1. ล่าสุด ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ ระบุว่า ได้ลงนามในจดหมายถึง 12 ประเทศแล้ว เพื่อแจ้งอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ จะเก็บจากสินค้าของประเทศเหล่านั้น โดยบอกว่าประเทศไหนบ้าง จะเป็นที่ทราบกันภายในวันจันทร์ (7 ก.ค.)
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ประเทศต่างๆ บางประเทศโดนไปเกือบ 50%
สินค้าจากประเทศไทยที่ โดนเรียกเก็บในอัตรา 36%
แต่ทั้งหมด ชะลอไว้ เพื่อให้ประเทศคู่ค้าเข้ามาขอเจรจาทำข้อตกลงลดภาษี
ช่วงเวลาผ่อนผัน จะหมดลงในวันที่ 9 ก.ค.นี้
ประเทศที่สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงแล้ว เช่น อังกฤษ เวียดนาม ฯลฯ
สำหรับเวียดนามนั้น สหรัฐฯยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามส่วนใหญ่ จากที่ประกาศไว้ 46% เหลือ 20% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม ส่วนสินค้ากลุ่ม Transshipping จะถูกเก็บที่ 40% นอกจากนี้ เวียดนามจะงดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หรือปลอดภาษี
2. ไทยยังเจรจาไม่สำเร็จ กลับบ้านมือเปล่า
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจามาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา
ระบุว่า ในการเดินทางเยือนครั้งนี้ “ทีมไทยแลนด์” ได้ประชุมกับหลายฝ่าย และได้พบทั้งภาครัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระดับนโยบาย และภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา ที่มีการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงได้พบกับภาคการเกษตรของสหรัฐอเมริกา ที่ภาครัฐสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ
ในส่วนของรายละเอียดการเจรจานั้น การเข้าประชุมอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ยังทำให้เข้าใจแนวคิดของทางฝ่ายสหรัฐ และแนวคิดของภาคส่วนอื่นๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ โดยได้รับฟังทั้งข้อเสนอ และข้อกังวลจากฝ่ายสหรัฐซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับทั้งอัตราภาษีและการกีดกันทางการค้าอย่างรอบด้าน โดยคณะทำงานจะนำความเห็นที่ได้ทั้งหมด กลับไปประกอบการทำงาน และเจรจาในระดับเทคนิคและส่งกลับไปให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกาโดยเร็ว
“การเจรจาในครั้งนี้ มีข้อสรุปที่เป็นไปด้วยดี ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ขอบคุณประเทศไทยที่กระตือรือร้นเข้าร่วมเจรจา และไทยจะรับข้อเสนอทั้งหมด กลับไปจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมยืนยันว่า จุดยืนของคณะทำงานฝ่ายไทย จะต้องได้ข้อตกลงที่ปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน และได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
ซึ่งแม้การเจรจาจะยังต้องเดินหน้าต่อ เพื่อให้บรรลุประโยชน์สูงสุดของ 2 ประเทศ ตนและคณะทำงาน จะยังทำงานหนักมากขึ้น เพื่อปรับเงื่อนไขของฝ่ายไทยให้ชัดเจน และสร้างความเข้าใจต่อสหรัฐอเมริกาว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อไป” - นายพิชัยกล่าว
พูดง่ายๆ ว่า ยังดีลไม่ได้ เจรจาไม่สำเร็จ !!!
บอกแค่ว่า ได้รู้ข้อมูลและแนวคิดของสหรัฐเพิ่มเติม จะกลับมาทำการบ้านใหม่
เพิ่งรู้เหรอ!!!!
ในทางภูมิรัฐศาสตร์ และพื้นฐานทางเศรษฐกิจสำหรับสหรัฐในภูมิภาคอาเซียนแล้วไทยคือเป้าหมายสำคัญที่สุดของสหรัฐ เราจึงมีศักยภาพและโอกาสมากกว่าทุกประเทศ จะเห็นว่า สหรัฐประกาศภาษีโต้ตอบไทยต่ำกว่าทุกประเทศบนคาบสมุทรอินโดจีน
มันจึงไม่ใช่ว่าไทยไม่มีแต้มต่อ ไม่มีโอกาสต่อรอง แต่เรารู้จักใช้ศักยภาพเต็มที่หรือยัง ทุกด้าน ทุกหน้า
3. ช่างน่าหดหู่เหลือเกิน ฝีมือทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเพื่อไทย
การขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงก็ล้มเหลว ไม่ตรงปก
การเจรจาแก้ปัญหาระดับนานาชาติ ก็ไม่เอาอ่าว
โหลยโท่ย เละเทะ
กัปตันก็อนุบาล บริวารก็ไร้ฝีมือ
คนที่เคยเชื่อถือ ศรัทธา หลงเลือกมา จนได้โอกาสทำงานแล้ว ได้แต่ส่ายหน้า เอือมระอาที่สุด
4. นักลงทุนต่างลุ้นระทึก ประเทศไทยจะเจรจาต่อรองขอลดอัตราภาษีได้แค่ไหนอย่างไร?
จะแลกกับอะไรบ้าง?
อย่าลืมว่า เราจะลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเหลือ 0% เหมือนเวียดนามไม่ได้และไม่ดีต่อประเทศไทยแน่นอน เพราะภาคการผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรมบางส่วนจะถึงกาลวิบัติทั้งหมด
บล.กรุงศรี มองว่า ถ้าไทยถูกเก็บภาษีสูงกว่า 25% ( Worst Case) ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับฐาน และมีโอกาสปรับลงทดสอบ low เก่า บริเวณ 1,053 จุด
ในความเป็นจริง อัตราที่เวียดนามเจรจาได้ ย่อมถูกเปรียบเทียบกับไทย เพราะไทยกับเวียดนามคือคู่แข่งในการส่งสินค้าไปขายสหรัฐ
ถ้าไทยได้ในอัตราที่ต่ำกว่า 20% จะเป็นผลบวกต่อประเทศไทย
แต่ถ้ามากกว่า ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ การส่งออก และตลาดหุ้น
วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ถ้ายังไม่ได้ข้อสรุปผลเจรจา ถ้าไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% การส่งออกคงวิบัติ ภาคการผลิตในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรง ตลาดหุ้นอาจร่วงต่ำกว่า 1,000 จุด ฯลฯ
นี่คือโอกาสสุดท้ายที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะได้แสดงฝีมือ
5. จัดเก็บภาษีพลาดเป้า
ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สถานการณ์จัดเก็บรายได้รัฐบาล ในปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 2567-ก.ย. 2568) ค่อนข้างลำบาก โดยจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดี และหลายปัจจัยที่เปลี่ยนไปจากตอนทำประมาณการที่ตั้งเป้าไว้ค่อนข้างสูง ทำให้จนถึงสิ้นปีงบประมาณมีโอกาสที่จะจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารที่ตั้งไว้ในระดับใกล้ ๆ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะต้องพยายามบริหารจัดการปิดหีบให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย
“..สถานการณ์จัดเก็บรายได้ช่วง 8 เดือนแรก (ต.ค. 2567-พ.ค. 2568) กระทรวงการคลังรายงานว่า รัฐบาลเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,704,184 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 12,753 ล้านบาท หรือ 0.7% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 28,834 ล้านบาท หรือ 1.7%
ทั้งนี้ รายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการ หลัก ๆ มาจากภาษีรถยนต์ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ...
โดยในส่วนของ 3 กรมรายได้ จัดเก็บรายได้ช่วง 8 เดือนแรกต่ำกว่าประมาณการรวมกัน 55,623 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 3% แบ่งเป็น กรมสรรพากรจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 7,795 ล้านบาท หรือ 0.6% กรมสรรพสามิต จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 41,992 ล้านบาท หรือ 10.6% และกรมศุลกากร จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 5,836 ล้านบาท หรือ 7.1%
ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่น ยังสูงกว่าประมาณการ ซึ่งในส่วนรายได้จากการประมูลคลื่นมือถือกว่า 40,000 ล้านบาทนั้น จะทยอยนำส่งเข้าคลัง โดยจะเข้าในปีงบประมาณ 2568 แค่บางส่วน เพราะตามกฎหมายไม่ได้ให้ส่งทั้งหมดภายในปีงบประมาณเดียว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนฐานะการคลัง ช่วง 8 เดือนแรกจะพบว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณถึง 777,123 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าถึง 356,953 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 85%
ขณะที่เงินคงคลังอยู่ที่ 338,541 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 55,719 ล้านบาท หรือลดลง 14.1%
…แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การปิดหีบในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะต้องกู้ชดเชยขาดดุลจนเต็มกรอบวงเงิน 865,700 ล้านบาท ขณะเดียวกัน หากสามารถลดการใช้งบประมาณรายจ่ายลงได้บางส่วน อย่างกรณีงบประมาณที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไป 1.15 แสนล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือหากไม่ได้ใช้ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยให้ปิดหีบลงตัวมากขึ้น รวมถึงสุดท้ายหากจำเป็นต้องกู้เสริมสภาพคล่อง ก็ต้องมีการปรับแผนบริหารหนี้ นื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้บรรจุวงเงินนี้ไว้ในแผน...”
6. หุ้นกู้เอกชนขอเลื่อนชำระหนี้มากขึ้น
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ThaiBMA เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน ทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ประเด็นใหญ่ที่สุดคือนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างช้า และมีความยากลำบาก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงแบบยืดเยื้อ และลากยาวตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ธุรกิจในแต่ละเซ็กเตอร์ไม่ง่ายนัก ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ และสามารถปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน และยังต้องติดตามนโยบายภาษีสหรัฐที่ยังไม่นิ่ง ทิศทางดอกเบี้ย เพราะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีทางเลือกที่จะไปใช้สินเชื่อกับสถาบันการเงินได้”
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ภาพรวมหุ้นกู้ที่ขอเลื่อนกำหนดชำระเงินคืนผู้ถือหุ้นกู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคาดว่าทั้งปี 2568 จำนวนที่ขอเลื่อนชำระมีโอกาสแซงหน้าปี 2567 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 มีหุ้นกู้ที่ขอยืดชำระหนี้ราว 14 บริษัท มูลค่า 1.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวน 14 บริษัท มีบริษัทที่เพิ่งเคยเลื่อนกำหนดชำระเป็นครั้งแรก 9-11 บริษัท ทั้งนี้ หากดูในปี 2567 หุ้นกู้ที่ขอเลื่อนชำระหนี้มีทั้งสิ้น 17 ราย มูลค่ากว่า 3.79 หมื่นล้านบาท
“ปีนี้ มีโอกาสที่หุ้นกู้จะขอยืดหนี้แซงปีก่อน เพราะเรามีเหตุการณ์ความผันผวนจากนโยบายภาษีทรัมป์ และเศรษฐกิจไทยก็ชะลอตัว ทำให้สายป่านของบริษัทหลายบริษัทเริ่มไม่ไหว แม้ว่ามูลค่าตอนนี้อาจจะน้อยกว่าปีก่อน แต่ทั้งปีอาจจะต้องรอดูอีก”
7. ประเทศกำลังเผชิญกับพายุใหญ่ทางเศรษฐกิจ ทีมเศรษฐกิจที่กำลังทำงาน ผู้นำรัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศชาติ ไม่มีความสามารถที่จะรับมือได้เลย
เรียกว่า กัปตันอนุบาล บริวารก็ไร้ฝีมือ
แทนรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์จะเลิกเล่นการเมือง เอาทรัพยากรและเวลาทุ่มเทเพื่อบ้านเมือง ไม่เล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพรรคพวกตน สร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ดึงคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันนำพาบ้านเมืองให้รอดพ้นภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ
แต่รัฐบาลกลับมุ่งประสงค์การเมืองการสร้างภาพไม่หยุดหย่อน
ล่าสุด จัดงาน “SPLASH – Soft Power Forum 2025” มหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ชูเอาผู้นำประเทศ 3 คน ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร, ทักษิณ ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์บนเวที
ตอกย้ำว่า นี่คือกิจกรรมเพื่อมุ่งสร้างภาพการเมืองให้กับพลพรรคเพื่อไทย มากกว่าการยกระดับพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง
ถามง่ายๆ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศชาติ มีอดีตนายกฯ 3 คนนี้เท่านั้น ที่โดดเด่นที่สุด จริงหรือ?
ถ้าเป็นกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยเพื่อโปรโมทพรรค ก็ว่าไปอย่าง
แต่นี่คือกิจกรรมที่ใช้งบประมาณแผ่นดินของประเทศชาติ ไม่ใช่งานพีอาร์ของพรรคการเมือง
ตอกย้ำว่า วิธีคิดและการทำงานของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ คือ ตัวเร่งความฉิบหายทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างชัดเจน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี