การได้มาซึ่งประชาธิปไตยมิใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ทันทีทันควันหากแต่ต้องใช้เวลา ส่วนเผด็จการนั้นขึ้นอยู่กับการใช้กำลังอำนาจโดยกลุ่มคนน้อยนิดที่มีความได้เปรียบเหนือประชาชนส่วนใหญ่แต่อย่างเดียว แตกต่างกับการได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มิใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ทันทีทันควัน เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันร่วมกันเสริมสร้าง เนื่องจากเป็นกระบวนการ (Process) ซึ่งต้องมีกรอบและกลไก และการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนพลเมือง และประชาธิปไตยต้องใช้วันเวลาแก้ไขปรับปรุงตัวเองได้เป็นระยะๆ เมื่อมีความจำเป็น
ในสังคมแต่โบราณกาล เช่น ที่อาณาจักรกรีกและอาณาจักรโรมัน ประชาธิปไตยยังจำกัดอยู่ที่ชนชั้นสูง มีชาติเชื้อวงศ์ตระกูล มีทรัพย์สิน และอาวุธยุทโธปกรณ์ พวกทาส ชาวบ้านทั่วไป และสตรีเพศ มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย แต่ในที่สุดแล้วก็ได้มีการยกเลิกระบบทาส และประชาชนโดยทั่วๆ ไปมีสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วม และการเข้าสู่อำนาจ สตรีเพศก็เริ่มจะมีสิทธิเท่าเทียมกับเพศชายขึ้นมาในโลกตะวันตกเมื่อประมาณ 100 ปีกว่านี้เอง ส่วนเรื่องคนผิวสีที่มิใช่คนผิวขาว จะได้รับการเปิดรับและยอมรับให้เข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ และในที่สุดที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรก็ได้เห็นคนผิวสีเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตามลำดับเมื่อไม่กี่ปีมานี้
อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประชาธิปไตยก็เผชิญกับอุปสรรคท้าทายมาโดยตลอด เช่น
- การตกค้างเหลืออยู่ของความคิดอ่านแบบโบร่ำโบราณหรืออนุรักษ์นิยม เช่น กลุ่มผู้คนชั้นนำบางส่วนในสังคมจะต้องมีตำแหน่งหรืออำนาจทางการเมืองโดยปริยาย หรือเป็นสิทธิพิเศษ
- กลุ่มผู้มีทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งได้ใช้เงินตราในการเข้าซื้อตำแหน่ง สนับสนุนสมัครพรรคพวกให้เข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง หรือนัยหนึ่งระบบทุนนิยมเข้าครอบครองประชาธิปไตย
- กลุ่มนายทหารที่มีความนึกคิดว่า ภาระหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองความมั่นคงของประเทศชาตินั้น รวมไปถึงการเข้าไปเป็นผู้บริหารปกครองบ้านเมืองด้วย
- กลุ่มความเชื่อถือแบบสุดโต่ง งมงาย ไร้เหตุผลว่ากลุ่มศาสนาของตน หรือกลุ่มนิกายศาสนาของตน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเท่านั้นที่ควรจะเป็นใหญ่ในสังคมประเทศของตน
- กลุ่มคนที่มีความคิดอ่านและมีพละกำลังทั้งทางด้านการเงินและตำแหน่ง ที่ร่วมกันทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือรัฐหลังฉากฝังลึก (Deep State) เพื่อกำกับควบคุมและหันเหความเป็นไปในประเทศ
- ความล้มเหลวในเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองแบบธรรมาภิบาล อันสืบเนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจโดยมิชอบ
- ความอ่อนแอของสังคมในเรื่องจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรม
- ความเห็นแก่ตัวและความไม่กล้าหาญของคนดี คนที่มีความสามารถในการที่จะแสดงตัวออกมาต่อสู้กับเรื่องราวและผู้คนที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย เป็นต้น
บางส่วนในสังคมก็มีความเห็นว่า เรื่องเลวร้ายต่างๆ ดังกล่าวไม่สามารถที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ จนเกิดความท้อแท้และเหนื่อยระอากับเรื่องประชาธิปไตย ก็เลยเห็นว่า ถ้าไปเอาระบอบเผด็จการเข้ามาใช้ในประเทศจะดีกว่า บ้านเมืองจะได้มีเสถียรภาพ และจะมีกลุ่มผู้สั่งการได้เร็วไว โดยประชาชนพลเมืองเป็นผู้รับคำสั่งและปฏิบัติตามอย่างทันทีทันใด
แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่ก็ยังมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยให้ความเป็นอิสรเสรี และการใช้สิทธิเสรีภาพ และไม่มีผู้ใดอยากถูกกดขี่ ถูกบังคับข่มเหง แต่ถ้าจะทำการหนึ่งใดก็มักจะขาดความพร้อม และขีดความสามารถในการรวมตัว จึงเป็นเรื่องที่ว่า ในกลุ่มมวลชนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยนั้นจะมีผู้ที่จะอาสาเข้ามานำพาทางด้านความคิดและการบริหารจัดการหรือไม่ ซึ่งก็มิใช่เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ การขาดการระดมความคิด การปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางเพื่อหาข้อยุติร่วมกันให้ได้
ในกรณีสังคมประชาธิปไตยของไทยมีหลายฝักหลายฝ่ายที่อยากให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ปัญหาคือหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ว่าโครงสร้างและเนื้อหาประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร แต่มักจะขึ้นอยู่กับว่าใครมีเสียงมาก ใครมีพละกำลังมากกว่า ก็มักจะเป็นผู้นำพาสาระเนื้อหาและทิศทางของประชาธิปไตยของสังคมไทย โดยเอาความนึกคิดและพลังอำนาจตนเองเป็นที่ตั้ง ประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องของกลุ่มผู้มีอำนาจในแต่ละช่วงยุคนั้นๆ เป็นผู้นำพา ประชาธิปไตยของสังคมไทยจึงมักจะเป็นแบบฉบับของกลุ่มผู้นำชุดหนึ่ง แต่มิใช่ของประชาชนพลเมืองร่วมกันทั่วไป ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องมีการระดมความคิดกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องโครงสร้าง การบริหารจัดการ และสาระเนื้อหาของการเป็นสังคมประชาธิปไตย ที่จะนำเอาความคิดอ่าน ประสบการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อถือของประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เข้ามาเปรียบเทียบ เข้ามาประกอบ ผสมผสานให้เหมาะสมได้
ทั้งหมดนี้เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยยั่งยืน ประชาชนพลเมืองต้องมีส่วนร่วม แล้วก็ต้องร่วมกันปฏิเสธและป้องกันมิให้สิ่งท้าทายบ่อนทำลายประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้น ให้ได้คงอยู่ต่อไปอีก
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี