กรณีพรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีคุณไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค ได้มีมติของกรรมการบริหารพรรค ยกเลิกการเป็นพรรคการเมือง
ทำให้ สส. ของพรรคที่มีอยู่คนเดียว คือ สส.ไพบูลย์ นิติตะวัน จากระบบบัญชีรายชื่อ มีปัญหาว่าจะสามารถย้ายไปหาสังกัดพรรคอื่นภายใน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 กำหนดได้หรือไม่
พรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีคุณไพบูลย์เป็นหัวหน้าพรรค แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ประกาศตัวก่อตั้งก่อนใครๆ และประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯก่อนเพื่อน แต่ผลของการเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ คือ ผู้สมัคร สส.เขตไม่ชนะการเลือกตั้งเลย และทั้งพรรคได้คะแนนรวมกันทั้งประเทศเพียง 45,374 คะแนน
ด้วยอานิสงส์และปาฏิหาริย์ของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคนี้ได้ สส.เพียง 1 คน ด้วยการปัดเศษ
เช่นเดียวกันกับพรรคเล็กอีก 11 พรรค ที่มีสส.คนเดียว และได้อานิสงส์จากการปัดเศษคะแนน
พรรคการเมืองทั้ง 12 พรรคเหล่านี้ มีความไม่แน่นอนสูงมาก ที่สส.ของพรรคเหล่านี้อาจต้องหลุดจากตำแหน่งเช่นเดียวกับ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ที่เป็นสส.ได้เพียง 3 วันก็ต้องหลุดจากการเป็นสส. เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้สัดส่วนคะแนนของพรรคต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป
ยิ่งกว่านั้น พรรคเล็กเหล่านี้รวมทั้งพรรคประชาชนปฏิรูป จะต้องมีภาระที่จะต้องหาสมาชิกพรรคให้ครบ 5,000 คนในเดือนตุลาคมนี้ และต้องได้อย่างน้อย 10,000 คนในช่วง 4 ปีแรก นอกจากนั้น ยังต้องตั้งสาขาพรรคให้ได้ทุกภาค อย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง
พรรคประชาชนปฏิรูปโดยหัวหน้าไพบูลย์ อาจเล็งเห็นช่องทางรอด จากช่องโหว่ของกฎหมายที่ยกเลิกหรือยุบพรรคตัวเอง แล้วย้ายสส.ไปอยู่พรรคใหญ่เพื่อหนีความไม่แน่นอน
ปมปัญหาจึงมีอยู่ว่า
1) “พรรคใหม่” ของคุณไพบูลย์ คือ พรรคพลังประชารัฐ จะนำ สส.ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป ไปอยู่อันดับที่เท่าไรของบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ
2) คะแนน 45,374 ของพรรคประชาชนปฏิรูป จะนำไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ เพราะประชาชนจำนวนดังกล่าวที่เลือกพรรคประชาชนปฏิรูป ไม่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐ แต่หากถ้ารวมได้จะทำให้สัดส่วนของสส. แต่ละพรรคการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะจะมีการคำนวณใหม่โดยอาจไม่มีเศษคะแนนให้ปัด
3) หากการคำนวณใหม่กระทบพรรคการเมืองอื่น หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐเอง จะเกิดเหตุโต้แย้งสิทธิ์หรือไม่ เพราะอาจมีบางคนต้องหลุดจากการเป็นสส.
4) หากในอนาคต สส.ในสภา อาจลาออกหรือเสียชีวิต หรือเกิดเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สส.เขตจำนวนหนึ่งขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นบริษัทสื่อ จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ สัดส่วนของคะแนนก็อาจเปลี่ยนแปลงทำให้พรรคเล็กที่เคยได้สส.เพราะการปัดเศษคะแนนต้องหลุดไป เฉกเช่นเดียวกับพรรคไทรักธรรม ที่นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรค เป็น สส. ได้เพียง 3 วัน ต้องพ้นจากเป็น สส. เพราะมีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่
และหากการเลือกตั้งซ่อมครั้งใหม่ทำให้เกิดการคำนวณใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูปต้องเสียที่นั่ง สส. ไป (เช่นเดียวกับครั้งก่อนที่พรรคไทรักธรรมเสียที่นั่งไป) คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เป็นหัวหน้าพรรคและเป็น สส. คนเดียว จะยังเป็น สส. ต่อไปได้อีกหรือไม่
คุณไพบูลย์จะโต้แย้งได้หรือไม่ ว่าได้ย้ายพรรคไปเป็น สส. ของพรรคอื่นเรียบร้อยแล้ว
อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ยุบพรรคตัวเอง แล้วประกาศจะไปเป็น สส.ของ พลังประชารัฐ ถ้าเป็นสมัยก่อน บัตรเลือกตั้งสองใบ เขาได้เป็นบัญชีรายชื่อจากบัตรเลือกตั้ง ก็ถือว่ามีสถานะเป็น สส.แล้ว เมื่อยุบพรรคก็ไปหาพรรคใหม่อยู่ได้ใน 60 วัน แต่กติกาใหม่ บัตรเลือกตั้งใบเดียว จำนวน สส.บัญชีรายชื่อผูกอยู่กับคะแนนเขตที่เลือกพรรคนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า
1.โอนคะแนนไปให้พรรคใหม่ไม่ได้ เพราะตอนประชาชนกาบัตร เขาไม่ได้กาให้พรรคใหม่
2.กกต.ต้องคำนวณ สส. บัญชีใหม่ทั้งระบบ โดยตัดคะแนนพรรคคุณไพบูลย์ออก และจัดสรร สส.บัญชีรายชื่อจาก สส.ที่พึงจะมีแต่ละพรรคใหม่
3.คุณไพบูลย์ ต้องเลือกไปอยู่พรรคที่ได้ สส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม(หากเขารับ) และคงสถานะเป็น สส. (แต่หากไม่รับ ความเป็น สส.สิ้นสุดลง)
4.ไม่ควรจบง่ายๆว่า ยุบแล้วไปอยู่พรรคไหนก็ได้ทันที เพราะเช่นนั้น บรรดาพรรค 1 เสียงทั้งหลายจะทำตาม เพื่อหลีกความเสี่ยงในความไม่แน่นอนที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี หลังจาก 24 มีนาคม 2562 ว่าอาจถูก กกต.คำนวณใหม่ และหมดสภาพการเป็น สส. เช่นเดียวกับกรณีพรรคไทยรักธรรม
เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามอง และดูแนวการวินิจฉัยจาก กกต.ชุดปัจจุบันว่าจะมีมติอย่างไร
“รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพื่อคุ้มครองเอกสิทธิ์ สส. แต่กลับมีคนอาศัยช่องว่างนี้เพื่อประโยชน์ตัวเอง”
ผศ.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่าการกระทำของนายไพบูลย์ เป็นการเลี่ยงบาลีทางกฎหมาย เท่ากับเป็นความไม่เป็นธรรมภายในกฎหมายรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมี สส. ที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่รัฐธรรมนูญตั้งใจจะคุ้มครองเอกสิทธิ์ สส. กรณีที่พรรคการเมืองถูกยุบโดยกลไกรัฐธรรมนูญหรือกรณีที่ถูกพรรคการเมืองกลั่นแกล้ง
เช่น กรณีศาลสั่งยุบพรรคหรือพรรคถูกยุบโดยกลไกอื่น รัฐธรรมนูญต้องการคุ้มครองเอกสิทธิ์ความเป็น สส. เพราะเห็นว่า สส. ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน หรือกรณีที่ผู้มีอำนาจของพรรคการเมืองบังคับให้ สส. กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหาก สส.ไม่ยอมทำตาม อาจถูกกลั่นแกล้งโดยการใช้ “ข้อบังคับ” ของพรรค ในการยุบเลิกกิจการพรรค จนทำให้ สส. พ้นสภาพ ดังนั้นจึงคุ้มครองเอกสิทธิ์ สส. ให้ย้ายพรรคได้
แต่กรณีของนายไพบูลย์ เป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นสส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 มีคะแนนกว่า 4 หมื่นคะแนน ได้เข้ามาเป็น สส. ในสภาฯ แต่กลับใช้ “ข้อบังคับ” ของพรรค ยื่นเลิกกิจการพรรคการเมืองหรือยุบพรรค แล้วย้ายพรรคภายใน 60 วัน ตามเงื่อนไข มาตรา 91 (7) พ.ร.บ.พรรคการเมือง และมาตรา 101 (10) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์จากการยุบพรรค
รศ.เจษฎ์ กล่าวว่าแนวทางจากนี้ กกต. อาจเป็นผู้ตัดสิน หรือยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นไปได้ 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 คือการตีความกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยนายไพบูลย์ ไม่ควรได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์ สส. เพราะตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ต้องการคุ้มครอง สส. กรณีที่พรรคถูกยุบ เพราะศาลสั่งยุบ หรือกรณีผู้มีอำนาจในพรรคใช้ขอบังคับยุบพรรคเพื่อบีบ สส. แต่กรณีของนายไพบูลย์ ยื่นเลิกกิจการพรรคเอง และตั้งใจเลี่ยงบาลีทางกฎหมายเพื่อเป็นข้ออ้างย้ายพรรค
ดังนั้นเมื่อตีความตามแนวทางนี้ จะเท่ากับนายไพบูลย์ไม่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์ โดยพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ยื่นเลิกกิจการพรรคก็จะยุบไป แต่นายไพบูลย์จะไม่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์ สส. เท่ากับว่านายไพบูลย์ ต้องพ้นจากการเป็น สส.
แนวทางที่ 2 เป็นแนวทางที่ยืดหยุ่น เพราะอาจเห็นว่ากฎหมายมีช่องว่างให้ทำได้ คือนายไพบูลย์ สามารถย้ายไปอยู่พรรคใหม่
แต่คะแนนกว่า 4 หมื่นคะแนน ของพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ทำให้นายไพบูลย์ได้เป็น สส. จะไม่ถูกนำไปนับรวมกับคะแนนของพรรคนั้น เท่ากับนายไพบูลย์เป็น สส. ที่ไม่ใช่ สส.เขต และไม่ใช่ สส.บัญชีรายชื่อ ที่อยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
ส่วนกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปีนี้ (นับจากวันเลือกตั้ง) เป็นเหตุให้ต้องมีการคำนวณคะแนนใหม่ คะแนนกว่า 4 หมื่นคะแนน ของพรรคประชาชนปฏิรูป จะต้องอยู่ในตารางคำนวณ เสมือนว่าพรรคประชาชนปฏิรูปยังอยู่ เพื่อไม่ให้เสียระบบในการคำนวณคะแนน
อย่างไรก็ตาม หากมีการตีความไปในแนวทางที่ 2 เกรงว่าพรรคเล็กที่มี สส. แต่ได้คะแนนน้อย จะเลือกทำตามแนวทางของนายไพบูลย์ เพราะเมื่อได้ สส. แล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียต้นทุนในการบริหารจัดการพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นอีกต่อไป
หนีข้อห้ามรัฐธรรมนูญ?
วิบากกรรมของพรรคการเมืองเล็ก ที่มี สส.เพียง 1 คน ดูจะส่งผลหนักหนาสาหัส
1 พรรคหัวหน้าพรรคเป็น สส.ได้ 3 วัน ก็ต้องหลุดไป
อีก 10 พรรค พยายามจับมือผนึกกำลังต่อรองอยากได้ตำแหน่งบริหาร ก็ไม่ได้สมใจ
มาถึงพรรคประชาชนปฏิรูป ที่รักเดียวพลเอกประยุทธ์ ก็มีอันจะต้องยุบพรรค และไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร
พิษสงของรัฐธรรมนูญโดยแท้ใช่ไหม หรือจะเป็นฝีมือของการควบรวมพรรคการเมืองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งห้ามไว้
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี