โดยทั่วไปเมื่อร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอต่อสภาฯและผ่านการพิจารณาของสภาฯ ครบถ้วนกระบวนความตามการพิจารณาทั้ง 3 วาระ โดยจะมีการแก้ไขหรือไม่แก้ไขก็ตามแล้ว ทางสภาฯก็จะส่งเรื่องให้รัฐบาลทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายนั้นเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ต่อไป แต่ในสมัยที่จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นก็ได้มีการปฏิบัติที่นับว่าอปกติเกิดขี้น คือรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการต่อ แต่ดำเนินการย้อนหลังโดยส่งร่างกฎหมายที่ผ่านสภาฯ แล้วคืนมาให้สภาฯ พิจารณาใหม่เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 20
ปรากฏว่า กฎหมายฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของสภาฯทั้ง 3 วาระในวันที่เสนอสภาฯ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 นั่นเอง แต่พอถึงเดือนธันวาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 ในวันที่25 ธันวาคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลก็ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) ที่ผ่านสภาฯแล้ว แต่รัฐบาลมิได้ ดำเนินการทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีการลงพระปรมาภิไธยแต่อย่างใด กลับมาให้สภาฯ พิจารณาอีกครั้ง
ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) ทวนกลับยังสภาฯ รัฐบาล อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า
“…รัฐบาลได้พิจารณาโดยรอบคอบถี่ถ้วนแล้วเห็นว่าในการปฏิบัติตามวัฒนธรรม ถ้าจะให้เป็นไปโดยเคร่งครัดจะให้มีการเตือนเสียก่อนนั้นย่อมไม่ได้ผล เจตนาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีการเตือนนี้ในกรณีเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการแต่งกายก็สมควรอยู่ แต่ก็กรณีสำคัญๆ เช่นการเคารพธงชาติ จะให้มีการเตือนก่อนย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผล เมื่อได้พิจารณาโดยรอบคอบอย่างละเอียดแล้ว ถ้าบัญญัติการเตือนนี้ไว้ในร่าง การควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายนี้จะยากยิ่ง จะเป็นเหมือนไม่มีกฎหมายเลย ดังนี้รัฐบาลผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการ จึงต้องขอทวนปัญหาเรื่องนี้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาโดยรอบคอบครั้งหนึ่ง”
แต่คำอธิบายของนายแก้ว สิงหะคเชนทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร ในการอภิปรายในสภาฯ น่าสนใจที่จะบันทึกไว้มีว่า
“แต่ว่าฉันยังอยู่อีกข้อหนึ่ง ถึงเรื่องที่รัฐบาลได้นำเอามาตรา 15 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาไปจากสภาฯนี้ แล้วกลับสู่สภาฯ นี้อีก… โดยจะยกเหตุผลแต่เพียงว่ายังมิได้ตราขึ้นเป็นกฎหมาย และขอนำปัญหาทวนให้สภาฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งนั้น ฉันเห็นว่าการกระทำดังว่านี้น่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 18 ได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างขึ้นแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำทูลถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ท่านให้ใช้บังคับได้”
การอภิปรายของสมาชิกในสภาฯ ย่อมทำให้เกิดความลำบากใจมากแก่ประธานสภาฯ อย่างพระยามานวราชเสวี ผู้ซึ่งเป็นนักกฎหมายสำคัญ แต่เรื่องอย่างนี้ก็เคยทำมาแล้วบ้างโดยอ้างว่าเป็นกรณีพิเศษเช่นเกี่ยวกับกฎหมายงบประมาณ ประธานสภาก็ยอมรับ ที่นำเข้ามาเสนอก็มุ่งหมายในเรื่องที่ต้องการจะปรองดอง และเรื่องที่จะโทษประธานสภาฯ นั้น ท่านก็ได้ชี้แจงว่า
“เมื่อมีปัญหาโต้เถียงเกี่ยวกับการประชุมในการปรึกษาซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ให้ถือมติของที่ประชุมเป็นคำตัดสินเด็ดขาด”
ที่ประชุมจะเห็นว่าเป็นกรณีพิเศษยอมรับพิจารณาหรือไม่ยอมรับก็เป็นเรื่องของที่ประชุม ในวันนั้นที่ประชุมยอมรับให้มีการแก้กฎหมายฉบับนี้แต่เพื่อความรอบคอบจึงตั้งคณะกรรมาธิการไปพิจารณาการแก้ไข ท้ายที่สุดการพิจารณากฎหมายที่แปลกก็ผ่านสภาฯ ออกมาได้สมใจรัฐบาล
นี้จึงเป็นตัวชี้วัดถึงอำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่มีการทำกฎหมายแปลกๆ ก็เกิดขึ้นได้
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี