ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
ตรงกันข้าม ดูเหมือนฝ่ายกัมพูชาพยายามที่จะยั่วยุ หวังให้เกิดเหตุปะทะ เพื่อจะได้หยิบไปอ้างสำทับกับแผนการที่เดินเกมไว้กับศาลโลก และยูเอ็น
1. ไทยไม่ได้รุกรานกัมพูชา มีแต่อะลุ้มอล่วย
ฮุนเซนพูดเองว่า สมัยรัฐบาลลุงตู่ ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ดีมาก
นั่นเท่ากับฮุนเซนสารภาพความจริง ว่าที่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมารอบนี้ ไม่ใช่เกิดจากฝ่ายไทยรุกรานอะไรเลย
เพราะสมัยรัฐบาลลุงตู่ไทยเคยยึดถือเขตแดนอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงยึดถือเช่นนั้น นั่นเอง
ข้อกล่าวหาที่ว่าไทยรุกราน จึงเป็นเพียงข้ออ้างที่ยกขึ้นมาปิดบังอำพราง กลบเกลื่อนความต้องการผลประโยชน์ที่แท้จริงของฝ่ายฮุนเซน
2. พล.ท.กนก เนตระคะเวสนะ อดีตแม่ทัพภาคที่ ๒ และอดีตผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เคยรับผิดชอบดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ยืนยันว่า ทั้ง ๓ ปราสาท (ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนโต๊ด) อยู่ในเขตประเทศไทย
โดยยึดตามแผนที่ของกองทัพไทย คือ แผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายชัดเจน
ในช่วงปี ๒๕๕๑ ได้มีรั้วกั้นแนวชายแดน โดยทหารไทยเป็นผู้ถือกุญแจเปิด-ปิดตามเวลา
หากนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาจะขึ้นมาเที่ยวที่ปราสาทตามเมือนธม จ.สุรินทร์ จะต้องมารับบัตรคิว ก่อนผ่านขึ้นไปเที่ยวบนปราสาท
โดยได้ถ่ายภาพร่วมกับ รมช.กลาโหมกัมพูชา และผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ ๔ ในสมัยนั้น
ซึ่งได้ถ่ายภาพดังกล่าว วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ มีภาพของ พล.ท.เจีย มอญ ผบ.ภูมิภาคทหารที่ ๔ พล.ต.กนก ผบ.กกล.สุรนารี (ยศในขณะนั้น), พล.อ.เนียง พาด รมช.กลาโหม และ พล.ต.สลัยดึ๊ก (ยศในขณะนั้น) ไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับรั้วกันแนวชายแดน ปราสาทตาเมือนธม ถูกรื้อหลังการสู้รบปี ๒๕๕๔
เนื่องจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น มีนโยบายรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ลดความตึงเครียดชายแดน และส่งเสริมการท่องเที่ยว
3. จะเห็นว่า ฝ่ายไทยเรา เป็นฝ่ายอะลุ้มอล่วย รอมชอม เพราะเห็นเป็นเพื่อนบ้านกัน
ยังไม่นับเคยช่วยเหลือ ตั้งค่ายดูแลเขมรอพยพ ลี้ภัยสงคราม สมัยที่มีสงครามในเขมร
แต่สุดท้าย ฮุนเซนก็เหมือนงูเห่า แว้งกัด
ล่าสุด ปรากฏว่า ทูตกัมพูชาประจำ UN ส่งหนังสือของรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการปะทะกันของทหารไทย-กัมพูชา เมื่อ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ไปยัง UN
พร้อมแนบเอกสารของรัฐบาลกัมพูชา ยื่นเคลม 3 ปราสาท และ1 พื้นที่ ต่อศาลโลก ICJ เมื่อ 15 มิ.ย. โดยฝ่ายกัมพูชาต้องการให้บรรจุเป็นวาระของ UNGA ซึ่งปกติแล้ว จะมีการประชุมช่วงเดือนกันยายน ของทุกปี
ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่า การปะทะกันในวันที่ 28 พ.ค. นั้น ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเริ่มยิ่งก่อนและอ้างว่า แม่ทัพภาคที่ 2 ของไทยขู่จะใช้กำลัง และมีกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงเคลื่อนไหวที่อาจจะนำไปสู่ความเกลียดชังขัดแย้งระหว่างชาติ
4. นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า
เมื่อ 16 มิ.ย. 2468 เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชา ณ นครนิวยอร์ก ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ (UNSG) เกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวทางชายแดนไทย-กัมพูชา โดยขอให้เวียนหนังสือเป็นเอกสารของสมัชชาสหประชาชาติ ภายใต้ระเบียบวาระที่ 32 ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 79 เรื่อง Prevention of armed conflict
เมื่อ 19 มิ.ย. 2568 เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ณ นครนิวยอร์ก ได้มีหนังสือถึง UNSG นำส่งแถลงการณ์ Statement by the Royal Thai Government on Thailand - Cambodia border situation ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2568 ชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งท่าทีและการดำเนินการของฝ่ายไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ความตกลง MOU2543 (MOU2000) และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาทวิภาคีตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้และมีพันธกรณี พร้อมขอให้เวียนทั้งหนังสือลงนามและแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสารของสมัชชาสหประชาชาติ ภายใต้ระเบียบวาระที่ 32 ด้วยเช่นกัน
ขณะนี้ UNSG ได้ลงทะเบียนหนังสือของ ออท. ผทถ. กพช./นครนิวยอร์ก และหนังสือของ ออท. ผทถ. ณ นครนิวยอร์ก ข้างต้นเข้าสู่ระเบียบวาระที่ 32 ของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 79 แล้วซึ่งมีนัยเป็นการเวียนหนังสือให้ประเทศสมาชิก UN รับทราบ
ในหลักการ การเวียนหนังสือของประเทศสมาชิกภายใต้ระเบียบวาระของสมัชชาสหประชาชาติ เป็นกระบวนการเพื่อบันทึกข้อมูลหรือท่าทีของประเทศสมาชิกไว้เป็นหลักฐาน (place on record) และทำให้เกิดการรับรู้ของประเทศสมาชิก ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อกัมพูชามีหนังสือถึงสมัชชาสหประชาชาติ ฝ่ายไทยจึงได้ดำเนินการมีหนังสือถึงสมัชชาสหประชาชาติด้วยเช่นกัน เพื่อชี้แจงท่าทีของประเทศไทย
ทั้งนี้ การเวียนเอกสารดังกล่าวเป็นแนวทางการเวียนเอกสารปกติของสหประชาชาติ
5. นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.)
ยืนยันว่า กลไกภายในกระทรวงการต่างประเทศ ในการบริหารสถานการณ์ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดของสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ได้ดำเนินการประสานงานด้านต่างๆ ในมิติการต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
จัดตั้งคณะทำงานระดับกระทรวง เพื่อติดตามสถานการณ์และประสานงานสนับสนุนการบูรณาการภายในกระทรวง และกรมที่เกี่ยวข้อง
รวมไปถึงเผยแพร่ข้อมูลระหว่างกระทรวง กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ในต่างประเทศทั่วโลก
นางมาระตี ระบุว่า “ตามที่ปรากฏรายงานข่าวในสังคมออนไลน์เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา เกี่ยวกับหนังสือของเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ลงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 แจ้งความประสงค์ของกัมพูชา ที่จะฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ
กระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการไปที่เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ให้มีหนังสือเช่นกันถึงเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริง ตลอดจนท่าทีและการดำเนินการของฝั่งไทย ในเรื่องนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม และฝ่ายไทยได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติเวียนหนังสือชี้แจงของไทย เป็นเอกสารของสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อให้สมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศได้รับทราบเช่นกัน ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และชี้แจงจุดเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...
เมื่อวานนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกข่าวสารนิเทศอีก 1 ฉบับ เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีของไทย และข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง”
ยืนยันว่า ตั้งแต่เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา จุดยืนของรัฐบาลไทย คือ การแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาด้วยสันติวิธี ภายใต้พันธกรณี 2543 ที่ทั้งสองฝ่ายต้องแก้ไขปัญหาเขตแดน ผ่านการเจรจาภายใต้กลไก JBC
6. อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมาย ให้มุมมองว่าด้วยวิกฤตไทย-เขมร
ระบุว่า มี 3 วิกฤตซ้อนกัน สัมพันธ์กัน กล่าวคือ
“1. วิกฤตระบอบฮุนเซน เผด็จการฮุนเซนกำลังจะพังลงทั้งระบอบ ประชาชนยากแค้น นานาชาติเลิกคบ เศรษฐกิจใกล้ล้มละลาย จึงสร้างไทยเป็นศัตรู รุกล้ำดินแดน ให้คนเขมรเกลียดชัง เห็นลูกชายคือนายกฯฮุน มาเนต เป็นวีรบุรุษ จึงเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้ขึ้นมา
- ยั่วยุที่ตาเมือนธม
- ขุดคูเลตช่องบก
- จัดชุมนุมประท้วงทั้งประเทศ
- ยื่นฟ้องศาลโลก
- ส่งทหารตรึงเต็มชายแดน
- เตรียมสร้างสถานการณ์รบ
- แล้วแจ้นฟ้องอาเซียน-ยูเอ็น
น่าเชื่อว่าระบอบ ฮุนเซนอยู่ไม่ได้นาน
แต่ต้องระวังแรงดิ้นเฮือกสุดท้ายโดยสร้างการปะทะชายแดน
2. วิกฤตฮุน – ชิน ตระกูลชินติดบุญคุณตระกูลฮุน ลงทุนในเขมรไว้มาก ถึงขนาดตกลงสร้างพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแบ่งสิทธิ ไทย-เขมร คนละครึ่ง เพื่อให้สัมปทานร่วมและแบ่งนายหน้าจากบริษัทน้ำมัน
ต่อมา ตระกูลชินมีอำนาจขึ้นมาใหม่แล้ว แต่ทำไม่ได้ตามสัญญา ทวงแล้วเฉย จึงเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นลำดับ :
- ฮุนเซนแล่นพบทักษิณทันทีที่ออกจากโรงพยาบาล
- ทักษิณขึ้นเวที NATION เสนอโครงการแบ่งน้ำมันอ่าวไทยคนละครึ่ง
- กระแสค้านรุนแรงจนทำไม่ได้,
- อุ๊งอิ๊งค์ไปพบเจรจาฮุนเซนที่บ้านแต่ไม่สำเร็จ
- ฮุนเซนลงมือสั่งสอนเปิดคลิป แบล็กเมล์ต่างๆนานา
ล่าสุด มีข่าวอุ๊งอิ๊งค์ได้โทรคุยมาครองเรื่องความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส เข้าใจว่ายืนยันกับประธานาธิบดีมาครอง ผ่านไปยังบริษัทน้ำมันฝรั่งเศสว่า โครงการสัมปทานร่วมพลังงานอ่าวไทย ตระกูลฮุน-ชิน ยังเดินหน้าต่อ
เป็นไปได้ว่า ในที่สุดวิกฤตนี้จะหายไปเพราะระบอบฮุนเซน หรือ ระบอบทักษิณจะล้มไปก่อน
3. วิกฤตการเมืองไทย
- ทักษิณคืนอำนาจด้วยดีลลับ ให้ลูกสาวเป็นนายกฯ หุ่นเชิด
- ต้องเติมนโยบายที่อยู่นอกเวทีหาเสียงหลายประการ
- เพื่อหวังเป็นรัฐบาลพรรคเดียวหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้ ทั้งหาเสียงแจกเงินหมื่น, และหาเงินจากกาสิโนคอมเพล็กซ์
- แต่เกิดปัญหาจากวิกฤตอื่น ทั้ง ฮุนเซนปล่อยคลิป,
- ภูมิใจไทยได้จังหวะถอนตัว,
- ประชาชนชุมนุมขับไล่
- จนศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงานอุ๊งอิ๊งค์
น่าเชื่อว่า ทักษิณจะเจรจายอมพรรคส้ม เรื่องนิรโทษ 112 และ ตั้ง ส.ส.ร. เพื่อตั้งรัฐบาลสีแสด ( แดง+ส้ม ) แล้วขายชาติต่อไปให้จงได้”
7. น่าคิดว่า...
นายกฯ ชินวัตร คนที่ 1 ปูสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฮุนเซน ให้มี MOU 44 ผลประโยชน์ทางทะเล ใช้เขมรเป็นฐานซ่องสุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ล้มการประชุมอาเซียน ในช่วงที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ
นายกฯ ชินวัตร คนที่ 2 รื้อรั้วให้ทหารเขมรเข้ามาปราสาทตาเมือนธมได้สะดวก ตัวเองหนีคดีหนีคุกไปทางเขมร ให้ฮุนเซนช่วยเหลือ ทวงบุญคุณ
นายกฯ ชินวัตร คนที่ 3 อังเคิลอยากได้อะไรจะจัดให้
มันจะมีเพลงอะไรเหมาะกว่า “หนักแผ่นดิน” หรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี