เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนัดที่สามแล้ว
คดีนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
เกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
1. นัดนี้ เป็นการไต่สวนพยานที่เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 9 ปาก
ช่วงเช้า ศาลไต่สวนพยาน 5 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่พัศดีและเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 22 ส.ค. 2566 -23 ส.ค. 2566
เป็นการไต่สวนแสวงหาความจริง เกี่ยวกับช่วงที่มีการรับตัวนายทักษิณที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และการส่งตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
พยาน 5 ปาก ได้แก่
นายสัญญา วงศ์หินกอง เจ้าหน้าที่พัศดีเวรประจำวันเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
นายสมศักดิ์ บุดดีคำ เจ้าหน้าที่ทัณฑวิทยาชำนาญการประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯวันเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยพัศดีเวรประจำวัน
นายจารุวัฒน์ เมืองไทย นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการและควบคุมตัวนายทักษิณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯส่งตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
นายธีระศักดิ์ คงหอม หัวหน้างานตรวจค้นประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯวันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานบุคคล และเป็นหนึ่งในผู้ควบคุมตัวนายทักษิณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯไปส่งตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
นายเทวรุทธ สุนทร อดีตผู้อำนวยการทัณฑสถานส่วนควบคุมผู้ต้องขังไปศาล ในวันเกิดเหตุเป็นผู้ทำหน้าที่รับตัวนายทักษิณจากศาลฎีกาไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และช่วงกลางคืนได้รับคำสั่งให้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และพยาบาลเวร ส่งตัวนายทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ยังมีการไต่สวนพยานอีก 4 ปาก ได้แก่ นายนพรัตน์ ไกรแสวง นายเจนวิทย์ เรือนคำ นายศิวพันธุ์ มูลกัน และ นายนิภัทร์ชล หินสุข
2. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า
(1) พยาน นายสมศักดิ์ บุดดีคำ ศาลไต่สวนในประเด็นการไปตรวจสอบอาการป่วยของนายทักษิณหลังได้รับแจ้งจากพยาบาลเวร การส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และระเบียบในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ทั้งนี้ ในการไต่สวนนายสมศักดิ์ ศาลต้องถามคำถามนายสมศักดิ์หลายครั้งและกล่าวย้ำให้นายสมศักดิ์ตอบให้ตรงคำถาม
(2) พยาน นายจารุวัฒน์ เมืองไทย และนายธีระศักดิ์ คงหอม ศาลไต่สวนในประเด็นเดียวกัน คือ รายละเอียดเหตุการณ์ในการพาตัวนายทักษิณตั้งแต่ลงจากชั้น 2 ห้องกักโรคในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งขึ้นรถพยาบาลจากเรือนจำฯ ไปถึงโรงพยาบาลตำรวจรายละเอียดห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ รายละเอียดของบุคคลที่มาเข้าเยี่ยมและรายละเอียดเกี่ยวกับถ่ายภาพนายทักษิณช่วงที่อยู่โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ ในการไต่สวนนายจารุวัฒน์ ศาลต้องกล่าวย้ำกับนายจารุวัฒน์หลายครั้ง ให้นายจารุวัฒน์ตอบให้ตรงคำถามเบิกความให้ชัดเจน
โดยศาลใช้เวลาไต่สวนนายจารุวัฒน์นานที่สุด ซึ่งใช้เวลาประมาณ1 ชั่วโมง ต่างจากพยานรายอื่นที่ไม่ได้ใช้เวลานานมาก
(3) พยาน นายเทวรุทธ สุนทร ศาลไต่สวนในประเด็นอาการของนายทักษิณที่นายเทวรุทธพบในช่วงที่รับตัวจากศาลฎีกาไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และรายละเอียดเหตุการณ์คืนวันที่ 22 ก.ค. 2566 ที่มีการส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่ที่เรือนจำฯไปจนถึงโรงพยาบาลตำรวจ โดยศาลไต่สวนนายเทวรุทธตั้งแต่เวลาประมาณ 11.51-12.00 น.
3. ย้อนกลับไปในการไต่สวนนัดที่สอง เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2568 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปก่อนนี้ว่า ศาลฯ ไต่สวนพยานได้ 5 ปาก คือ
แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ตรวจร่างกายนายทักษิณตอนทำประวัติเข้าเรือนจำ
นายแพทย์นทพร ปิยะสิน แพทย์เวรกลางคืนวันที่ 22 ส.ค. 2566
นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวรกลางคืนวันที่ 22 ส.ค. 2566
นางสาวจิราพร มีนวลชื่น พยาบาลผู้ช่วยตรวจร่างกายนายทักษิณตอนทำประวัติเข้าเรือนจำ
นางสาวณิชามล มากจันทร์ พยาบาลผู้ช่วยตรวจร่างกายนายทักษิณตอนทำประวัติเข้าเรือนจำ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อมูลการให้ปากคำพยานทั้ง 5 ปาก โดยสังเขป ดังนี้
(1) พยาน แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ ศาลฯ ไต่สวนในประเด็นต่อไปนี้ (เป็น 1 ใน 3 แพทย์ที่คณะกรรมการแพทยสภา มีมติสั่งให้ลงโทษ โดยแพทย์หญิง รวมทิพย์ สุภานันท์ เป็นผู้ตรวจร่างกาย ขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่งโดนลงโทษตักเตือนเนื่องจากเขียนใบส่งตัวล่วงหน้า)
-การเขียนใบส่งตัวล่วงหน้า โดยพญ.รวมทิพย์ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานในรพ.ราชทัณฑ์ที่เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กับกรณีของนายทักษิณที่มีการเขียนใบส่งตัวไว้ก่อนต่อศาล
-พยาบาลเวรที่โทรศัพท์มาขออนุญาตใช้ใบส่งตัวที่แพทย์หญิงรวมทิพย์เขียน และการให้คำแนะนำของพญ.รวมทิพย์ที่เห็นว่าไม่ควรสังเกตอาการป่วยของนายทักษิณต่อ แต่ควรส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำ
-การเขียนเวชระเบียนโดยอ้างอิงประวัติการรักษาตัวของนายทักษิณในต่างประเทศ
-การอธิบายอาการป่วยของนายทักษิณตามเขียนในเวชระเบียนซึ่งอาการป่วยของนายทักษิณที่ตรวจตอนทำประวัติยังเข้าเรือนจำยังไม่กำเริบ
-การให้คำแนะนำให้ส่งตัวนายทักษิณไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากมีการทำ MOU ไว้กับราชทัณฑ์
(2) พยาน นายแพทย์นทพร ปิยะสิน ศาลฯ ไต่สวนในประเด็นต่อไปนี้
-การวินิจฉัยอาการป่วยของนายทักษิณในช่วงกลางคืนวันที่ 22 ส.ค. 2566 โดยที่ไม่ได้ตรวจนายทักษิณโดยตรง แต่อ้างอิงจากคำบอกเล่าของพยาบาลเวรและประวัติการรักษานายทักษิณ
-การให้คำแนะนำส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยที่ไม่ต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตามปกติ โดยศาลถามถึงประเด็นนี้หลายครั้ง โดยนพ.นทพร ยืนยันว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะรักษาอาการป่วยของนายทักษิณได้
(3) นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน ศาลไต่สวนในประเด็น ต่อไปนี้ (นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน เป็นผู้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14)
-นายธัญพิสิษฐ์เป็นผู้เสนอให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยนายธัญพิสิษฐ์ แจ้งว่าอาการป่วยของนายทักษิณเข้าขั้นวิกฤต แต่มีระยะเวลาที่ต้องรอดำเนินการในการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจถึง2 ชั่วโมง แต่ไม่ให้แพทย์เวรกลางคืนมารักษานายทักษิณก่อน
-รายละเอียดในการส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เช่น อาการของนายทักษิณขณะไปขึ้นรถพยาบาล การตรวจอาการป่วยของนายทักษิณอีกครั้ง เป็นต้น รวมถึงรายละเอียดของห้องที่นายทักษิณพักชั้น 14
อย่างไรก็ตามในการไต่สวนนายธัญพิสิษฐ์ ศาลกล่าวย้ำให้นายธัญพิสิษฐ์เบิกความอย่างตรงไปตรงมา
(4) นางสาวจิราพรและนางสาวณิชามล ศาลไม่ได้ซักถามมาก เนื่องจากพยานทั้ง 2 ปาก ไม่ทราบอาการป่วยของนายทักษิณ
4. เหตุที่บันทึกข้อมูลข้างต้น และนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยแท้
มิได้มีเจตนาจะให้ผู้อ่านปักใจเชื่อไปในทางที่ผู้ใดจะเสียหาย
เจตนาแท้จริง ต้องการย้ำว่า ศาลฎีกาฯ ได้ทำหน้าที่ไต่สวนค้นหาความจริง โดยรับฟังข้อมูลจากพยาน หลักฐาน อย่างละเอียด
และไม่ว่าศาลฎีกาฯ จะชี้ขาดอย่างไร ทุกฝ่ายจะต้องเคารพ และให้ถือเป็นข้อยุติในประเด็นการบังคับโทษตามคำพิพากษาให้จำคุกนายทักษิณ
5. ประชาคมแพทย์เรียนรู้อะไร ถอดบทเรียนอะไร?
แฟนแพจ “ประชาคมแพทย์” ได้นำเสนอ ว่าด้วย “กรณีศึกษาทางจริยธรรม : ผู้ต้องขังชายอายุ 74 ปี กับการรับปรึกษาทางโทรศัพท์โดยแพทย์เวร”
เนื้อหาบางส่วน น่าสนใจ ระบุว่า
“...ชายไทยอายุ 74 ปี ซึ่งมีโรคประจำตัวถึง 4 โรค ได้แก่ 1. โรคหัวใจขาดเลือด 2. พังผืดเกาะปอด (Pulmonary fibrosis) 3. ความดันโลหิตสูง 4. โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
ในคืนแรกของการถูกควบคุมตัวในเรือนจำ เขามีอาการ แน่นหน้าอก, ความดันสูง, และ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งล้วนเป็น อาการฉุกเฉินในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง หรือเรียกว่ากลุ่ม 608
ประเด็นทางจริยธรรม: เมื่อแพทย์เวร “รับปรึกษาทางโทรศัพท์” โดยไม่มาตรวจ ถือว่า ไม่ปฏิบัติมาตรฐานตามประกาศแพทยสภาที่ 54/2563 ว่าด้วย Telemedicine ข้อ 4 และ 5 อย่างเคร่งครัด เพราะอาการตามคำบอกเล่าดังกล่าว ถือว่าวิกฤต ถ้าเป็นดังที่บอกเล่า ซึ่ง
1) แพทย์เวรอยู่ห่างผู้ป่วยเพียง 300 เมตร แต่ไม่มาตรวจร่างกายด้วยตนเอง หรือส่งผู้ป่วยไป ให้ตนที่เป็นแพทย์เวรตรวจ ถือเป็นการละเลยหน้าที่ในระดับเบื้องต้น
แน่นหน้าอก + SpO2 ต่ำ = อาการเร่งด่วนที่ต้อง “bedside assessment”
การวินิจฉัยทางโทรศัพท์ในกรณีนี้ เสี่ยงต่อการวินิจฉัยผิดพลาดร้ายแรง
2) ผู้ป่วยมีโรคที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตเฉียบพลัน
เมื่อวิเคราะห์โรคเฉพาะ ผู้ต้องขังรายนี้ ความเป็นไปได้มากที่สุดมี 4 กรณี
1.Acute Coronary Syndrome เนื่องจากมีประวัติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
2.Pneumothorax เนื่องจากมีประวัติพังผืดในปอด มีโอกาสเกิดลมรั่วในปอด เนื่องจากปอดแตกเฉียบพลันที่เกิดเอง เพราะปัจจัยเสี่ยงที่ปอดมีพังผืด
3.Pulmonary Embolism เนื่องจากการอยู่ในห้องขัง ซึ่งอาจไม่ได้ขยับตัวนานเกินไป อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด และเสียชีวิตทันทีได้
4.Acute Heart Failure เนื่องจากอาจกระตุ้นโดยความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการถูกจำคุกครั้งแรกในชีวิต อาจเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งมีภาวะที่หัวใจอ่อนกำลังทันที หรือเรียกว่า ภาวะหัวใจสลาย จนกล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน Takotsubo cardiomyopathy (Stress induced cardiomyopathy)
โรคทั้งหมดนี้ ไม่สามารถวินิจฉัยผ่านโทรศัพท์ได้
3) ระบบแพทย์เวรต้องมี Trigger Point ให้ตรวจจริง เช่น แน่นหน้าอก + โรคหัวใจ + SpO2 ต่ำ
ถ้าระบบไม่มีการบังคับให้แพทย์มาตรวจเอง ( หรืออย่างน้อยต้องรีบส่งผู้ต้องขัง ไปยัง ห้องฉุกเฉิน ที่แพทย์เวรประจำ ให้ตรวจ ประเมิน ด้วยตนเอง ) ก็ต้อง ถือว่ามีช่องโหว่ร้ายแรงในเชิงระบบ และถือเป็นความบกพร่องของผู้อำนวยการโรงพยาบาล และผู้บริหาร
.......
ประเด็นสำคัญที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต้องเตรียมชี้แจงต่อศาล
หากอ้างว่า “เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลราชทัณฑ์”ในการรักษา ซึ่งก็ถือว่า ข้ามขั้นตอน เพราะก่อนจะรู้ว่า รักษาไม่ได้ ต้อง รู้ว่า อาการฉุกเฉินนี้ เกิดจากอะไรก่อน คือต้องวินิจฉัยก่อน นั่น คือพื้นฐานของแพทย์
ตรวจ>>วินิจฉัยว่าเป็นอะไร>>รักษาเบื้องต้น >> ถ้าไม่ได้ ค่อยส่งต่อ
ซึ่งไม่สามารถข้ามขั้นตอนได้
ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต้องเตรียมคำตอบอย่างชัดเจน ว่า : ขีดความสามารถของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด, ลมรั่วในปอด, ภาวะออกซิเจนต่ำ หรือภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน มีข้อจำกัดตรงไหน?
มี EKG, ออกซิเจน, เครื่องวัดความดัน, เอกซเรย์, ยากระตุ้นหัวใจ,ยาอมใต้ลิ้นขยายหลอดเลือด, การระบายลมรั่วในปอดเบื้องต้น (อาจใช้เข็มเล็กๆ เจาะผ่านหน้าอก ก็ช่วยชีวิตได้, แพทย์เวร และ เวรพยาบาล อยู่ในพื้นที่ ที่พร้อมให้บริการ หรือไม่ ?
แพทย์เวรมีความรู้ความสามารถ ตามเกณฑ์มาตรฐานแพทยสภาหรือไม่ ?
(หากไม่มี เป็นหน้าที่ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จะต้อง ร้องเรียนให้แพทยสภาสอบสวน การวางเฉยถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือถ้าเห็นด้วยกับ การละเลยทางจริยธรรมของแพทย์เวร ที่ให้การวินิจฉัยทางโทรศัพท์ โดยไม่มี Bedside assessment and treatment โดยแพทย์ ผู้อำนวยการก็ต้องรับการสอบสวนโดยแพทยสภา ทางจริยธรรม เพิ่มเติม เช่นกัน)
โรงพยาบาลที่อยู่ ห่างจากผู้ต้องขังเพียง 300 เมตร ไม่สามารถประเมินขั้นต้นได้เลยหรือ ถ้ายึดถือตามความเห็นของ แพทย์เวรหรือพยาบาลเวร?
คำถามนี้ จะเป็น “ประเด็นสำคัญในการไต่สวน” ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568
และจะสะท้อนถึง ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลในฐานะหน่วยแพทย์รัฐภายใต้เงื่อนไขพิเศษของราชทัณฑ์
หากไม่สามารถอธิบายได้อย่างโปร่งใส ก็อาจถูกตั้งคำถามในเชิงระบบ และในเชิงจริยธรรมของผู้บริหาร และแม้กระทั่ง เป็นมูลเหตุแห่งการ ถูกเอาผิด ในทาง คดีอาญาต่อไป...” - Admin ประชาคมแพทย์
6. สุดท้าย ความจริงที่ค้นพบจากการไต่สวนการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหลายด้าน
ทั้งในด้านการยุติธรรมของบ้านเมือง และด้านการสร้างเสริมจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี