ปรากฏข่าวองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ได้ประกาศ “ยกเลิก” การประกวด “ดาว-เดือน” หรือที่เรียกให้ดูดีว่า ประกวดทูตกิจกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในปีการศึกษา 2563 อย่างเป็นทางการ
ประกาศดังกล่าวระบุว่า จากการสำรวจขององค์การฯ มีนิสิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการประกวด “ดาว-เดือน” และควรให้ยกเลิกการประกวดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การประกวดไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตส่วนมาก แต่เป็นการให้ประโยชน์แก่คนเฉพาะกลุ่มมากเกินไป และควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมในเรื่องของความสามารถอย่างแท้จริงมากกว่าที่จะตัดสินใจในเรื่องของความสวยงามอย่างเดียว
ขอปรบมือให้คนรุ่นใหม่ที่คิดเป็น คิดนำหน้าคน
รุ่นเก่าบางคน บางหน่วยงานที่ยังนิยมการประกวดนางงาม ให้ความสำคัญของเรือนร่าง ร่างกายของคน
โดยเฉพาะเมื่อนำผู้หญิงมาประกวดความสวยของหน้าตา เรือนร่าง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหา ดังนี้
1. การให้รางวัลเป็นการให้ความชื่นชม กับเปลือกนอกของคน เป็นการเลือกปฏิบัติของสังคม ที่กีดกันผู้เกิดมามีลักษณะภายนอกไม่ตรงกับค่านิยม “ความสวย” ซึ่งเกิดในยุคสมัยนั้น ณ สถานที่นั้นๆ ซึ่งเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป แตกต่าง
สังคมกันไป “ความสวย” ที่ตรงใจก็เปลี่ยนไป
ขณะเดียวกัน กลุ่มคนจำนวนน้อยที่โชคดีเกิดมามีรูปร่างตรงสเปก ก็จะได้สิทธิพิเศษเหนือคนอื่นๆ
2. เมื่อสังคมให้ความสำคัญชื่นชมกับเรือนร่าง ความสวยของใบหน้า ก็จะจูงใจให้คนจำนวนมากรวมถึงเด็กเล็กและเยาวชนสนใจและใช้เวลาที่จำกัดส่องกระจก ภูมิใจในความงาม แทนที่จะใช้เวลาของชีวิตในการพัฒนาทักษะการทำงานที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะความฉลาดรอบรู้ในสังคม คิดค้นฝึกฝนตน ให้สอดคล้องกับยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
3. การคัดเลือกคนเข้าทำงานในหน่วยงานหลายประเภท จึงเลือกบุคคลที่ผิดฝา ผิดตัว ผิดประเภท เช่น เลือกแต่ผู้หญิงที่สวยทำงานแทนที่จะวัดกันที่ความสามารถ เช่น พิธีกรอ่านข่าวโทรทัศน์ ซึ่งต้องการคนรอบรู้ที่สามารถสื่อสารได้ชัดเจน ทั้งคำพูด และภาษากาย
หรือพนักงานต้อนรับแอร์โฮสเตส ที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ซึ่งในหน้าที่แล้วต้องการคนที่ฉลาด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี มีความคล่องแคล่ว ว่องไวในการทำงาน เพราะหน้าที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขณะการบิน จะต้องนำพาผู้โดยสารจำนวนมาก ที่ตกใจ หวาดกลัวให้รอดปลอดภัย และขณะปกติ จะต้องมีใจบริการ สามารถประสานงาน ตรวจสอบสิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย ต้องพบปะติดต่อกับคนหลากหลายประเภททั้งโรคจิต ขี้เมา และคนเรียบร้อยสุภาพ
สังคมไทยเคยเข้าใจผิดว่า แอร์โฮสเตสต้องเป็นผู้หญิง ต้องสาว ต้องสวย เพราะไม่ให้ความสำคัญกับความสามารถและประสบการณ์ที่ตรงกับงาน จึงล้อเลียนว่าเมื่อสูงอายุมากขึ้นเป็นพวก “แอร์กี่” หรือ“อีแก่”
4. หน้าตาและเรือนร่าง ก็มีความสำคัญ แต่จะสำคัญกับงานในบางลักษณะ เช่น งานบริการ พนักงานต้อนรับ หรือพบปะดูแลแบบผิวเผินเป็นครั้งคราว รวมทั้งงานบริการที่เกี่ยวพันทางเพศ เพราะรูปร่างหน้าตาเป็นเครื่องพึงใจของเพศตรงข้าม
นิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ของไทย ไม่จำเป็นต้องเน้นความสวยความงามที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่นนี้ การประกวดการให้รางวัลจำเป็นต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสังคมโลกในปัจจุบัน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงแข่งขัน พร้อมเข้าใจในข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีใหม่
5. ในการประกวดนางงาม ไม่ว่าจะชื่อ “มิส.........” อะไรก็ตาม ผู้เข้าประกวดจะต้องวิเคราะห์และต้องรู้
เท่าทันว่า
• เรากำลังจะกลายเป็นสินค้าที่มีผู้ใช้เรือนร่างเราทำประโยชน์ทางธุรกิจหรือไม่ เพราะผู้สมัครเป็นจำนวนนับสิบ นับร้อย แต่มีผู้ได้รับรางวัล 5 คน และอาจมีคำยกย่องปลอบใจให้ดูไม่น่าเกียจให้เป็นขวัญใจช่างภาพ ขวัญใจคุณป๋าแก่ๆ บ้างก็ไม่มาก
• เราจะต้องสะพายแถบผ้าแนบอก ชื่อสินค้า ชื่อบริษัทธุรกิจ บนเรือนร่างที่โป๊ ดึงดูดสายตาผู้ชมมาที่หน้าอกและชื่อสินค้า เป็นการขายควบสินค้าบนความงามของ
เรือนร่าง
• การจัดประกวดอาจมีการขายบัตรให้คนมาชมเรือนร่างของเรา ที่ต้องแต่งชุดที่เปิดเรือนร่างมากที่สุดซึ่งเป็นชุดบังคับ มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์พร้อมสปอนเซอร์โฆษณาในรายการถ่ายทอด ทำรายได้นำมาแบ่งกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตัวผู้เข้ารอบสุดท้าย 5 คนก็ได้รับแบ่งผลประโยชน์ไปบ้างเล็กน้อย
• มีการตั้งชื่อประกวด มิสยูนิเวิร์ส มิสเวิลด์มิสไทยแลนด์ มิสทีน มิส..... ผู้หญิงที่เข้าประกวดต้องรู้ทันว่า เป็นชื่อของบริษัท เช่น บริษัทมิสยูนิเวิร์ส หาได้เป็นองค์กรจักรวาลอะไรไม่ และถ้าเราชนะก็ไม่ได้เป็นนางงามจักรวาลอะไรที่ไหน แต่เป็นนางงามของบริษัทจัดประกวดชื่อ“บริษัทมิสยูนิเวิร์ส” เท่านั้นเอง
• ผู้เข้าประกวดอาจมองว่า การประกวดเป็นเรื่องท้าทาย ที่ทำให้เราต้องพัฒนาความงาม บุคลิกภาพในช่วงเวลาประกวด แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน มีแนวทางอื่นในการพัฒนาบุคลิกภาพโดยไม่จำเป็นต้องกลายเป็นสินค้า เหมือนการประกวดสุนัข ประกวดม้า ประกวดแมว ได้หรือไม่
• ผู้เข้าประกวดบางคนอาจประสบความสำเร็จ จะโด่งดังเป็นที่หมายตาของผู้มีอำนาจซึ่งมีรสนิยมประเภทนี้ หรือบางคนก็มีชื่อเสียงทางธุรกิจของตนต่อไป แต่มีกี่คนที่ทำได้เทียบกับจำนวนคนที่เข้าประกวดทั้งหมด
แต่หากชอบประสบความสำเร็จ แบบรวยทางลัดหนูตกถังข้าวสาร เป็นโอกาสที่จะใช้สายตาจิกผู้อุปถัมภ์ ก็ต้องเสี่ยงดวงเอาเองว่าจะพบต้องอยู่กับคนเช่นไร ไปตลอดชีวิต
• ผู้เข้าประกวดต้องรู้ทันว่า การที่เขาวัดความสามารถในการตอบคำถามบนเวที หรือทำกิจกรรม เป็นเพียงตัวเสริมที่คนจัดประกวดต้องการกลบเกลื่อนหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอาคนมาประกวดเรือนร่างไม่สร้างสรรค์ จึงได้มีสัมภาษณ์สั้นๆ 1-2 นาที หรือทำกิจกรรมสั้นๆ ซึ่งวัดอะไรและพัฒนาอะไรไม่ได้มากนัก
คำชม รางวัล กับพฤติกรรม
คำชม เป็นรางวัลที่สำคัญให้กับผู้ถูกชม หากจะแยกคำชมอาจแยกหยาบๆ ได้เป็น 2 ประเภท
1) สวย รวย เก่ง
2) ขยันดี เอาใจใส่มาก รอบคอบจังเลย
การชมแบบแรก จะทำให้คนถูกชมได้รับคำชมแบบรวบยอด ไม่รู้ว่าสวยที่ตรงไหน รวยอย่างไร และเก่งในเรื่องอะไร หากคนได้รับคำชมเช่นนี้ตั้งแต่เด็ก ก็จะคิดไปได้ว่า เราเก่งกว่าคนอื่น เรารวยกว่าคนอื่น และเราสวยกว่าคนอื่น การชมเช่นนี้อาจทำให้คนหลงตัวว่าแน่กว่า ดีกว่า และจะมีพฤติกรรมประเภทจมไม่ลง เมื่อผิดหวังอาจบาดเจ็บทางใจ ทำร้ายตนเองได้
การชมแบบที่สอง เป็นการชมที่พฤติกรรม ทำให้ผู้ได้รับคำชมรู้ว่า ที่เราเรียนได้เกรดดี เป็นเพราะเราขยัน เอาใจใส่ รอบคอบ และจะต้องรักษาความดีให้สมคำชม ถึงต้องขยันเอาใจใส่ รอบคอบมากขึ้น ต่างกับการชมแบบแรกที่ไม่สร้างสรรค์ให้มีการพัฒนาและคงพฤติกรรมที่ดีต่อไป
การประกวดความเก่งของการเรียน ที่จัดอันดับนักเรียนได้ที่ 1, 2, 3, … จึงถูกยกเลิกไปแล้ว มาครั้งนี้ การประกวด “ดาว-เดือน” คนรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯก็ยกเลิกไปแล้ว จึงขอชื่นชมในความคิด
และอดคิดไม่ได้ว่า เมื่อไรผู้ใหญ่จะคิดเป็นเลิกประกวดนางงาม เพื่อหาประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
เมื่อคำชมเป็นรางวัลมีความสำคัญเช่นนี้ ผู้ชมคนอื่นก็ต้องเลือกที่จะชมให้สร้างสรรค์ และตรงกับใจของคนที่
ถูกชมด้วย
• ถ้าจะชมนางละคร นางเอก ดาราหนัง คนเดินแบบ สาวบริการต่างๆ ว่า “สวย” เขาคงพอใจ แต่ไม่ค่อยสร้างสรรค์ในพฤติกรรม เพราะไม่รู้ว่าสวยตรงไหน อย่างไร
• ถ้าจะชมแพทย์ ชมนักวิชาการ ชมนักศึกษาว่า “สวย” คงไม่ตรงใจ ไม่ชุ่มฉ่ำใจ แต่ถ้าชมว่าฉลาดหลักแหลม คิดไกล รอบรู้ และลงรายละเอียดประเด็นที่ดีที่ชื่นชม ก็จะยิ่งดียิ่งสร้างสรรค์
คำถามคือ ถ้าจะชมนักการเมือง จะต้องชมอย่างไรจึงสร้างสรรค์ และสร้างความพอใจ
ถ้าจะชมทหารอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ดี จะต้องชมอย่างไร จึงสร้างสรรค์
โดยเฉพาะหากจะชมนักการเมืองที่มาจากทหารอาชีพ เราควรชมอย่างไร จึงสร้างสรรค์กับสังคม และเกิดความพอใจกับผู้ได้รับคำชม
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี