เมื่อเอ่ยถึงคำว่าการระบาดของโรคนั้น ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจจะยังไม่เข้าใจดีนักว่าการระบาดของโรคต่างๆ มีการแบ่งออกตามลักษณะของการระบาด ได้ 3 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 คือ การระบาด หรือ Epidemic ที่แพร่กระจายในกลุ่มประชากร ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากหรือน้อยตามลักษณะภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นรูปแบบที่ 2 คือการระบาดที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างมาก และแพร่กระจายไปในหลายๆ ประเทศหรือทั่วโลก เรียกว่าเป็นแบบ Pandemic ส่วนแบบที่ 3 คือการระบาดที่เรียกว่า Endemic คือ โรคระบาดที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นบางฤดูกาลหรือตลอดไปก็ได้ ทั้งนี้ไม่รวมถึงการระบาดที่เกิดขึ้นสอดแทรกอย่างรวดเร็วทันทีทันใดที่เรียกว่า Outbreak
การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดในมณฑลอู่ฮั่นในประเทศจีน ในระยะเริ่มต้นคือตัวอย่างของโรคระบาด Epidemic โดยในขณะนี้เมื่อมีการระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลก ก็เปลี่ยนเป็นการระบาดชนิด Pandemic
ส่วนโรคระบาดประจำถิ่นหรือ Endemic นั้น ตัวอย่างในประเทศไทยเช่นโรคไข้หวัดใหญ่ โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออกซึ่งอาจจะเป็นการระบาดที่เกิดขึ้นตลอดปีหรือเกิดขึ้นเฉพาะบางฤดูกาลก็เป็นได้
ขอยกตัวอย่างของโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นโรคระบาดประจำถิ่น ที่มีมานานแล้ว และได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนประจำปี โดยปัจจุบันเน้นให้มีการฉีดในผู้ที่อายุเกิน 50 ปีมากขึ้น เนื่องจากพบว่าเป็นโรคที่อาจจะทำให้ผู้สูงวัยเสียชีวิตได้ หากย้อนมาดูสถิติตัวเลขของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2562 จะพบว่ามีผู้ป่วยเกิดขึ้นถึง 3.63 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน 24 ราย ส่วนในปี 2563 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนเพียง 1.21 แสนรายเศษ และเสียชีวิตเพียงแค่4 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงจากเดิมมากกว่า 3 เท่าซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดสังเกต หลังจากที่มีโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตตามแนวชีวิตวิถีใหม่ก็ได้
เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้จำนวนของประชากรไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีถึง 40 ล้านรายแล้ว เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก จำนวนตัวเลขเฉลี่ยของผู้ได้รับการฉีดในรอบสัปดาห์ตกอยู่ที่วันละประมาณ 6 แสนรายเศษ สูงกว่าเป้าเดิมที่ตั้งไว้ประมาณวันละ 5 แสนราย โดยมีผู้ที่ได้รับการฉีด 1 เข็มแล้วมากกว่า 27 ล้านราย และฉีด 2 เข็ม แล้วมากกว่า12 ล้านราย และยังมีผู้ได้รับการฉีดเข็ม Booster แล้วมากกว่า 7.3 แสนราย ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการที่รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมเข้ามาได้เป็นจำนวนมากเพียงพอ ทั้งวัคซีนชนิดเชื้อตายคือซิโนแวคและวัคซีนซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหาเข้ามาคือซิโนฟาร์ม วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์คือแอสตราเซเนกา และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ รวมทั้งวัคซีนโมเดอร์นา
ซึ่งภาคเอกชนจัดหาก็กำลังจะทยอยเข้ามาในระยะเวลาอันใกล้นี้
ในส่วนวัคซีนซิโนแวค ซึ่งรัฐบาลได้สั่งเพิ่มจำนวน 12 ล้านโดสนั้น ขณะนี้ได้เริ่มนำมาทยอยฉีดเป็นเข็มที่หนึ่งให้กับประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเป็นเข็มที่ 1 และหลังจากนั้น
3-4 สัปดาห์ จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 ซึ่งการไขว้วัคซีน 2 ชนิดนี้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด และมีจำนวนภูมิสูงเพียงพอในการลดความรุนแรงของอาการกรณีที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ โดยสูตรนี้จะถูกใช้ไปอีกระยะหนึ่ง คาดว่าจะถึงเดือนตุลาคม
ซึ่งหลังจากนั้นจะมีวัคซีนของแอสตราเซเนกาจัดส่งให้รัฐบาลได้เดือนละมากกว่า 6 ล้านโดส และวัคซีนของไฟเซอร์ซึ่งรัฐบาลได้สั่งไปแล้วรวมทั้งหมด 30 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้สูตรของวัคซีนที่ใช้กับประชากรทั่วไปจะเปลี่ยนจากการฉีดไขว้โดยสูตรเดิมมาเป็นการฉีดไขว้วัคซีนแอสตราเซเนกับไฟเซอร์ โดยฉีดห่างกัน 4-12 สัปดาห์ หรืออาจจะให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ก็ได้ ซึ่งเป็นสูตรที่จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอต่อการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้
เรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องหนึ่งคือ ขณะนี้ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ตลอดจนหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ก็ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว โดยใช้สูตรแอสตราเซเนกา 2 โดส แอสตราเซเนกาบวกไฟเซอร์ หรือไฟเซอร์บวกไฟเซอร์เป็นจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนั้น สำนักอนามัย สำนักแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงรวมทั้งผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด จนถึงขณะนี้มากกว่า 10 ล้านโดส โดยเป็นเข็ม 1 เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และเข็ม 2เกินกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ประชากรในกรุงเทพฯ ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะปลอดภัยจากโรคนี้ได้
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกันคือการที่จะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนที่อายุ 12 ปีขึ้นไป และไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น แต่จะรวมทุกกลุ่มด้วยจนถึงอายุ 17 ปี โดยจะเริ่มฉีดให้ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนนี้เป็นต้นไป โดยใช้วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นในประชากรเด็กเหล่านี้ได้ และทำให้เป้าหมายของการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐตั้งไว้ ว่าต้องเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มเป้าหมาย
ภายในสิ้นปีนี้ จะดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์จะได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว และประเทศไทยเองก็อนุโลมให้ใช้ได้เช่นเดียวกันโดยให้ถือว่าเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และในส่วนของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเออีกตัวหนึ่งคือวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งจะเข้ามาถึงประเทศไทยในตุลาคมนั้น ก็ได้รับอนุมัติให้ใช้ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปได้แล้วเช่นเดียวกัน แต่การฉีดวัคซีนทั้ง 2 ตัวนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดโดยในส่วนขององค์การอนามัยโลกนั้นยังไม่ได้ให้การรับรองการฉีดวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีเด็กในช่วงอายุ 12 ถึง 17 ปีที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ มีอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นในบางราย จึงยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ระดับหนึ่ง ฉะนั้นการฉีดวัคซีนดังกล่าวต้องได้รับการยินยอมและลงนามในใบอนุญาตจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ด้วย
ตามทฤษฎีระบาดวิทยา เชื่อกันว่าหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส การให้วัคซีนกับประชากรจนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรในกลุ่มหรือประเทศที่มีการระบาดนั้น จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเชื้อไวรัสนั้นเมื่อเข้าสู่ร่างกายนอกจากจะไม่ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างแน่นอนแล้ว ยังจะเป็นเชื้อที่แพร่ระบาดต่อไปได้น้อยลง ซึ่งหมายถึงเป็นเชื้อที่อ่อนกำลังลง เมื่อมีการระบาดไปสู่ประชาชนทั่วไป ก็จะทำให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ แม้แต่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่มีอาการเจ็บป่วย และก็จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้เอง
แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ซึ่งมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรเป็นส่วนใหญ่ของประเทศแล้วนั้น พบว่ายังมีการระบาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 50% เป็นผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอครบ 2 โดสแล้ว และตรวจพบว่าปริมาณของเชื้อในร่างกายของผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้สามารถจะแพร่กระจายเชื้อได้ต่อไป จนเป็นประเด็นว่าภูมิคุ้มกันหมู่ตามทฤษฎีที่ว่าไว้นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงในโรคโควิด-19 หรือไม่
สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนนั้น หลังจากป่วยจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเอง จากการติดตามพบว่าปริมาณของภูมิที่ถูกสร้างขึ้นมีจำนวนไม่สูงมากนัก และจะเริ่มลดลงในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีข้อมูลในทางตรงกันข้ามว่า ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หากติดเชื้อนี้ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงมาก โดยสูงมากกว่าการได้รับการฉีดวัคซีน
เอ็มอาร์เอ็นเอด้วย แต่งานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมตีพิมพ์เท่านั้น ซึ่งคงจะต้องติดตามกันต่อไปว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเองน้อยกว่าหรือมากกว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดดังกล่าวครบ 2 เข็มต่อไป
หากการติดตามผลของการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19ในระยะยาวมีมากขึ้น ก็คงจะมีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในกรณีที่ประชากรเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดนั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้วนั้นจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ฉะนั้นในขณะนี้การรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และมีการฉีดเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องที่เรียกกันว่าการฉีด Booster ซึ่งขณะนี้ยอมรับกันว่าควรจะกระทำในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหลังจากฉีดชุดแรกครบ 2 โดส จึงจะเป็นการป้องกันอาการรุนแรงของโรคนี้จากเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ ได้ ทั้งนี้แน่นอนว่า ต้องร่วมกับการดำเนินชีวิตตามแนวชีวิตวิถีใหม่ด้วย
เมื่อติดตามดูตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในขณะนี้ จะเห็นว่าในแต่ละวัน จะมีจำนวนบวกลบอยู่ที่ประมาณ 14,000 รายโดยมีจำนวนผู้ที่หายป่วยมากกว่าผู้ป่วยใหม่ และตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ทยอยลดลงตามลำดับ ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัวอยู่ด้วย ประชากรกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสุดในการที่จะได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจจะต้องฉีดเป็นประจำทุก 6 เดือน ส่วนกลุ่มประชากรทั่วไปนั้นมีข้อมูลว่า หากเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพดีอยู่ อาการป่วยที่เกิดขึ้นก็จะไม่รุนแรง และถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับว่าการระบาดของโรคนี้เป็นแบบที่เรียกว่า Endemic แล้ว คือกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่จะต้องอยู่กับเราตลอดไป จะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นทุกวัน จำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ามีประชากรได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากน้อยเพียงใด มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่งทุกวันเช่นกัน เป็นลักษณะเหตุการณ์ประจำวัน
เมื่อเป็นดังนี้จึงมีคำถามว่า การพยายามตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ประชาชนทุกคนควรรู้จักวิธีการตรวจหาการติดเชื้อด้วยตัวเองหรือไม่ ถ้าผลตรวจเป็นบวกแต่ไม่มีอาการและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงควรจะซื้อยารับประทานด้วยตัวเอง การรักษาตัวเองด้วยวิธีการกักตัวอยู่กับบ้านแบบ Home Isolation หรือกักตัวในชุมชนแบบ Community Isolation ได้หรือไม่ ส่วนผู้ที่มีอาการและเป็นกลุ่มเสี่ยงจึงควรเข้ารับการตรวจยืนยันและรักษาในโรงพยาบาลต่อไป ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นแนวทางสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 ต่อไปในอนาคต และน่าจะเป็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ ทางด้านสาธารณสุขที่มีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลที่ได้จากการเรียนรู้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
การดำเนินชีวิตตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการป้องกันตัวเองจากโรคนี้ ร่วมกับการฉีดวัคซีนให้ครบโดส การล็อกดาวน์หรือปิดเมืองเป็นสิ่งที่น่าจะต้องยกเลิกได้โดยสมบูรณ์ ให้การดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ อยู่ในรูปแบบใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด เศรษฐกิจของประเทศควรกลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลนี้ได้มีความตั้งใจดีในการต่อสู้กับโรคนี้
เพื่อประชาชนอยู่แล้ว จึงควรตั้งมั่นดำเนินการในเรื่องนี้ให้เข้มแข็งต่อไป ยืนหยัดอยู่บนความสุจริต อย่าหวั่นไหวกับกระแสการเมืองจนเกิดผลลบเหมือนอย่างที่เคยเป็น และที่สำคัญยิ่งคือการสื่อสารสิ่งที่ดำเนินการอยู่ทุกเรื่องให้ประชาชนได้รับทราบอยู่ตลอดเวลา
นายแพทย์ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี