เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นนัดที่สี่แล้ว
ย้ำว่า คดีนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
เกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
1. ภายหลังการไต่สวนนัดที่สี่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยแพร่ข่าว;ประชาสัมพันธ์
ระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้นัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568
อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ และทนาย มาศาล
ส่วนจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลไม่มาฟังการพิจารณา
ศาลไต่สวนพยานบุคคลในประเด็นการส่งตัวจำเลยไปรับการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตำรวจรวม 6 ปาก คือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แล้วศาลมีคำสั่งไปเลื่อนไต่สวนพยานบุคคลต่อในวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 เวลา 9 นาฬิกา ตามที่นัดไว้เดิม
ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลภายนอกที่เข้าฟังการไต่สวนจดบันทึกคำเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน เนื่องจากอาจกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล
2. ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม
สรุปว่า ในนัดที่สี่ มีการไต่สวนพยาน 6 ปาก ได้แก่
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์
นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตัวแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์
นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์
นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
นายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ แพทย์ชำนาญการพิเศษรักษาราชการผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์
นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในช่วงเช้าเวลา 09.00-12.00 น. ศาลไต่สวนพยานทั้ง 4 ปาก คือ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตัวแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
จากการรับฟังข้อมูลสามารถสรุปประเด็นที่ศาลฯ ซักถามพยาน ได้ดังนี้
- รายละเอียดเอกสารการขยายเวลารักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณจาก 30 วัน เป็น 60 วัน และเป็น 120 วัน
- นายทักษิณได้รับการพักโทษวันที่ 18 ก.พ. 2567 เป็นวันเดียวกับที่นายทักษิณออกจากโรงพยาบาลตำรวจ(รพ.ตร.)
- การเซ็นอนุญาตและขยายเวลาให้นายทักษิณรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยที่ไม่ตรวจสอบอาการป่วยแต่เชื่อในเอกสารที่รพ.ตร.ส่งมา
- รพ.ตร.เสนอจัดห้องพักรักษาตัวให้นายทักษิณ
- การไม่บันทึกประวัตินายทักษิณที่หลบหนีคดีที่มีการตัดสินไปแล้วในช่วงปี 2551
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการไต่สวน ศาลกล่าวย้ำกับนายชาญ และนายนัสที ให้เบิกความตรงไปตรงมา ตอบให้ตรงคำถาม
ส่วนนายสิทธิ ขอยื่นเอกสารเพิ่มเติมแก่ศาล เกี่ยวกับการขยายเวลารักษาตัวนอกเรือนจำของคณะกรรมการพิจารณาการรักษาตัวนอกเรือนจำ
ช่วงบ่าย ศาลไต่สวน นายแพทย์พงศ์ภัคและนายแพทย์วัฒน์ชัย โดยไต่สวนในประเด็น
-อาการป่วยวิกฤตของนายทักษิณในวันที่ 22 ส.ค. 2566
-การส่งตัวผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องไปส่งที่ห้องฉุกเฉิน
-ขอความเห็นจากนายแพทย์พงศ์ภัคเกี่ยวกับบันทึกอาการป่วยนายทักษิณของพยาบาลเวร บันทึกของหมอรพ.ตร. บันทึกการใช้ยาประจำตัวของนายทักษิณที่แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ บันทึกไว้ และสาเหตุเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณในคืนวันที่ 22 ส.ค. 2566 อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเครียด การเดินทางไกล และการไม่ได้รับประทานยารักษาโรคประจำตัว
-การวินิจฉัยอาการป่วยของนายทักษิณในคืนวันที่ 22 ส.ค. 2566 ผ่านทางโทรศัพท์
ทั้งนี้ ในการไต่สวนนายแพทย์วัฒน์ชัย ศาลกล่าวย้ำให้นายแพทย์วัฒน์ชัยตอบให้ตรงคำถาม
3. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม - วิเคราะห์คดีนักโทษชั้น14
ระบุว่า
“ผมได้มีโอกาสไปฟัง การไต่สวนคดีนักโทษชั้น 14 ครั้งล่าสุดวันที่ 15 ก.ค.2568 ศาลท่านจะเข้มงวด นอกจากห้ามโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังไม่ให้นำกระดาษ ปากกาเข้าไปบันทึก
แต่เพื่อให้พี่น้องที่ติดตาม การไต่สวนอย่างทันต่อความจริง เนื่องจากศาลท่านไม่ได้ห้ามการสรุปเผยแพร่ การวิเคราะห์ แต่ไม่ให้เผยแพร่คำต่อคำ ที่มีผลต่อการให้ความจริง จากปากพยานท่านต่อไป
ผมจึงขอวิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมดที่ได้ฟังมา
เนื่องจากคดีนี้ มีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ศาลท่านจึงไต่สวนคนที่เกี่ยวข้องหลายท่านมาก สิ่งที่ได้รับทราบ พบว่า ข้อเท็จจริงมีความขัดแย้ง พอที่จะนำมาสรุปวิเคราะห์ได้คือ
การเคลื่อนย้ายนักโทษ จากสถานพยาบาลในเรือนจำมาที่รถพยาบาล แต่ละปากให้ข้อมูลไม่ตรงกัน การส่งนักโทษ ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ข้อมูลของบุคลากรแต่ละชุดให้ข้อมูลไม่ตรงกัน การรับนักโทษมานอน ชั้น 14 ก็ขัดแย้งกับความเห็นพยานบางท่าน
ที่สังเกตมีข้อมูลให้เตรียมความพร้อม ของบุคคลากร ช่วงเย็นวันที่22 ส.ค. อาจจะมีเหตุที่ต้องส่งนักโทษไปรักษาข้างนอก ในความเป็นจริง การเกิดเหตุฉุกเฉินว่า นักโทษจะมีอาการกำเริบ ไม่น่าจะทราบล่วงหน้า
การส่งทีมไปเฝ้านักโทษที่ชั้น 14 ฟังดูแล้วชุดนี้ซักซ้อมมาอย่างดี8-9 คน ตอบเหมือนกัน ชุดคำพูดเหมือนกัน ซ้อมมาดีมาก แต่ในรายละเอียดเป๋ เพราะไม่ได้ซักซ้อมมา สังเกตดูชุดนี้ แม้จะซ้อมมาดี แต่ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริง
ข้อมูลจากระดับบริหารของกรมราชทัณฑ์ แต่ละท่านก็ซักซ้อมมาดีแต่ข้อมูลขัดแย้งกับข้อเท็จจริง มีบางท่านอ้างการประชุม แต่เมื่อถามอีกชุดหนึ่งเรื่องการประชุมเดียวกัน บางคนงงเพราะไม่เคยเห็นเอกสาร เหมือนทำเอกสารขึ้นมาใหม่
ส่วนประเด็นการเจ็บป่วย ที่อ้างว่าฉุกเฉินของนักโทษ ฟังไปฟังมาให้ความรู้สึกว่า ตอนส่งนักโทษออกจากโรงพยาบาล อ้างโรคหนึ่งที่ร้ายแรง แต่เมื่อไปรักษา กลับรักษาอาการอื่น
เพราะยาที่ใช้ไม่ได้ซับซ้อน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็มียาชนิดนี้และสามารถรักษาได้ และอาการต่างๆ ก็ทุเลาลง เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น การอยู่ต่อเนื่อง ก็รักษาโรคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ โรคที่เป็นเหตุของการอยู่โรงพยาบาล
มาถึงตอนนี้ พอที่คาดเดาได้ว่า นักโทษชั้น 14 ป่วยหนักจริงหรือไม่มีเหตุผลต้องนอนยาว 180 วันไหม
ที่สำคัญ แม้จะมีพยานบางท่าน บอกว่านักโทษป่วยหนักยาวต่อเนื่อง ที่แปลกใจ คือ มาหายในวันที่ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ และสามารถกลับบ้านได้ทันที ชนิดเรียกได้ว่า เมื่อได้พักโทษอาการก็หาย กลับบ้านได้ทันที
สิ่งที่อยากจะบอก มีกรณีบางคนให้การที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ต้องระวังให้ดี สิ่งที่เตรียมมาพูด หรือซักซ้อมมา
บางคนไม่รู้ว่า ไม่ตรงกับความจริง
เพราะมีหลักฐานบางอย่าง พร้อมที่จะเสนอให้ศาลท่าน ถ้าเปิดออกมาถือว่าให้การเท็จยกกลุ่ม”
4. เพจประชาคมแพทย์ ตั้งข้อสังเกต ว่าด้วยเรื่อง “สำนวนไทยวันนี้: “เล่นเอาเถิดเจ้าล่อ”
ระบุว่า
“ผู้ร้ายเอาเถิดเจ้าล่อกับตำรวจ จะจับได้ตรงนี้ ก็โผล่ตรงโน้น
จะอธิบายตรงนั้น ก็วกกลับมาที่ตรงนี้
สุดท้าย ไม่มีใครรับผิดเลยสักคน”
เรื่องราวในวงการแพทย์และกระบวนการยุติธรรมไทยช่วงนี้ ช่างคล้ายกับการละเล่น “เอาเถิดเจ้าล่อ” อย่างแปลกประหลาด
มีผู้เล่นหลักๆ อยู่ 8 คน แต่จริงๆ แล้วผู้ที่แอบเล่น เช่น อธิบดีและเจ้ากระทรวง ที่เป็นผู้สั่งการ ก็ไม่ได้มาเล่นให้เห็นจริงๆ แต่สังคมก็รู้
ในเกมที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังเฝ้าดู...
ผู้เล่นคนที่ 1 – นักโทษชาย
ผู้ที่ “ควร” เป็นเป้าหมายของการตรวจสอบ แต่กลับหายวับไปในเงาของอาการแน่นหน้าอกและค่าออกซิเจนต่ำ และหลบหลังที่กำบังตลอดเวลา
ผู้เล่นคนที่ 2 – พยาบาลเวร
ผู้โทรศัพท์ขอรถพยาบาลในคืนนั้น เขาอยู่หน้างานจริง แต่กลับไม่เคยถูกสอบโดยแพทยสภา
จนต้องไปให้การต่อศาลด้วยตัวเองในภายหลัง พูดกับแพทย์หญิงก็อ้างแพทย์เวร พูดกับแพทย์เวรก็อ้างแพทย์หญิง เหมือนเป็นผู้เล่น ที่วิ่งไปวิ่งมาอีกคน
ผู้เล่นคนที่ 3 – แพทย์เวร
ผู้ถูกกล่าวอ้างว่า “แนะนำให้ส่งโรงพยาบาลตำรวจ” แต่เจ้าตัวกลับให้การว่า แค่ “แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หญิงผู้ตรวจร่างกาย”
เมื่อเบิกความต่อศาล ทุกอย่างดูคลุมเครือและ ตอบเพียงว่าไม่รู้ ไม่รู้ และคนนี้ก็ยังไม่เคยได้รับการสอบสวนทางวิชาชีพ เลยไม่รู้ว่าวิ่งไปวิ่งมาหรือเปล่า
ผู้เล่นคนที่ 4 – แพทย์หญิงผู้ตรวจร่างกาย
เป็นจุดศูนย์กลางของการตีความ เคยให้การกับคณะกรรมการสอบสวนทางวิชาชีพ ว่า“พยาบาลเวรอ้างว่าแพทย์เวรเป็นคนสั่ง”
แต่เมื่อย้อนเทียบกับคำให้การพยาบาล กลับไม่ตรงกัน คนนี้ก็วิ่งไปวิ่งมาเหมือนกัน
ผู้เล่นคนที่ 5 – ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ผู้มีอำนาจสูงสุดในการ บังคับบัญชาแพทย์ ที่อนญาตส่งตัวผู้ต้องขังแต่กลับได้รับการยกคำร้องไปอย่างเงียบเชียบ โดยอนุกรรมการชุดที่หนึ่ง หายเข้ากลีบเมฆ ไปเป็นใหญ่ใน ตำแหน่งผู้บัญชาการ แถวมีนบุรี
ผู้เล่นคนที่ 6 – ผู้บัญชาการเรือนจำ
ผู้ถืออำนาจตามสายบังคับบัญชา แต่ไม่เคยแสดงตนว่า ได้มีบทบาทหรือรับผิดชอบอย่างไรในเหตุการณ์ที่สะเทือนสังคม ยังคงอ้างองค์ประกอบของกฎหมายว่าส่งตัวโดยชอบแล้ว แต่ ขณะนี้ คงจะคิดหนัก ว่า จะอ้างแพทย์ดี หรือ อ้างพยาบาลดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและใคร ให้การ มีน้ำหนักมากที่สุด แต่ตอบตามตรงว่าตอนนี้พิรุธกันหมดทุกคน เหมือนว่า ทั้ง “แพทย์”และ “พยาบาล” จะพึ่งพาไม่ได้
ผู้เล่นคนที่ 7-8 – ผู้ตามจับ
ในเกมนี้คือ “ฝ่ายกฎหมาย และ ฝ่ายวิชาชีพ”
ที่กำลังไล่ล่าความจริง ท่ามกลางม่านหมอกแห่งคำให้การของผู้กำบัง ที่วิ่งไปตรงนั้นที ตรงนี้ที เปลี่ยนท่าทีไปมา
ผู้เล่น 2 คนนี้ ประชาชนต้องให้กำลังใจกันนะครับ
ฝ่ายกฎหมาย เขากำลังทำเพื่อชาติ แต่ ฝ่ายวิชาชีพ ดูเหมือนกำลังเนือยๆ วางเฉยกับ ผู้ให้ที่กำบัง ที่เป็นแพทย์
...
นี่ไม่ใช่แค่การเอาเถิดเจ้าล่อธรรมดา...
แต่คือเกมของอำนาจ การเอื้อประโยชน์ และการละเลยจริยธรรม
ที่เล่นกันกลางแสงไฟ โดยมีประชาชนเป็นผู้ชม
บางคนในเกมนี้ อาจไม่ใช่แค่ “ผู้กำบัง” แต่อาจเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด”
คำถามสำคัญคือ... ผู้ตามจับจะไล่ทันหรือไม่?
และประชาชนจะปล่อยให้เกมนี้จบลงแบบ “จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน” อีกครั้งหรือเปล่า?
ขอเอาใจช่วยทุกฝ่ายที่ยังเชื่อมั่นในจริยธรรม ความยุติธรรม และหลักวิชาชีพ
อย่าให้เกมนี้กลายเป็นการ “เอาเปรียบเจ้าตลอด” หรือเป็น “มวยล้ม”- แอดมิน ประชาคมแพทย์ ระบุ
5. สุดท้าย ยังมั่นใจว่า ความจริงที่ค้นพบจากการไต่สวนการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหลายด้าน
ทั้งในด้านการยุติธรรมของบ้านเมือง และด้านการสร้างเสริมจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์
ผู้เกี่ยวข้อง ยังต้องรับกรรม อันเป็นผลจากการกระทำของตนเองต่อไปอีกด้วย
ส่วนที่ดูอาการร่อแร่ เหมือนกำลังโดนจับแก้ผ้าล่อนจ้อน ก็คือ คนเคยอยู่ชั้น 14 นั่นเอง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี