี 5 คนที่มาอยู่ที่หน่วย 3 ปี 5 คนนี้ผมจะสอนเดือนแรกของการเริ่มต้นเป็น Fellow เดิมผมจะสอน residents ทุกเช้า 07.00-08.00 น. แต่ระยะหลังๆ ชั่วโมงสอนค่อยๆ ลดลง เพราะภาควิชามีการเรียนการสอนมากขึ้น จึงมากินเวลาผม เดิมนั้นนานมาแล้วตั้งแต่เริ่มต้น residents ปี 2 มาขอให้ผมสอนต่างหากเอง ตอนนั้นกิจกรรมอาจน้อย และเขาคิดกันเองว่า ถ้าผ่านหน่วย GI (Gastrointestinal) แต่ไม่พบผมเขาจะเสียดายมาก (เพราะ residents จะอยู่ตามตึกกับอาจารย์ แต่อาจารย์บางคนบางเดือนไม่ได้ไปประจำตึก ไปทำหน้าที่อื่น) ช่วงนั้นทั้งผมและเขาต่างก็ว่างนอกเวลาราชการเท่านั้น จึงเป็นที่มาที่ไปของการ “สอน” ตั้งแต่ 07.00-08.00 น. ผมจะบรรยายหัวข้อ GI ต่างๆ และสอนหรือคุยเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญด้วย ที่ไม่ใช่เกี่ยวกับ GI เพราะชั่วโมงต่างๆ นี้เป็น “ส่วนเกิน” ที่เขาขอมา ฉะนั้นจะพูดคุยอะไรก็ได้ที่ผมคิดว่าสำคัญ ถ้าคิดว่าพูดเรื่อง GI จบแล้ว จากการสอนมาหลายสิบปี การสอนก็ค่อยๆ เพิ่มจากการสอน GI เท่านั้นเป็นการสอนทางการแพทย์ในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ วิธีเรียนและอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ การออม ลงทุน การวางตนเองในสังคม การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน การเข้ากับคนได้ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนเป็น จับประเด็นเป็น รู้หัวใจของเรื่อง อ่านอะไรแล้วต้องสรุปให้ได้ อ่านมา 50 หน้า ต้องสรุปให้ได้ภายใน 1-2 หน้า การวางแผน การเสนอผลงาน การมีระบบ PDCA คือ plan do check act เพราะเวลาจบจากจุฬาฯ จะต้องไปเผชิญกับโลกภายนอกที่เราไม่เคยพบ จะเจอกับคนหลากหลายชนิด ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้น จะต้องปรับตัวเข้าให้ได้ มีทั้งเจ้าพ่อเจ้าแม่ คนดีมาก ดีน้อย ต้องดูคนให้ออก ดีมากก็คบเป็นเพื่อนซี้ได้ คนดีน้อย ถ้าต้องทำงานด้วยก็ต้องคบ แต่ห่างๆ และพยายามเข้าใจ มองเขาด้วยความเป็นธรรม ฯลฯ และเหนือสิ่งอื่นใด เนื่องจากเขามาขอให้ผมสอนเอง ผม demand - ต้องขอ - บังคับ - ขอร้อง - ให้เขาเป็นคนดี เหนือสิ่งอื่นใด เพราะในมุมมองของผม ถ้าทุกๆ คนในประเทศไทย ในโลก ส่วนใหญ่เป็นคนดี ปัญหาต่างๆ ก็จะจบไป หรือไม่มีตั้งแต่แรก เช่นวันนี้ที่กำลังเขียนอยู่ 28/6/2568 ก็จะไม่มีประชาชนต้องออกมาชุมนุม ฯลฯ การเป็นคนดีคือ คนที่เห็นแก่ส่วนรวม มีเหตุผล มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมายบ้านเมือง มีธรรมะอยู่ในใจ (และการกระทำ) ฯลฯ
แต่ดีแล้วต้องเก่งด้วย พื้นฐานของความที่จะเก่งได้จะต้องมีโอกาสเรียน (ในปี 2567) ยังมีเด็กในวัยบังคับการเรียนประมาณ 1 ล้านคนที่ไม่ได้เรียนเพราะความยากจน ถึงแม้จะเรียนฟรี (ข้อมูลจาก กสศ.) แต่เมื่อมีโอกาสเรียนแล้ว เช่น พวก R, F ของผม ยังจะต้องเรียนเป็น จับประเด็นเป็น สรุปเป็น รู้หัวใจของเรื่อง เช่นในเรื่องของการแพทย์ ในการที่เราจะต้องวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรคหนึ่งโรคใด มีอาการแสดง (คือสิ่งที่แพทย์ตรวจพบ) อะไรไหมที่โรคนั้นต้องมีถ้าไม่มีอาการแสดง(sign)นั้น ก็ไม่ใช่โรคนั้นที่เราคิด ถ้ามีก็ใช่ เพราะโรคหนึ่งๆ มีอาการแสดงหลายอย่าง แต่อาการแสดงต่างๆ เหล่านี้อาจพบได้ในโรคอื่นๆ ด้วย แต่อาจมีอาการแสดงอันเดียวที่ถ้ามี บอกว่าเป็นโรคนี้ ถ้า F, R รู้จริงแบบนี้ ก็จะตรวจวินิจฉัยคนไข้ได้ง่ายขึ้น คือ ดูอาการแสดงนี้เลย ถ้ามีก็ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ แต่แน่นอน ต้องตรวจผู้ป่วยทั้งตัว ทุกระบบ อย่างละเอียด รอบคอบอยู่แล้ว
เรื่องนี้“หัวใจของเรื่อง”สำคัญมาก เพราะแพทย์ในประเทศไทยไม่ว่าที่จุฬาฯ หรือปากช่อง ไม่ค่อยมีเวลากับผู้ป่วย ฉะนั้นถ้าแพทย์รู้จริง รู้“หัวใจของโรค” ก็จะมุ่งเข้าเป้าได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อมีโอกาสเรียน ต้องเรียนเป็น สรุปเป็น จับประเด็นเป็น รู้หัวใจของเรื่อง R, F ที่เรียนกับผม IQ สูงทั้งนั้น สมองดี ความจำดี แต่สำหรับผม คิดว่ายังเรียนไม่เป็น เพราะไม่เคยคิดเรื่อง “หัวใจของโรค” ผมจะแนะนำเขา ด้วยเหตุผลนี้เอง ผมถึงอยากแนะนำคณะแพทย์และทุกคณะในมหาวิทยาลัย และทุกโรงเรียน ว่า ขอให้มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา (ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์) มาสอน แนะนำ “วิธีเรียน” ให้เด็กๆ นิสิตทุกๆ โรงเรียน ทุกๆ คณะ ฯลฯ
เมื่อเรียนเป็นแล้ว จะต้องเก่ง 7 อย่างด้วย คือ เก่งคิด เก่งคน เก่งงาน เก่งเงิน เก่งเวลา เก่ง “ขาย” และเก่งฟัง
เก่งคิด พื้นฐานของการเก่งคิดจะมาจากการที่เราเรียน ทำ มีประสบการณ์มากมาย ทั้งที่ผิด ถูก จากการอ่านมากๆ อย่างกว้างขวาง จากการมีความรู้ทั่วๆ ไป จากการมีเพื่อนมากๆ และคุยฟังทุกๆ คน ยกตัวอย่างผม เวลาผมว่าง ผมก็จะไปฟังการบรรยายของหลักสูตร มส. ที่ผมเป็นวิทยากร ที่ผมเคยเรียนมาตั้งแต่รุ่น มส.3ปัจจุบันนี้เป็น มส.17 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีมากๆ ค่าลงทะเบียนหรือค่าเรียนถูกมากด้วย มีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ ทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม ทำให้ผมได้รับความรู้มากมาย ใครที่สนใจเชิญสมัคร มส.18 ที่จะเปิดเร็วๆ นี้ ได้นะครับ เรียนเฉพาะวันเสาร์บ่าย ทานข้าวกลางวัน 12.00-13.00 น. แล้วพบ ผอ.หลักสูตร 13.00 น. 13.30 เรียน 2 หัวข้อฯ จนจบ 18.00 น. แล้วมีการสังสรรค์กันเล็กน้อย เปิดหาใน google ได้ “หลักสูตร มส.17”
การที่ผมชอบคุยกับทุกๆ คน ไม่ว่าจะใหญ่โต เล็ก ยากดี มีจน แค่ไหน ทำให้ผมได้ข้อมูล ความคิด ความรู้หลากหลายทำให้เกิดความคิดที่ต้องไปอ่าน ศึกษาต่อ จึงมีส่วนทำให้ผมมีความรู้กว้างขวาง ถึงแม้จะไม่ลึกไปทุกเรื่อง
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี