ถึงปัจจุบันนี้ เชื่อว่า “เอไอ (AI)” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)” คงกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกัน โดยเฉพาะเมื่อ “Chat GPT” ของ Open AI เปิดตัวในเดือน พ.ย. 2565 หลังจากนั้นไม่นานยอดผู้ใช้งานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามด้วยผู้พัฒนารายอื่นๆ ได้เปิดตัวโปรแกรมแชทบอท (Chatbot) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี AI ที่ออกแบบมาเป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำต่างๆ กับมนุษย์ ในลักษณะเดียวกับ Chat PGT ออกมาบ้าง
แต่อีกด้านหนึ่ง ระยะหลังๆ เริ่มมีคำเตือนว่า “การพึ่งพา Chatbot AI มากเกินไป อาจทำให้มนุษย์สูญเสียทักษะในการคิดวิเคราะห์ด้วยสมองของตนเอง” อาทิ เว็บไซต์สถานีวิทยุ LBC ของอังกฤษ รายงานข่าว Artificial Stupidity: AI chatbots are making users less intelligent, researchers say เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2568 อ้างผลวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา
คณะผู้วิจัยได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 54 คน โดยขอให้เขียนบทความ 4 เรื่อง จากนั้นแบ่งการทดลองเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.อนุญาตให้ใช้ Chatbot AI เจ้าดังอย่าง ChatGPT เพื่อช่วยเขียนบทความ 2.ไม่อนุญาตให้ใช้ Chat GPT แต่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต (Search Engine เช่น Google) มาประกอบการเขียนบทความ และ 3.ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใดๆ ทั้งสิ้น ให้คิดและเขียนบทความจากสมองของตนเองเท่านั้น
อนึ่ง สำหรับกลุ่มที่อนุญาตให้ใช้ ChatGPT เพื่อช่วยเขียนบทความ มีเงื่อนไขให้ใช้ได้เพียง 3 ใน 4 เรื่องเท่านั้น ส่วนอีก 1 เรื่องต้องเขียนขึ้นมาด้วยสมองของตนเอง ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับการสแกนกิจกรรมสมองด้วยคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และถูกถามคำถามเกี่ยวกับเรียงความของตนเองในขณะที่กำลังเขียน ซึ่งพบว่า กลุ่มที่ใช้ ChatGPT มีประสิทธิภาพแย่กว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด และทำได้แย่กว่าในหมวดหมู่ประสาทที่วัดได้ทั้งหมด
บทความที่กลุ่ม ChatGPT เขียนขึ้นยังถือว่ามีคุณภาพแย่กว่ากลุ่มอื่น โดยอธิบายว่าเป็นบทความที่เหมือนกันและมีสำนวนภาษา (Language) ตลอดจนโครงเรื่อง (Theme) ที่ซ้ำกัน และในบทความที่กำหนดให้เขียนจากสมองของตนเองเท่านั้น กลุ่ม ChatGPT ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จำกัดในการจดจำข้อมูลที่เรียนรู้ รวมถึงความสามารถที่ลดลงในการระดมความคิดและแก้ปัญหา
ผลการศึกษาพบกิจกรรมของสมองลดลงตามสัดส่วนของการสนับสนุนภายนอกที่ได้รับขณะทำงาน โดยผู้ที่ใช้แชทบอท AI ซึ่งรับภาระงานส่วนใหญ่ในการเขียนและค้นคว้าไปจากมือของนักเขียน มีระดับกิจกรรมของสมองที่อ่อนแอที่สุด ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ChatGPT แสดงคลื่นสมอง “ธีตา (Theta)” ที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และกิจกรรมทางปัญญาระดับสูงในสมอง
ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ใช้แชทบอทช่วยเขียน โดยใช้เพียงเครื่องมือค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ไม่พบผลกระทบเชิงลบมากนัก เพราะท้ายที่สุดมนุษย์ที่เป็นผู้เขียนบทความก็ยังต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวนั้นด้วยตนเอง ซึ่งการศึกษาระบุว่าทักษะ “การคิดของมนุษย์” และ “การวางแผน” ส่วนใหญ่ถูกโยนไปให้เป็นหน้าที่ของแชทบอท AI โดยหลังจากเขียนบทความแล้ว ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกถามเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองเขียน
ซึ่งพบว่า เมื่อถูกขอให้กล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนของบทความที่จำได้ กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ ChatGPT ช่วยเขียนบทความ มากถึงร้อยละ 83 ไม่สามารถท่องได้เลยแม้แต่บรรทัดเดียว ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ถูกกำหนดเงื่อนไขให้เขียนบทความด้วยสมองของตนเองทั้งหมด กับกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพียงเครื่องมือค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตมาประกอบการเขียน แล้วพบว่าไม่สามารถจำเนื้อหาบทความได้แม้แต่บรรทัดเดียว จะมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ในวันที่ 24 มิ.ย. 2568 มีการจัดงาน Side-Event “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับอีกหลายองค์กร โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวในช่วงหนึ่งของการปาฐกถา เรื่อง “AI กับจริยธรรมสื่อมวลชน : เมื่ออัลกอริทึมมีอิทธิพลต่อความจริง” ว่า นับตั้งแต่ปี 2565 – 2566 เป็นต้นมา ที่ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ความสามารถของมนุษย์ในการใช้เหตุผล (Reasoning) และแก้ปัญหา (Problem Solving) ลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีอะไรก็ถาม AI อย่างเดียว
“อันนี้ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) เขาทำสำรวจมา เรื่องของ Problem Solving เรื่องของ Reasoning ของเด็กลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับในยุคที่ AI กำลังเติบโต ผมก็เลยขลุกอยู่กับเรื่องของการที่เราจะเอา AI เข้ามาใช้ในวงการการศึกษา เราควรจะต้องห้ามหรือเปล่า? ซึ่งห้ามไม่ได้! เมื่อห้ามไม่ได้ทำอย่างไรดี?” ผอ.NECTEC กล่าว
ดร.ชัย กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยทางสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังพิจารณา คือ “ทำอย่างไรให้ AI เข้ามาอยู่ในการเรียนการสอนได้โดยที่ 1.ครูไม่ตกงาน กับ 2.เด็กยังได้พัฒนาทักษะตามรายวิชาที่ต้องการ” ซึ่งต้องใช้แนวทางการเรียนการสอนแบบ Active Learning (สร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียน) ต่างจากการเรียนการเรียนการสอนแบบตั้งเดิม หรือ Traditional Leaning) ที่มีครูอยู่ด้านหน้ากระดานคอยสอนนักเรียน
ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน การสอนแบบดั้งเดิมจะทำให้เด็กที่เรียนไม่ค่อยเก่งยิ่งถูกทับมากขึ้นและเงียบหายไปส่วนเด็กเก่งก็จะอยู่หน้าห้อง ในขณะที่ Active Learning ในทางทฤษฎีมีมานานแล้ว ทำอย่างไรที่ครูจะสามารถมีส่วนร่วม (Participate) กับเด็กเป็นรายคน และทำให้รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีทักษะเท่ากัน นำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน (Personalize Learning) แต่การทำให้เกิดขึ้นนั้นยากมาก เพราะครู 1 คน ต้องดูแลนักเรียนหลายสิบคนต่อ 1 ห้องเรียน อย่างไรก็ตาม AI สามารถทำสิ่งนี้ได้
“ถ้านักเรียน 1 คนมี AI ประกบอยู่แล้วครูเป็นคนควบคุม AI จะสามารถสอนเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูไม่มีวันตกงาน แต่ต้องทำงานหนักขึ้นในแง่ที่ว่าจะควบคุม AI อย่างไร? ดังนั้นครูต้องไปเก่งในด้านการเตรียมหลักสูตรในแบบที่ใช้เครื่องมือ AI” ดร.ชัย ฝากประเด็นชวนคิด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี