สังคมไทยได้ชื่อว่า เป็นสังคมที่เก่งกาจในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
เราผ่านพ้นวิกฤติมาได้หลายต่อหลายครั้ง เพราะฝีมือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
แต่ปัญหามีอยู่ว่า สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปได้เรื่อยๆ อย่างนี้ในอนาคตได้ตลอดไปหรือไม่
และนี่คือตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้น
1) กรณีฝุ่นละออง
ข่าวคราวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีฝุ่นละอองปกคลุมทั้งฝุ่นขนาดใหญ่และฝุ่นขนาดเล็กจิ๋ว
ถ้าจำกันได้ ฤดูแล้งที่ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน ก็เกิดเหตุฮือฮาแก้ปัญหาฝุ่นละอองเฉพาะหน้าด้วยการให้ประชาชนช่วยตัวเองสวมใส่หน้ากาก ปิดปาก ปิดจมูก ติดเครื่องกรองอากาศ พ่นละอองน้ำในอากาศ ตำรวจตรวจจับควันดำ ตรวจตราให้สิ่งก่อสร้างมีผ้าคลุมปิดมิดชิด และสั่งให้เกษตรกรหยุดเผาวัสดุการเกษตร หลายหน่วยงานอธิบายโยนความผิดให้กับอากาศเย็นที่ไม่เคลื่อนไหว
ทันใด เมื่อเกิดฝนโปรยปราย มีลมพัดผ่าน หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไปก็หยุดสนใจหยุดแก้ปัญหาและหวังว่าจะจบปัญหาแล้ว
แต่แล้ว ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝุ่นละอองทั้งใหญ่และจิ๋วกลับมา ผู้คนก็สนใจฮือฮากลับมาใหม่อีกครั้ง ต่างช่วยตัวเองด้วยการสวมหน้ากากปิดปากปิดจมูก หาเครื่องกรองอากาศ ฉีดน้ำ ฯลฯ เหมือนเดิม
พอมาถึงวันพุธและวันพฤหัสบดีที่มีฝนตกอากาศดีขึ้น เราก็เลิกสนใจอีกครั้ง
ความจริง เรารู้ว่าสาเหตุของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น
1. รถยนต์ดีเซลเก่าที่พ่นควันดำ ล้อรถบดเศษดินบนถนนทำให้ฟุ้งกระจาย
2. การก่อสร้างซึ่งต้องมีการเลื่อย ตัด เจียร ทุบ
3. โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควัน และฝุ่นออกสู่อากาศ
4. มีการเผาวัสดุการเกษตรที่ไม่ใช้ เช่น ตอซัง เป็นต้น
ถ้าหน่วยงานของรัฐและสังคมไทยไม่พิจารณาแก้ไขที่ต้นเหตุ เราก็ต้องแก้ปัญหาเช่นนี้ไปโดยตลอด
การสั่งให้เกษตรกรหยุดเผาวัสดุการเกษตรและตอซังดูจะนิยม เพราะเป็นของง่ายที่ใช้อำนาจเพื่อยุติปัญหา แต่หากจะเข้าใจปัญหาที่ต้นเหตุและหาหนทางที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผู้มีหน้าที่แก้ปัญหาจะต้องมีความอยากรู้ถึงเหตุผลต้นตอ ว่าทำไมเกษตรกรจึงเผาวัสดุทางการเกษตรที่ไม่ใช้ จะต้องเรียนรู้ว่าที่เกษตรกรเผาตอซังและวัสดุการเกษตร ก็เพราะต้องการลดต้นทุนในการขจัดของที่ไม่ใช้ ซึ่งการเผา เป็นการขจัดด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการฝังกลบ และที่สำคัญเป็นการขจัดแมลง
เชื้อโรค และศัตรูพืช
เกษตรกรแต่ละคน แต่ละราย จะนึกถึงต้นทุนของตนเองที่จะต้องบริหารให้ต้นทุนต่ำสุด ซึ่งในอดีตที่ปัญหาฝุ่นละอองยังไม่มาก การเผาวัสดุการเกษตรก็ไม่เกิดปัญหาอะไรมากมายนัก แต่เมื่อปริมาณฝุ่นจากแหล่งต่างๆ มาบรรจบกัน การเผาวัสดุเกษตรเพื่อลดต้นทุนของตัวเองก็เป็นการสร้างภาระต้นทุนให้กับคนอื่นๆ ในสังคม
ทางออก หรือการแก้ปัญหาที่ถาวรจะต้องกระทำที่ต้นเหตุ กล่าวคือ ศึกษาให้เข้าใจว่าทำไมเกษตรกรถึงเผา หากเป็นเพราะต้องการลดต้นทุน เพราะการฝังกลบจะเกิดต้นทุนที่สูงกว่า ทั้งค่าฝังกลบและต้องมีต้นทุนของการขจัดแมลง โรค และศัตรูพืช รัฐจึงสามารถกำหนดมาตรการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยอาจจัดเก็บภาษี (ค่าปรับ) กับ
ผู้ที่เผาในอัตราที่ทำให้ต้นทุนของการขจัดวัสดุการเกษตรโดยวิธีการเผาสูงขึ้น จนมากกว่าการขจัดวัสดุเกษตรด้วยวิธีอื่น หรือรัฐอาจจะใช้วิธีอุดหนุนเงินให้เกษตรกรเพื่อลดต้นทุนขจัดวัสดุการเกษตรด้วยการฝังกลบ เป็นต้น
กรณีรถยนต์ดีเซล แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่ขนส่งและตำรวจใช้อำนาจตรวจ จับ ปรับ สั่งให้หยุดวิ่ง ซึ่งก็ได้ผลในระยะสั้น แต่เจ้าของรถก็ใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นเดียวกัน โดยยัดเงินเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้วิ่งต่อไป จึงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยกันทั้งสองฝ่าย
หากรัฐบาลจะได้ศึกษาหาคำตอบว่า ทำไมเจ้าของรถดีเซลจึงนิยมใช้รถเก่านานปีที่ลูกสูบหลวม ก่อให้เกิดควันดำและฝุ่นละออง อาจพบว่า โครงสร้างภาษีที่รัฐจัดเก็บเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถเก่าซ้ำซากนานปี เพราะยิ่งรถเก่ายิ่งเสียค่าภาษีประจำปีในการต่อทะเบียนในอัตราที่ถูกลงเรื่อยๆ และขณะเดียวกันรถใหม่นอกจากจะเสียค่าภาษีประจำปีในการต่อทะเบียนในราคาสูงแล้ว ยังถูกเก็บภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆ ในอัตราที่สูงซึ่งซ่อนอยู่ในราคารถใหม่ที่ซื้อมาในครั้งแรก
ถ้าพบความเป็นเหตุเป็นผลดังกล่าวว่าเป็นความจริงรัฐก็อาจต้องปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเสียใหม่ โดยรถเก่าจะต้องเสียภาษีประจำปีในการต่อทะเบียนในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งรถเก่ายิ่งเสียมาก ขณะเดียวกันลดภาษีที่เก็บจากรถใหม่ รัฐอาจได้รายได้เท่าเดิม ซึ่งหมายความว่าประชาชนเสียภาษีเท่าเดิม แต่โครงสร้างภาษีตอนซื้อครั้งแรกจะต่ำลง แต่ยิ่งใช้นานก็จะเสียภาษีสูงมากขึ้น ประเทศไทยจะได้หยุดใช้เครื่องรถยนต์เก่าที่ต่างชาติเลิกใช้เพราะเกรงสภาพแวดล้อม เช่น ประเทศญี่ปุ่น ส่งมาขายยังประเทศของเรา
ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างและอุตสาหกรรมก็สามารถที่จะคิดนโยบายและมาตรการที่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยต้องเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่ต้องการลดต้นทุนของตน โดยการปล่อยฝุ่นละอองสู่สังคม และหากเจ้าหน้าที่คิดมาตรการดำเนินการที่ยั่งยืนแล้ว ที่สำคัญจะต้องเป็นระบบที่เจ้าหน้าที่จะหาประโยชน์ใส่ตนและเลือกปฏิบัติได้ยาก
2) กรณีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน
สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ประชาชน พ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายน้อยที่อยู่กันทั่วไป เศรษฐกิจ การทำมาค้าขายฝืดเคืองรายได้ตกต่ำ แต่ขณะเดียวกันเศรษฐี เจ้าสัว บริษัทขนาดใหญ่ร่ำรวยมากขึ้น
การลงทุนในประเทศเสื่อมถอย การส่งสินค้าออกต่างประเทศลดลง มีการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี ที่ใช้เครื่องจักรสมองกลระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงานมากขึ้น
สิ่งที่ประชาชนจับต้องได้จากการประชาสัมพันธ์ของรัฐ ก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน
เริ่มจากแจกเงินกับคนจน (อ้างสวัสดิการคนจน) แจกเงินโดยอ้างเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร
มาในขณะนี้แจกเงินเพื่อให้ “ชิม ช็อป ใช้” และชวนไปเที่ยวทั่วไทยเพื่อหวังนำภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนไปให้ประชาชนจำนวนหนึ่งใช้ ตอกย้ำวัฒนธรรมอุปถัมภ์โดยอ้าง “กระตุ้นเศรษฐกิจ”
หากจะพิจารณาโครงสร้างการผลิตของไทย จะพบการผูกขาดที่ธุรกิจต่างๆ มีเจ้าของกระจุกตัวแต่เฉพาะรายใหญ่ เพราะนอกจากจะได้สิทธิพิเศษในการประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ยังมีเทคโนโลยีเครื่องจักรสมองกลระบบอัตโนมัติ ทดแทนแรงงาน ซึ่งสิทธิพิเศษในการประกอบการส่วนหนึ่ง ก็ได้จากการเอื้ออำนวยของข้าราชการและนักการเมืองซึ่งเชื่อว่ามีการแลกผลประโยชน์อย่างไม่เปิดเผย เมื่อผู้ลงทุนรายใหญ่สะสมกำไรก็มีโอกาสนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ เพราะสมัยนี้สะดวกที่จะนำไปลงทุนในประเทศพม่า ลาว เขมร เวียดนาม และแม้แต่ในประเทศจีน
คนที่ฐานะดีก็นิยมใช้จ่ายเงินท่องเที่ยวต่างประเทศ ไป “ชิม ช็อป ใช้” ที่ต่างแดน
นอกจากนโยบายเฉพาะหน้าแบบที่หว่านเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรต้องกลับมาสร้างการแข่งขัน ทำลายการผูกขาด ด้วยการกำหนดมาตรการและขั้นตอนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งเล็ก และใหญ่สามารถเข้าแข่งขันได้ง่าย
สำนักงานแข่งขันทางการค้าที่มีกฎหมายให้แยกตัวออกจากการครอบงำของกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องไม่เป็น
เสือกระดาษ แต่เป็นเสือที่มีเขี้ยว ทั้งประเมิน ตรวจสอบ ธุรกิจที่ผูกขาดที่มีอยู่ในปัจจุบัน และตรวจสอบนโยบายของรัฐที่จะเกิดในอนาคตว่า จะสร้างการผูกขาดมากน้อยแค่ไหน
รัฐบาลอาจต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง แทนที่จะยุยงส่งเสริมให้คนจับจ่ายใช้สอยใช้เงินและเป็นหนี้มากขึ้น อาจจะต้องกระตุ้นให้คนไทยเลิกฟุ้งเฟ้อพึ่งตนเอง ไม่งอมืองอเท้ารอแจกเงินจากรัฐบาล แต่รัฐต้องให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเอง และสร้างการออมเพื่อใช้ในยามสูงอายุ
แทนที่รัฐจะแจกเงินที่ตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ แต่นำเงินดังกล่าวมาศึกษาและหาหนทางเพื่อให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีใหม่ในการลดต้นทุนการผลิต จะได้มีความสามารถในการส่งออกสู้กับต่างประเทศ
เราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดไป ได้หรือไม่?
ดังที่กล่าวข้างต้น สังคมไทยในอดีตมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แม้จะเกิดต้นทุนและผลกระทบของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่เป็นไร เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ประเทศไทยตั้งอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีปลอดภัย แต่เมื่อทรัพยากรในปัจจุบันร่อยหรอ ถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะแก้ไขปัญหาแต่เฉพาะหน้าในระยะสั้นไปเรื่อยๆ คงจะไม่ได้
อย่าให้ชาวโลกเขามองว่าประเทศไทยเป็นสังคมฉาบฉวย
ต้องเร่งทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา
และเร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ประเทศเดินต่ออย่างยั่งยืนและถาวร
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี