สภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2481 ได้ทำงานมาจวนจะครบวาระ ในตอนปลายปี พ.ศ.2485 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้อยู่ในภาวะสงครามมาตั้งแต่ปลายปีพ.ศ.2484 ดังนั้นรัฐบาลจึงเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายอายุผู้แทนราษฎรได้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 15 ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2485 (รัฐบาลเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพุทธศักราช 2485)โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
“แต่ตามสภาพการที่เป็นอยู่เวลานี้ กล่าว คือว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพแห่งสงคราม… เหตุการณ์อันเป็นเหตุพ้นวิสัยที่จะให้รัฐบาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญนี้คือให้มีการเลือกตั้งในเมื่อระยะเวลาสี่ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว ในกรณีเช่นนั้นถ้าทำไม่ได้ก็เป็นการที่เรียกว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และควรเคารพของชาวไทย…”
การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีกำหนดไว้ในมาตรา 63 ของ รัฐธรรมนูญ ว่า
“รัฐธรรมนูญนี้ จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่โดยเงื่อนไขต่อไปนี้
1. ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ท่านว่าต้องมาจากคณะรัฐมนตรีทางหนึ่งหรือมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมกันมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดทางหนึ่ง
2. เมื่อสมาชิกได้ลงมติครั้งหนึ่งแล้วท่านให้รอไว้หนึ่งเดือน เมื่อพ้นกำหนดแล้วให้นำขึ้นเสนอสภาเพื่อลงมติอีกครั้งหนึ่ง
3. การออกเสียงลงคะแนน ท่านให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสามในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมด”
ดังนั้นในวันพิจารณาจึงมีการเรียกชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียงไปเป็นรายบุคคล ให้ออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ น่าสังเกตว่าวันนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้งขาดประชุมสภาไปเป็นจำนวนมาก และปรากฏว่ามีสมาชิกที่แสดงตัวออกเสียงว่าไม่เห็นชอบอยู่เพียงคนเดียว คือนายจำลองดาวเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในจังหวัดมหาสารคาม นับว่าเป็นกรณีที่น่าสนใจมาก ผลการออกเสียงในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญในวาระแรกนั้นน่าสนใจมาก ในวันนั้นสมาชิกสภาฯมีอยู่ 181 นาย ไม่มาประชุมถึง 30 นาย นับว่ามาทีเดียว โดยมีผู้ไม่ออกเสียง 2 นาย มีผู้เห็นชอบ 147 นาย และไม่เห็นชอบเพียงคนเดียวก็คือ นายจำลอง ดาวเรือง ดังนั้น เสียงที่เห็นชอบมีมากกว่าสามในสี่ ของจำนวนสมาชิกสภาฯทั้งหมด จึงผ่านได้ และสภาฯก็มีมติตั้งคณะกรรมาธิการไปในวันนั้นเลย ซึ่งก็ดูแปลก เพราะ มาตรา 63 (2) ระบุว่า เมื่อได้ลงมติครั้งหนึ่งแล้ว ให้รอไว้หนึ่งเดือน ให้นำมาเสนอ เพื่อลงมติอีกครั้งหนึ่ง แต่ในวันนั้นตั้ง คณะกรรมาธิการไปพิจารณาเลย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็สำเร็จเรียบร้อย ประกาศใช้ได้ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2485
เนื้อหาสำคัญของการแก้ไขการปรากฏในมาตรา 18 ของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนเป็นภาษาไทยในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ในปีพ.ศ. 2485 ซึ่งมีคนว่าเป็น “ภาษาวิบัติ” ดังนี้
“สมาชิกสภาผู้แทนราสดร ให้หยู่ ในตำแหน่งได้คราวละสี่ปี แต่ถ้ามีพรึติการน์สำคัน กระทบถึงนโยบายพายใน หรือพายนอก อันทอมไห้เปนการ พ้นวิสัยหรือมีเหตุ ขัดข้องที่จะไห้ มีการเลือกตั้งไน ขณะที่กำหนดเวลาสี่ปีสิ้นสุดลงจะตราพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลานั้นออกไปอีกคราวละไม่เกินสองปีก็ได้ หากพายไน กำหนดเวลาเช่นว่านั้น พรึติการน์ เปลี่ยนแปลงไป จะตราพระราชกริสดีกาไห้ การเลือกตั้งไน เวลาหนึ่งเวลาได ก็ได้
ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงกับออกตามวาระ ไห้ เลือกเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนไห้ เต็มตำแหน่งที่ว่างหยู่ แล้วสมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นไห้ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน”
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี