ในหลักการว่าด้วยเสรีประชาธิปไตยก็มีเรื่องว่าด้วยการแยกออกจากกันระหว่าง วัด กับ รัฐ (Separation of Church and State) กล่าวคือ เรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องของศาสนา และเรื่องของรัฐก็เป็นเรื่องของรัฐ ต่างคนต่างอยู่ข้างเคียงกัน ไม่ปะปนกัน และไม่แทรกแซงกัน กล่าวคือฝ่ายวัดไม่เข้าไปครอบงำฝ่ายรัฐ และในแง่กลับกันฝ่ายรัฐก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวและแทรกแซงฝ่ายวัด แต่โดยทั่วไป ก็มักเป็นไปแบบไม่เด็ดขาด ดังจะเห็นได้จากการที่การสาบานตนเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็มีการสาบานตนต่อหน้าพระคัมภีร์ หรือในกรณีของสหราชอาณาจักร และราชอาณาจักรประชาธิปไตยยุโรปอื่นๆ ในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ ก็จะมีการสาบานตนต่อพระเจ้าด้วยพระคัมภีร์ และการร่วมในราชพิธีของผู้นำทางศาสนาคริสต์ เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันมิได้ แต่หลักการของการแยกวัดออกจากรัฐ ก็ยังคงอยู่ในแง่ที่ว่า ฝ่ายวัดมิได้มีส่วนเข้ามามีอิทธิพลหรือเกี่ยวข้องในเรื่องการบริหารบ้านเมืองของฝ่ายรัฐแต่อย่างใด และฝ่ายรัฐมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งตำแหน่งทางศาสนาใดๆ โดยให้เป็นเรื่องที่ฝ่ายวัดจะว่ากันไปเอง แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนฝ่ายศาสนาในระดับหนึ่งก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในประเทศทิเบตซึ่งถูกจีนยึดครอง ก็มีประเพณีปฏิบัติมาอย่างยาวนานว่าองค์ประมุขทางศาสนาพุทธ คือองค์ดาไล ลามะ เป็นผู้ควบตำแหน่งองค์ประมุขของฝ่ายรัฐด้วย โดยมีหลักธรรมเป็นตัวกำกับ ซึ่งมาบัดนี้ฝ่ายรัฐบาลจีนกำลังเข้าไปแทรกแซง และประกาศว่าฝ่ายรัฐบาลจีนเท่านั้นที่จะเป็นผู้แต่งตั้งองค์ดาไล ลามะ องค์ใหม่ เมื่อองค์ปัจจุบันสิ้นพระชนม์ลง เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาครอบงำฝ่ายวัดหรือศาสนาในทิเบต ดังที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กระทำอยู่ในผืนแผ่นดินใหญ่
ส่วนที่ประเทศอิหร่าน ได้มีการปฏิวัติสังคมเมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยฝ่ายศาสนานิยมล้มล้างระบอบกษัตริย์ และเปลี่ยนอิหร่านให้เป็นรัฐศาสนานำพาและครอบครอง องค์ประมุขทางศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ ก็เป็นผู้นำบริหารปกครองบ้านเมืองด้วย
ในหลายๆ ราชอาณาจักรอิสลาม องค์ประมุขหรือพระมหากษัตริย์ หรือสุลต่าน ก็เป็นทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางศาสนา ที่ใกล้บ้านเราก็คือที่ประเทศบรูไน และไกลไปหน่อยก็บรรดา
ราชอาณาจักรอาหรับมุสลิมในตะวันออกกลางในกรณีของราชอาณาจักรมาเลเซียก็มีการผสมผสานระหว่างศาสนานิยมนำพากับการบริหารราชการแบบเสรีประชาธิปไตย คือ ตัวพระมหากษัตริย์ เรียกว่ายังดีเปอร์ตวนอากง เป็นผู้นำทางศาสนา แต่มิได้บริหารราชการบ้านเมืองแต่อย่างใด เหมือนกับราชอาณาจักรอิสลามที่บรูไน และตะวันออกกลางดังกล่าว โดยการบริหารราชการบ้านเมืองขึ้นอยู่กับรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ทว่าราชอาณาจักรอิสลามเหล่านี้ก็มีประเด็นปัญหาในแง่ที่ว่ากฎเกณฑ์คำสั่งสอนทางศาสนาบางเรื่องบางส่วนได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายบ้านเมือง เท่ากับว่าศาสนาได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับภาครัฐ ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็คงต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสม เมื่อมุ่งมั่นที่จะเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยของการแยกวัดออกจากรัฐดังกล่าว
สำหรับที่ประเทศไทย ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดขึ้นอยู่กับมหาเถรสมาคม บ่งบอกว่าภิกษุสงฆ์บริหารจัดการตัวเองในกรอบของมหาเถรสมาคม โดยกรมศาสนาและสำนักงานส่งเสริมพุทธศาสนา ก็มีภาระหน้าที่ในการบริการและอำนวยความสะดวกให้กับมหาเถรสมาคม ในการนี้มหาเถรสมาคมเป็นผู้ควบคุมความประพฤติและวินัยและดำเนินการถอดถอนความเป็นภิกษุสงฆ์ เมื่อมีกรณีที่ไม่บังควรเกิดขึ้น แต่ฝ่ายรัฐก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อมีการทุจริตเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติ เงินทอง ของวัดวาอาราม เพราะวัดอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคที่มาจากประชาชนพลเมือง และการทำนุบำรุงวัดวาอารามก็มักจะมีเรื่องงบประมาณวัดที่มาจากภาษีของประชาชนพลเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ฝ่ายรัฐก็ต้องดูแลสอดส่องเป็นสำคัญ หรือในกรณีที่ภิกษุสงฆ์มีตำแหน่งหน้าที่และอิสริยยศโดยฝ่ายรัฐ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ก็เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐได้ ส่วนการจะปาราชิกก็เป็นเรื่องของฝ่ายมหาเถรสมาคม
มาวันนี้คดีความอื้อฉาวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นอันควรก็มีมากมาย และได้สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งให้กับสังคมชาวพุทธ เมื่อมีภิกษุสงฆ์ผู้อาวุโสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งฝ่าย
มหาเถรสมาคม และฝ่ายรัฐก็ต้องร่วมมือกันอย่างเหมาะสม และดำเนินการแก้ไขไปตามภาระหน้าที่ของตนด้วยความสมดุล และไม่ล้ำเส้นกันแต่อย่างใด
ในการนี้ฝ่ายรัฐก็ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือครอบงำฝ่ายวัด เพราะวัดกับรัฐควรจะอยู่แยกกันให้มากที่สุด แต่ก็อยู่แบบเคียงข้างกันได้ เพื่อการแก้ปัญหาต่างๆ และการนำวัดกลับมาอยู่กับลูกวัดทั้งหลายอย่างถูกต้องด้วยธรรม
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี