ตั้งแต่ทราบว่ารัฐบาลทหารนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมเองก็เกิดความหวั่นไหว และไม่แน่ใจมาโดยตลอดว่า ราชอาณาจักรไทยเราจะได้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่จัดวางโครงสร้างและสาระเนื้อหาที่จะอำนวยให้ราชอาณาจักรไทยเป็นประชาธิปไตยแบบสากล เสมือนกับราชอาณาจักรประชาธิปไตยอื่นๆ หรือไม่?
(ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น และมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรา หรืออังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก ในทวีปยุโรป)
นั่นก็เพราะเมื่อได้เห็นรายชื่อกรรมาธิการยกร่างทั้งชุดผมก็พอรู้จักมักจี่ว่าใครเป็นใคร โดยส่วนตัว ผมก็ไม่เชื่อว่าเขาเหล่านั้นเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อีกทั้งก็เห็นว่าฝ่ายกองทัพซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินในขณะนั้น น่าจะต้องเข้ามามีอิทธิพลต่อคณะกรรมาธิการยกร่างอย่างแน่นอน
แต่ในที่สุดได้ปรากฏว่าผลการลงประชามติร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ก็มีประชาชนพลเมืองที่เห็นด้วยมากกว่าประชาชนพลเมืองที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายผู้ที่เห็นด้วยก็เป็นประชาชนพลเมืองโดยทั่วๆ ไป ที่มิได้ไปมีส่วนร่วมในการยกร่างอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง จึงไม่ได้ทันสังเกตว่าร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญชุดนี้นั้นมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย หากแต่มีความประสงค์ที่จะได้เห็นราชอาณาจักรไทยกลับสู่สังคมประชาธิปไตยที่จะมีการเลือกตั้งและมีผู้แทนราษฎรโดยไว ก็ถือเป็นความเพียงพอและพึงพอใจแล้ว
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น ก็มีความเห็นว่าร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นผลพวงของการปฏิวัติรัฐประหาร และถูกครอบงำการร่างฯ จากการนำพาของทางฝ่ายกองทัพที่เป็นเผด็จการ มีข้อบกพร่องมากมาย และไม่เสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยในระยะยาว จึงเห็นว่าร่างฯ ฉบับดังกล่าวขาดความชอบธรรม และความน่าเชื่อถือ
จนกระทั่งกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ได้มีการบังคับใช้มาจนทุกวันนี้ ก็ได้แสดงให้เห็นแน่ชัดว่า ข้อบกพร่องที่ฝ่ายคัดค้านได้ป่าวร้องนั้นเป็นเรื่องจริง แทนที่จะเสริมสร้างการเมืองประชาธิปไตย ข้อกำหนดหยุมหยิมต่างๆ กลับฉุดรั้ง สร้างความถดถอยของประชาธิปไตยไปอีกยิ่งด้วยกฎเกณฑ์กติกาที่สลับซับซ้อนในการจะไปแก้ไข ยกเลิกหรือเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ราชอาณาจักรไทยเป็นประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์แบบ ก็ถูกล็อกเอาไว้อย่างแยบยล เสมือนตั้งใจว่าจะให้ราชอาณาจักรไทยคงความเป็นสังคมกึ่งประชาธิปไตยและกึ่งอำนาจนิยมไปตลอดกาล
ปรากฏการณ์สำคัญๆ ที่บ่งบอกอย่างแน่ชัดว่า ประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทยถูกลิดรอนและจำกัดจำเขี่ยแฝงด้วยการกันออกซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมืองให้มากที่สุด จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มี อาทิ
1.การได้มาซึ่งตัวนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ด้วยการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ เสนอรายชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพรรคละ 3 คน กลายเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของบรรดาพรรคการเมืองที่มิได้มีการบริหารจัดการภายในที่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใดอีกทั้งไม่ว่าพรรคการเมืองจะเสนอผู้ใดขึ้นมาก็ตามแต่ด้วยกลไกที่วุฒิสมาชิก (ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ) มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ได้ทำให้ประเทศไทยเราก็ได้เห็นนายกรัฐมนตรีชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีประวัติการเป็นผู้นำการทำรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และแม้ในกาลต่อมา ที่วุฒิสมาชิกหมดอำนาจเฉพาะกาลในการร่วมเลือกนายกฯ ประเทศเรากลับได้ นายเศรษฐา ทวีสิน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร มาเป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่สองคนนี้ไม่ได้เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองอะไรมาก่อนเลย นอกจากมีคุณสมบัติของผู้มีอันจะกิน มีธุรกิจครอบครัวที่อำนวยให้มีตำแหน่งบริหารประเทศที่ได้รับมาโดยไม่ต้องไต่เต้า พยายามฝ่าฟันพิสูจน์ฝีมือบริหารบ้านเมือง จะเรียกว่าราชรถมาเกยก็คงว่าได้
2.ดังที่กล่าวว่า วุฒิสภาชุดแรกเป็นวุฒิสภาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายกองทัพส่วนวุฒิสภาชุดปัจจุบันก็มาจากผู้สมัครเป็นวุฒิสมาชิกจำนวน 40,000 คน ด้วยการเลือกกันเองผ่านกติกาที่ซับซ้อน ชวนงง โดยที่ประชาชนพลเมืองอีก 60 กว่าล้านคน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลย ซึ่งวิธีการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกจำนวน 200 คน ก็เป็นคดีความกันอยู่ในขณะนี้ดังที่ทราบกันดีอยู่ ปัญหาดังกล่าวล้วนมีที่มาจากความพิสดารในการกำหนดกติกาการคัดเลือกวุฒิสมาชิก ซึ่งหากไม่แก้ไข อีก 4 ปี เมื่อถึงวาระเลือกตั้งวุฒิสมาชิกชุดใหม่ เราก็จะวนกลับมาที่จุดเดิม
3.ในระบอบประชาธิปไตย พรรค การเมืองเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรในระดับแรก และคณะรัฐมนตรีในระดับที่สอง แต่การบริหารจัดการภายในพรรคการเมืองไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะพรรคการเมืองต่างมีเจ้าของซึ่งมักจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งทางด้านการเงินธุรกิจ และตำแหน่งหน้าที่และเครือข่ายในแวดวง
ราชการ พรรคการเมืองจึงเป็นเสมือนอุตสาหกรรมครอบครัว สมาชิกพรรคเป็นแค่ตัวเลข มิได้ร่วมกันเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง เมื่อพรรคการเมืองมิได้เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เป็นตัวตั้งและกรอบที่มิได้มีสมาชิกร่วมเป็นเจ้าของและบริหารจัดการ พรรคการเมืองก็มิได้สามารถทำตัวให้เป็นองค์กรประชาธิปไตยได้ และเมื่อไม่ได้เป็นองค์กรประชาธิปไตยพรรคการเมืองก็มิสามารถที่จะเข้ามาดำรงตนเพื่อความเป็นปึกแผ่นและความเจริญก้าวหน้าของสังคมประชาธิปไตยได้
4.การกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นไปของสังคมทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย แต่ทว่าชาวกรุงเทพฯ
5 ล้านคน เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แต่ทำไมประชาชนพลเมืองอีก 60 กว่าล้านคนใน 76 จังหวัดกลับมิสามารถเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองได้? สังคมไทยจึงเห็นความเหลื่อมล้ำในการเลือกปฏิบัติระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัด อีกทั้งในแต่ละจังหวัดก็มีทั้งฝ่ายปกครองที่เป็นข้าราชการที่มาจากส่วนกลางและมีทั้งผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งเป็นระบบผสมผสาน ซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีระบบนกสองหัว
5.กระทรวง ทบวง กรม สามารถออกกฎเกณฑ์กติกา ข้อบังคับ บทลงโทษ ไปจนถึงการให้สินบนหรือรางวัลตอบแทนได้ โดยที่กฎเกณฑ์กติกาในระดับข้าราชการประจำนั้นขาดความเกี่ยวโยงกับทางฝ่ายรัฐสภา หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในเรื่องการให้ความเห็นชอบและในเรื่องการตรวจสอบเสมือนว่าฝ่ายข้าราชการประจำมีอำนาจทางนิติบัญญัติในระดับหนึ่ง อีกทั้งการปรับหรือลงโทษก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องไปขอความเห็นชอบจากกระบวนการศาลยุติธรรม
6.ประชาชนพลเมืองเป็นเจ้าของประเทศแต่ก็ต้องเผชิญกับเรื่อง “ความลับราชการ” เช่น ในกรณีล่าสุดคือ เอกสารท่าทีการเจรจาการค้า รวมทั้งภาษีศุลกากรกับฝ่ายสหรัฐอเมริกานั้น ปรากฏว่า หัวหน้าคณะผู้แทนไทยคือ รัฐมนตรีคลังประกาศว่า เป็นเรื่องลับ เปิดเผยมิได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับประชาชนพลเมืองทั้งประเทศที่ควรจะได้รับรู้หรืออย่างน้อยได้รับทราบผ่านผู้แทนของเขาในรัฐสภาอีกทั้งเรื่องการเจรจาค้าขายมิใช่เรื่องสลับซับซ้อนหรือเป็นเรื่องความลับความมั่นคงแต่อย่างใด ฝ่ายรัฐบาลโดยรัฐมนตรีคลังดูจะละเมิดอำนาจหน้าที่และละเมิดความเป็นเจ้าของประเทศของประชาชนพลเมือง
7.ราชอาณาจักรไทยเรามีองค์กรอิสระเหมือนกับประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วแต่การทำงานทำการจะเป็นเรื่องของการ “รอ” ให้ผู้คนมายื่นเรื่องยื่นราว แล้วค่อยพิจารณา จึงขาดการ
ทำงานทำการที่เรียกว่า proactive หรือถึงลูกถึงคนคือเมื่อมีเรื่องราวไม่พึงควรเกิดขึ้นในประเทศแทนที่จะรอให้เรื่องมาถึงมือ ก็ควรจะลงจากบัลลังก์ หรือออกจากห้องทำงานไปสอดส่องดูแลแก้ไขประเด็นปัญหา ตั้งแต่ต้นลมหรือต้นทางอย่างไม่รีรอ
กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ได้ถูกใช้มาร่วม 8 ปีแล้ว ปัญหาต่างๆ ได้เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย แต่พรรคการเมืองทั้งหลายและคณะรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ดูจะทำตัว
ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทั้งๆ ที่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ในหลายๆ เรื่อง ในเมื่อมีบุคลากรของตนนั่งเป็นผู้แทนราษฎรหน้าสลอนกันอยู่แล้ว แต่มิได้ทำตัวเป็นผู้แทนราษฎรอย่างขะมักเขม้น แล้วก็ได้แต่พูดว่าจะต้องมีการลงประชามติ และการจัดตั้ง ส.ส.ร. กันเสียก่อน ขณะที่สังคมประชาธิปไตยก็ทนทุกข์ทรมานของการมิได้เป็นประชาธิปไตยกันไปอย่างนี้
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี