ช่วงเวลาสมัยสงคราม ตอนที่จอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น ได้มีวีรกรรมทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ให้เป็นที่ร่ำลือกันมาก หลายกรณี มีอยู่กรณีหนึ่งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2486 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 สภาฯ ได้เลือก นายทวี บุณยเกตุ เป็นประธานสภาฯและเลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานสภาฯ แต่เมื่อสภาฯส่งชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีได้ส่งกลับคืนสภาฯ อันไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมา ทำให้ต้องหันกลับไปดูเรื่องราวทางการเมืองไทยในเวลาประมาณ 5 เดือนก่อนหน้านั้น เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มีการปรารภเรื่องที่ตนจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ลาออกจริงจนกระทั่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกไปยังทำเนียบประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา จนนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีลอยเข้าใจว่านายกฯลาออกจริง จึงนำข่าวการลาออกไปประกาศทางสถานีวิทยุกรมการโฆษณาการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทำให้จอมพล ป. มีความไม่พอใจ จนต้องสั่งให้ ทางวิทยุแก้ข่าวว่ามีความเข้าใจผิดและนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลาออกในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีความขัดเคืองใจระหว่างนายกรัฐมนตรีและเพื่อนในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ที่ทำให้นายควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีลอย ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากมีความขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486
เข้าใจว่าเรื่องนี้เองที่ทำให้จอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยังมีความโกรธเพื่อนผู้ก่อการฯทั้งสองรายนี้อยู่ ประกอบกับในเวลานั้นหลวงพิบูลสงครามมีความระแวงว่าทางสภา
ผู้แทนราษฎรกำลังหาทางที่จะเล่นงานท่านให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มีคำสั่งทาง ทหารสั่งให้นายทองเปลว ชลภูมิผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ย้ายไปประจำกรมประสานงานสัมพันธมิตร และออกคำสั่งให้นายจิตตะเสน ปัญจะ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีย้ายมาเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าแปลกมาก เพราะว่าเป็นการย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาที่อยู่ภายใต้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เกิดขึ้นโดยคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดังนั้นเมื่อทางสภาฯเลือกคนที่ท่านระแวงว่าจะมาเล่นงาน ท่านจึงขัดขืน ด้วยการไม่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ทางสภาฯ ก็ยอมอ่อนข้อให้ท่านครึ่งหนึ่งโดยมีมติเลือกนายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และยังคงเลือกนายควงอภัยวงศ์ เป็นรองประธานฯตามเดิม จากนั้นก็ส่งชื่อของท่านทั้งสองไปยังนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าจอมพลป.พิบูลสงครามได้นำชื่อพระยาศรยุทธเสนี ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียว ในวันที่ 6 กรกฎาคม โดยนายกรัฐมนตรียังไม่ยอมเสนอชื่อนายควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานสภาฯแต่อย่างใด และให้เหตุผลเหมือนเดิมว่าไม่สามารถรับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานฯได้ ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 สภาผู้แทนราษฎรก็จำต้องยอมตามจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยได้พิจารณาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่อีกครั้ง คราวนี้ได้ พลตรีพระประจนปัจจนึก และเมื่อ ส่งรายชื่อไปยังนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ยอมนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระประจนปัจจนึก เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายบริหารกับสภาฯในเรื่องนี้ได้กินเวลาอยู่ประมาณสองสัปดาห์ โดยถือได้ว่านายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นฝ่ายชนะ
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี