“เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วัน ประชาชนคนไทยก็จะมีโอกาสได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. 2562”..หลังจากที่เว้นวรรคความเป็นประชาธิปไตยมาเกือบ 5 ปี ช่วงนี้ก็จะเห็นบรรดาแกนนำและผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองเดินสายหาเสียงกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งการลงพื้นที่พบปะประชาชน การจัดเวทีปราศรัย และการประชันวิสัยทัศน์ผ่านสื่อว่าด้วยนโยบายด้านต่างๆ ซึ่ง 1 ในนั้นมีเรื่องที่น่าสนใจคือ “กัญชาเสรี” ว่าจะสามารถทำได้จริงหรือ?
สืบเนื่องจากต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 5 มี.ค. 2562 ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างเยี่ยมชมนิทรรศการงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ซึ่งมีการจัดแสดงต้นแบบการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ด้วย โดยตอนหนึ่งได้พาดพิงถึง “กัญชา 6 ต้น” ที่มีผู้เสนอว่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเองนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดังนี้
“หลายคนบอกว่าจะไปปลูก ถามว่าปลูกให้ใคร และจะไปขายใคร เราต้องมีการวิจัยก่อน และสกัดหาตัวยาออก ต้องอธิบายแบบนี้ ไม่ใช่พูดจาเลอะเทอะไปเรื่อย ต้องไปสร้างการเรียนรู้ในเรื่องดีมานด์ - ซัพพลาย (Demand - Supply) ว่ามาจากไหน ซัพพลาย คือการปลูก ดีมานด์ คือ การไปผลิตเป็นยา ที่มาจากดอก ต้น และใบ ซึ่งขั้นตอนมีเยอะแยะไปหมด ฉะนั้นอย่าไปหวังว่าจะปลูกกันคนละ 6 ต้น มันไม่ใช่มั้ง นี่ตนพูดในฐานะเป็นรัฐบาลวันนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับใคร ไม่ได้ว่าใครทั้งนั้น แต่อยากให้คนเข้าใจ”
แม้ความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้พาดพิงถึงใครโดยตรง แต่ในช่วงนี้พรรคการเมืองที่จริงจังกับเรื่องกัญชาที่สุดหนีไม่พ้น “พรรคภูมิใจไทย” ถึงขนาดที่มีคนภาพล้อทำนองโปสเตอร์ภาพยนตร์ “Weed Man” สมมุติบทบาทให้หัวหน้าพรรค “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นซูเปอร์ฮีโร่ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิในการใช้กัญชาของประชาชน ดังนั้นในค่ำวันเดียวกัน เมื่อเสี่ยหนูไปขึ้นเวทีปราศรัยของพรรคที่บริเวณริมถนนสายเอเชีย จ.นครสวรรค์ จึงได้ย้ำว่า “นโยบายกัญชา 6 ต้น ทำได้จริง” ปลูกภายใต้การดูแลของรัฐเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน ดังนี้
“เราเป็นพรรคแรกที่จริงจังในการชูนโยบายกัญชาเสรี พี่น้องมีสิทธิ์เข้าถึง และหารายได้จากกัญชา ต่อมานโยบายนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดี จนบางกลุ่มบางฝ่าย กล่าวหาว่า ขายฝัน และที่ท่านนายกฯ บอกว่าเราทำไม่ได้ เพราะท่านได้รับรายงานว่า นโยบายเราไม่ดี แต่ทั้งหมดเป็นเพราะคนที่รายงานท่าน เขาคิดไม่ทัน และไม่เคยคิดถึงประชาชน เพราะเขาไม่ได้มาจากประชาชน ผมขอถามว่า ถ้านโยบายเราห่วย แล้วคนจะพูดถึงหรือ เราขอย้ำว่า นโยบายกัญชา ไม่มีความเลอะเทอะ แต่เป็นเรื่องของสัญญา”
ก่อนหน้าวิวาทะข้างต้น ย้อนไปเมื่อ 18 ก.พ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ “พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562” สาระสำคัญคือ “การแก้ไขความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดประเภท 5” ซึ่งบรรดาพืชที่มีผลให้เสพติดได้ (เช่น กัญชาหรือกระท่อม) จะอยู่ในกลุ่มนี้ โดย “มาตรา 26/5” ระบุถึง “ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับอนุญาตให้ให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง” ประกอบด้วย 7 กลุ่ม คือ
1.หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
2.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
3.สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ “4.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาตตามข้อ 1 หรือ 3
ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมดังกล่าว สามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของ
ผู้ขออนุญาตตาม ข้อ 1 หรือ 3 ด้วย” 5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6.ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว และ 7.ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดในกฎกระทรวง
กล่าวโดยสรุปคร่าวๆ หากประชาชนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจการกัญชา เบื้องต้น 1.ต้องรวมกลุ่มกันจดทะเบียนในรูปวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งต้องไปตามช่องทางของกฎหมายที่รับรองนิติบุคคลดังกล่าวก่อน 2.เมื่อจดทะเบียนแล้วก็ต้องไปเข้าร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชนที่มีคณะด้านการแพทย์หรือเภสัช ฉะนั้นต้องย้ำไว้ก่อนว่า “ณ วันนี้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชาภายในครัวเรือน ไม่ว่าเพื่อจำหน่ายหรือแม้แต่มีไว้ใช้เอง” ใครที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดและมีโทษ
ส่วนในอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่..ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งเห็นคิดอย่างไร?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี