ทั้งปัญหากับฮุนเซนแห่งกัมพูชา
ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ตกต่ำแหลกลาญ
ทั้งปัญหาภาษีทรัมป์ล่าสุด
ล้วนสะท้อนความไม่ได้เรื่องในการทำงานแบบไม่เป็นมืออาชีพ ไม่ใส่ใจ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ
และไม่เหลือความไว้วางใจให้รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์อยู่ทำลายประเทศชาติอีกต่อไปแล้ว
1. ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง หัวหน้าทีมไทยแลนด์ เปิดเผยว่า
“กรณีสหรัฐฯ เผยแพร่หนังสือแจ้งว่าจะเริ่มเก็บภาษีสินค้าจากไทย 36% ในวันที่ 1 ส.ค. 2568
แง่หนึ่ง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะมีเวลาในการเจรจาเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งเป็นโอกาสโน้มน้าวให้สหรัฐอเมริกาทบทวนอัตราภาษีอีก
ผมขอย้ำว่า ตอนนี้ ภาษียังอยู่ที่ 10% เหมือนเดิมยกเว้นบางสินค้าจนถึง 31 ก.ค. ซึ่งทีมเจรจาของไทยยังสู้และต่อรองอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะหาทางออกเพิ่ม เพื่อให้ไทยได้ข้อเสนอที่ดีที่สุดครับ
และตอนนี้ อเมริกาเปิดโอกาสให้ไทยเจรจา ถ้าไทยเปิดตลาดให้สหรัฐฯ มากขึ้น ลดภาษีและกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษีลง สหรัฐฯ ก็พร้อมทบทวนอัตราภาษีให้เราใหม่
เรายืนยันในความตั้งใจที่อยากให้ข้อเสนอออกมาดีที่สุดครับ”
2. กรณีการเจรจากับทรัมป์ แน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก
แต่ปัญหาสำคัญ นอกจากคำตอบ 36% ที่เขาให้มานั้น
คำตอบของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ที่รัฐบาลต้องหาคำตอบเอง คือ เราจะรับมืออย่างไร?
จะปรับทิศทาง ยุทธศาสตร์ ความร่วมมือกับชาติอื่น ตลาดใหม่ ?
และจะดูแลบรรเทาจัดการประชาชนที่ได้รับผลกระทบในบ้านเราอย่างไร?
มีอะไรให้เกิดความเชื่อมั่นสำหรับคนไทยบ้าง?
ไม่มีเลย !!!
ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีเวลาเตรียมตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ย้ำ ปีที่แล้ว
มาทราบอัตรา 36% อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนเมษายน (เช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก)
จนบัดนี้ ผลงานการเจรจา ถือว่าแย่กว่ากัมพูชาเสียอีก
เพราะกัมพูชา ได้ลดภาษีโต้ตอบลงจากเดิม
แต่ไทยเรา โดนคงอยู่ที่ 36%
รัฐบาลเอาเวลา เอาสมาธิไปมุ่งอยู่กับการแย่งเก้าอี้จากพรรคร่วม เพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าจะสำเหนียกถึงความรับผิดชอบต่อการแก้วิกฤตของบ้านเมือง
3. คุณพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย Pipat Luengnaruemitchai ให้ข้อคิดและคำแนะนำที่น่าสนใจ บางส่วนระบุว่า
“1. เจ็บมากกว่ายอดส่งออกหาย
ปัญหาคือสหรัฐอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเราในการเจรจา เพราะเราพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐพึ่งพาเรา
ส่งออก - สหรัฐฯ รับราว 18% ของมูลค่าส่งออกไทย (กว่า 55 พันล้านดอลลาร์) ถ้าโดนภาษี 36% คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโกพร้อมเสียบ คำสั่งซื้ออาจหายทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง
ภาคการผลิต ที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว อาจโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงโดนเลิกจ้าง หรือต้องย้ายสายการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ
เสน่ห์ FDI หาย – นักลงทุนคงถามตรงๆ ว่า “ตั้งโรงงานไทยแล้วต้องโดนภาษี 36% ทำไมไม่ไปเวียดนาม?” เงินลงทุนเทคโนโลยี EV-AI อาจไหลออกตั้งแต่ยังไม่เปิดสายการผลิต
2. Tradeoff ที่ไม่ง่ายเลย
เรากำลังโดนบังคับให้เลือก (trade off) ระหว่างภาคส่งออกซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย กับเปิดตลาดให้สหรัฐเพิ่ม
ซึ่งอุตสาหกรรมที่เราปกป้องมากที่สุดทั้งภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เช่น quota และ import bans) คือภาคเกษตร แม้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่จ้างงานจำนวนมาก และมีผลต่อธุรกิจใหญ่เล็กมหาศาล
การเปิดตลาดคงกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแน่ๆ
ส่วนอีกเงื่อนไขสำคัญ คือการป้องกันสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับจีน
3. การเมืองในบ้าน-ยากกว่าเจรจานอกบ้าน
ในภาวะที่การเมืองขาดเอกภาพ และเสถียรภาพ การทำงานสามกระทรวงหลักอยู่คนละพรรค คำถามคือใครจะเป็นคนเคาะ และจะเคาะได้หรือไม่ ยังไม่นับว่าบางข้อเสนออาจจะผ่านสภาอีก
Internal negotiations อาจจะยากกว่า external negotiation เสียอีก
เราจึงมีกลไกในการพิจารณาพูดคุยโดยมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน ไม่งั้นมีปัญหาแน่นอน
4. แล้วเราควรต้องทำอย่างไร
ในเมื่อการเจรจาแบบ win-win น่าจะเป็นไปได้ยากในกรณีนี้ เราอาจจะต้องหาทาง give and take และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชยผลกระทบ
- เข้าใจสิ่งที่สหรัฐต้องการก่อน ถ้าดูสิ่งที่เขาได้จากเวียดนาม เข้าใจว่าสหรัฐต้องการให้เราเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non tariff barrier และจัดการกับเรื่องสินค้าสวมสิทธิ์ ซึ่งเราคงต้องพิจารณาผลกระทบของแต่ละเรื่องอย่างเข้าใจจริงๆ และเปรียบเทียบต้นทุนแต่ละทางเลือก
และคงต้องหาทางออกเรื่อง transshipment แบบเอาจริง เงื่อนไขคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่
- พิจารณาหาทางเปิดเสรีด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการลดผลกระทบ อย่างน้อยในระยะสั้น แต่ต้องหาวิธีชดเชยความเสียหายแบบเข้าใจจริงๆ
โดยต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจประเด็น และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือก และพูดคุย
- เรายังคงต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ดึงลงทุนเทคโนโลยี-มูลค่าสูง สิทธิประโยชน์ R&D, เครดิตภาษี ให้ EV parts, AI hardware, data center มาตั้งฐานในไทย Upskill แรงงานสู่ทักษะดิจิทัล-หุ่นยนต์ เพิ่มค่าแรงเฉลี่ยและผลิตภาพ
- War-Room เสียงเดียว • รวมคลัง-พาณิชย์-เกษตร-เอกชน ตัดสินรวดเร็ว ส่งสัญญาณชัดแก่สหรัฐฯ และนักลงทุนว่าประเทศ “เอาจริง”
- เร่งกระจายตลาดส่งออก ใช้ RCEP, CPTPP, GCC เร่งทำ FTA กับกลุ่มประเทศใหญ่อย่าง EU เพื่อกระจายตลาดจากสหรัฐฯ
บทสรุป
จดหมายฉบับนี้คือ the art of the deal เวอร์ชันเรียกค่าคุ้มครอง-บีบให้ไทยต้องเลือก จะยอมเสียบางอย่างตอนนี้ เพื่อไม่ให้เสียอนาคตทั้งหมด
หากเราเดินเกม Give-and-Take ค่อยๆ เปิดตลาดเกษตร พร้อมกันชน-ชดเชย และเร่ง “ยกระดับศักยภาพแข่งขัน”-ไม่เพียงแค่รอดภาษี 36% แต่ยังอาจใช้จังหวะนี้เร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยสู่มูลค่าสูงกว่าเดิมให้ได้”
4. รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ยำให้เห็นว่า ไทยเราต้องคิดเรื่องการเจรจาต่อรองโดยใช้ทุกเครื่องมือ
D-Diplomacy,
I-Information
M-Militaty
และ E-Economy
ระบุว่า
“ว่าด้วย #สงครามการค้า สหรัฐอเมริกา
หลังจากทบทวนจดหมาย 2 ฉบับที่ Trump ส่งถึงประเทศไทย ผมมีข้อสังเกตดังนี้
1. จดหมายไม่มีความเป็นทางการ ไม่มีธรรมเนียมและพิธีการทูต ภาษาที่ใช้มีปัญหา และแสดงให้เห็นว่า Trump ไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ ไม่มีความจริงใจ
2. เนื้อความมีการกล่าวหาชาติอื่นๆ โดยไม่มีหลักฐาน ไม่มีพื้นฐานความเป็นจริงรองรับ อาทิ กล่าวหาว่าสหรัฐขาดดุลการค้า และเสียผลประโยชน์เนื่องจากนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยประเทศไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงสาเหตุของการขาดดุลการค้าของสหรัฐเกิดจากความสามารถทางการแข่งขันของสหรัฐที่ตกต่ำ มาตรการกีดกันทางการค้าของไทยไม่ได้สูงถึงขนาดที่สหรัฐกล่าวหา และตัวเลข 36% ก็ไม่มีที่มาที่ไปอย่างมีหลักวิชาการรองรับ
3. สหรัฐเองก็ไม่มีการตั้งเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าเป้าหมายในการเจรจาการค้าร่วมกันคืออะไร เพื่อหาทางเจรจาร่วมกัน หากแต่สหรัฐเลือกที่จะใช้วิธีการของความไม่ชัดเจน โดยหวังจะได้รับการเปิดตลาดอย่างไม่มีเงื่อนไข (Total Access) รวมทั้งยังมีเป้าหมายแอบแฝงที่ทางการทหาร ความมั่นคง รวมทั้ง ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เอื้อให้กับเครือข่ายธุรกิจที่ใกล้ชิดผู้บริหารระดับสูง
4. ถ้าสหรัฐจะเน้นเรื่องสงครามภาษีว่าเป็นประเด็นความมั่นคง เราก็ต้องเจรจาด้วยมิติความมั่นคง ใช้แต้มต่อที่ไทยเป็นพันธมิตรที่ยาวนานกับสหรัฐ ตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่สหรัฐละเลยไม่ได้ และหากดำเนินการกับไทยแบบรุนแรง นั่นแปลว่าสหรัฐกำลังผลักไทยให้จำยอมต้องไปใกล้ชิดกับอีกขั้วมหาอำนาจ เราต้องมี war room ที่นำเอาทุกกระทรวง กองทัพ วิชาการ สื่อ มาวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยเน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นเป้าหมาย
5. เราต้องเริ่มเตรียมตัว เรียนรู้ พัฒนาตนเองในการที่จะต้องทำมาค้าขายให้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐ มาตรการรับมือ เยียวยาผลกระทบ และพัฒนาคนและผู้ผลิตของเราให้เข้มแข็งในแบบที่ทำได้จริง และมีธรรมาภิบาลโปร่งใส การแสวงหาโอกาสทางการค้าการลงทุนเชิงรุกในตลาดใหม่ ประเทศใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนโครงสร้างให้การบริโภคภายในประเทศกลายเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือสิ่งสำคัญ
แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ Si Vis Pacem, Para Bellum”
5. พิจารณาข้อคิดความเห็นทั้งของ ดร.พิพัฒน์ และ ดร.ปิติ ข้างต้นล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานความหวังดีต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติไทยส่วนรวม
แต่เมื่อมองไปที่สภาพความเป็นอยู่จริงของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ในปัจจุบันแล้ว ขอพูดตรงๆ ว่า ตัวรัฐบาลนี้เอง คือ “ตัวถ่วงประเทศชาติ”
ย้ำ รัฐบาลที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ ตัวถ่วงประเทศชาติ!!!
สภาพการเมืองของรัฐบาลทั้งไร้เสถียรภาพ ผลักดันอะไรผ่านสภาก็ไม่ได้ ต้องรีบปิดประชุมไปทุกครั้ง
พฤติกรรมมุ่งแต่หาอำนาจ เล่นเกมอำนาจ แต่ประสิทธิภาพการทำงานต่ำเตี้ย
คุณภาพคนมาเป็นรัฐมนตรีแย่ลงทุกครั้งที่ปรับครม.
แถมคนมีอำนาจตัวจริงก็ยังคอยบงการ รัฐมนตรีต้องคอยฟังเสียง และดูท่าทีผู้มีอำนาจนอกรัฐบาล
ทั้งๆ ที่ ควรทำงานประสานกับทุกภาคส่วนของประเทศไทย ไม่ใช่ทำตัวเป็นเหมือนฟรีแลนซ์ของผู้มีอำนาจนอกรัฐบาล
สภาพแบบนี้ ไม่สามารถทำอะไรตามคำแนะนำที่สร้างสรรค์ของใครได้เลย
วันนี้ ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ไร้ฝีมือที่แท้ทรู อยู่ไปก็เป็นตัวถ่วงประเทศชาติ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี