เดือนก.ค. เป็นเดือนที่กลไกกระบวนการยุติธรรมกำลังทำงาน
1. คดีศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา กรณีคลิปเสียงนายกฯอุ๊งอิ๊งค์กับฮุนเซน ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ศาลรับคำร้อง และสั่งนายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว
ถ้าอุ๊งอิ๊งค์ลาออก คดีส่วนนี้ก็คงจบ ไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด ไม่ต้องถูกตีตราประทับติดตัวไปจนตาย
แต่ถ้าดึงดัน ถึงขนาดว่าจะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีวัฒนธรรม ทำงานต่อไป เกรงว่าจะจบแบบที่ชินวัตรทั้งตระกูลจะต้องเสียใจภายหลัง
2. คดีศาลอาญา กรณีทักษิณถูกฟ้องเป็นจำเลยข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพ์ จากการพูดให้สัมภาษณ์พาดพิงกล่าวหาถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความเสียหาย
ล่าสุด อยู่ในขั้นตอนพิจารณาคดี ทักษิณไปขึ้นศาลสองวันติดแล้ว
นี่เป็นคดีที่ทักษิณได้ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
3. ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำลังไต่สวน กรณีบังคับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฯ ที่มีการนำตัวนายทักษิณไปอยู่ชั้น 14 ต่อเนื่องจนกระทั่งถูกปล่อยตัวกลับบ้าน ไม่เป็นไปตามหมายจำคุก 3 คดี (ทุจริตเอ็กซิมแบงก์ หวยบนดิน หุ้นชินฯ) หรือไม่?
คดีนี้ ก็กำลังอยู่ระหว่างการไต่สวน โดยวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) ก็มีนัดไต่สวน และต่อเนื่องไปอีก ตามที่ศาลสั่งเรียกตัวพยานเข้าไต่สวนเพิ่มเติมกว่า 20 ปาก
ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่เป็นผู้ดำเนินการส่งตัวทักษิณเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
คดีนี้ น่าจะมีคำสั่งชี้ขาดออกมาได้ เร็วกว่าคดีอื่นๆ
ทักษิณจะต้องกลับไปรับโทษตามหมายจำคุกคดี 3 คดีนั้น หรือไม่?
4. เพจ ประชาคมแพทย์ ได้สรุปประเด็นสำคัญ นำเสนอแผนภาพ
ทำให้เห็นภาพรวมของตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวทักษิณไปชั้น 14 พร้อมตั้งคำถามให้คิดว่า “ใครกำลังลอยตัวไปอย่างเนียนๆ ในจุดเปราะบางของคดี”
เนื้อหาที่น่าสนใจ ระบุว่า
“...ในคดีที่สังคมตั้งคำถามว่า ผู้ต้องขังรายหนึ่ง ซึ่งมีสถานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับ “สิทธิพิเศษ” ในการถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่คืนแรกที่เข้าเรือนจำ… สิ่งที่สำคัญกว่าแค่คำถามว่า “ใครสั่ง?” ก็คือ “ใครไม่เคยถูกถามเลย?” และ “ใครเคยถูกถามแล้ว? ละก็ได้รับการการันตี ยกคำร้อง ไปเรียบร้อยแล้ว ในหมวกผู้บริหาร และได้ดิบได้ดีแล้ว”
เมื่อเราพิจารณา Flow การส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ตามภาพที่แนบ จะเห็นว่า :
จุดเริ่มต้นมาจากอาการ “แน่นหน้าอก ความดันสูง และระดับออกซิเจนต่ำ” ซึ่งเป็นอาการที่ ควร ประเมินวินิจฉัยและ รักษาโดยแพทย์เร็วที่สุด
พยาบาลเวร เป็นคนแรกที่ประเมิน และติดต่อขอคำปรึกษาจากแพทย์เวร
แพทย์เวร นพ.นทพร ให้ความเห็นว่า “ควรส่งต่อไปรพ.ตำรวจ” (แม้อยู่ไกลถึง 21 กม. และ มี รพ.ราชทัณฑ์อยู่ห่างแค่ 300 เมตร ซึ่งตนก็ปฏิบัติงานอยู่และมีหน้าที่ ประเมิน ซ้ำ และบำบัดรักษาเบื้องต้น ด้วยตนเอง โดยเฉพาะถ้ารู้ว่าระดับออกซิเจนต่ำ ในคนที่แน่นหน้าอก ต้องรีบตรวจประเมินเอง ก่อนส่งตัว มีความเป็นไปได้หลายอย่างเช่น ลมรั่วในปอด หรือ เส้นเลือดใหญ่แตก Ruptured Aortic Aneurysm ขณะนี้ แพทย์ท่านนี้ กำลังจะเริ่มอยู่ในกระบวนการสอบสวน ของแพทยสภา)
เมื่อการส่งตัวเริ่มเคลื่อนตัว เหตุผลถูกกลบด้วยคำว่า “การแพทย์” และ ความเห็นของแพทย์เวรกลายเป็นคำตอบสุดท้าย ... จริงหรือ?
คำถามที่สังคมควรถามมากกว่านั้นคือ :
พยาบาลเวรปรึกษาใคร? แพทย์เวรโทรศัพท์หาใครก่อนตอบ? ใครเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่อาจอยู่ในสายคืนนั้นด้วย ?
จุดเปราะบางที่ไม่มีใครอยากอยู่ตรงนั้น
การแพทย์มีขั้นตอน และการบริหารก็มี “ลำดับชั้น”
ถ้าทุกอย่างอยู่บนระบบคำสั่ง ใครกันแน่ที่ “ไม่สั่ง เป็นลายลักษณ์อักษร” แต่ “รู้อยู่แล้ว” ว่าจะเกิดอะไร และใครกันที่ “ให้คำปรึกษา” โดยไม่มีลายลักษณ์อักษร
ใครอยู่ตรงจุดที่ มีอำนาจเพียงพอจะยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ แต่เลือก “ลอยตัว” หนีออกจากจุดเปราะบาง
ประกาศแพทยสภา ฉบับที่ 54/2563 : กฎหมายที่ใครก็ลบไม่ออก
“แม้คุณจะเป็นผู้บริหาร แต่คุณก็ยังเป็นแพทย์อยู่วันยังค่ำ”
นี่คือหัวใจที่แพทยสภาเอง ไม่อาจเพิกเฉยได้
ในกรณีที่มีการปรึกษาหารือกันระหว่าง แพทย์เวร กับ ผู้บังคับบัญชาที่เป็นแพทย์ด้วยกันเอง เพื่อช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับผู้ป่วยรายหนึ่ง
ผู้ที่ให้คำแนะนำหรือร่วมให้ความเห็น ย่อมต้องอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพตามประกาศแพทยสภาฉบับที่ 54/2563 เพราะ การตัดสินใจทางการแพทย์ร่วมกัน (Shared Decision Making) ก็ถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
นั่นหมายความว่า คุณไม่ได้พ้นจากความรับผิดชอบ เพียงเพราะคุณ “ไม่ได้ลงชื่อ”
และ การยืนกรานที่จะอ้าง MOU ระหว่างโรงพยาบาล หรือใช้บทบาท “ผู้บริหาร” มาบดบังความรับผิดชอบ ในฐานะแพทย์ ก็ไม่อาจลบล้างข้อกฎหมายนี้ได้
แค่ Telemedicine หรือคือ Chain of Command?
สิ่งที่ใครบางคน กำลังจะเบิกความ ในฐานะพยาน ต่อศาล ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 กำลังจะให้คำตอบ กับสังคม ไปพร้อมกับ การเลือกที่จะเป็น พยาน หรือ ผู้ต้องหาในคดีต่อไปของเขาเอง
ถึงเวลาแพทยสภาทบทวนและตรวจสอบ ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นแพทย์ ได้ละเลยหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดทางจริยธรรมในการให้คำปรึกษาทางวิชาชีพหรือไม่?
การให้ความเห็นหรือแนะนำในนาม “ผู้บังคับบัญชา” โดยไม่แสดงตนในเอกสารหรือเวชระเบียน ถือว่า ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของแพทย์ หรือไม่?
หรือเป็นความพยายาม “ลอยตัว” เหนือความรับผิด โดยปล่อยให้ “แพทย์เวร” เป็นแพะ?
...ขอแสดงความยินดีกับ “นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข” ที่มีความก้าวหน้าจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปเป็น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ มีนบุรี...”
นอกจากนี้ เพจประชาคมเพจ ยังแนะให้จับตาการไต่สวน 4 ก.ค. (พรุ่งนี้) โดยให้ข้อสังเกตว่า
“...ขอส่งกำลังใจไปถึงนายแพทย์นทพร ปิยะสิน แพทย์เวรโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ผู้ที่กำลังยืนอยู่ ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิตและวิชาชีพแพทย์
ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่จะถึงนี้
เขาจะต้องขึ้นเบิกความในคดีที่สังคมทั้งประเทศกำลังจับตามอง
ซึ่งคำเบิกความของเขา…จะเป็นอีกหนึ่งหลักหมุดสำคัญ ที่จะสะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นแพทย์ของเขาเอง
ข้อเท็จจริงสำคัญที่ต้องย้ำให้ชัดเจนก็คือ...
ตามมาตรฐานปฏิบัติทางการแพทย์ทั่วไป
แพทย์เวรที่รับผิดชอบควรต้องทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยด้วยตนเองก่อน
เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น และวินิจฉัย และอาจทำการรักษาด้วยตนเอง ได้ทันที ในบางภาวะ กรณีรักษาไม่ได้ จึงจะตัดสินใจว่าควรส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใด ด้วยเหตุผลใด
แต่ในคดีนี้...มีคำอ้างว่า
นายแพทย์นทพร ได้ให้ความเห็นทางโทรศัพท์ อนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปยังโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ทำการตรวจร่างกายและประเมินอาการด้วยตนเองก่อน
ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนมาตรฐานทางการแพทย์ที่สำคัญ โดย ไม่ปฏิบัติตาม เกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา 2555 ประกอบกับประกาศแพทยสภา 54/2563 ว่าด้วย Telemedicine
หากเขาเลือกที่จะยอมรับคำอ้างดังกล่าว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางจริยธรรมทันที เนื่องจากการกระทำเช่นนั้น อาจเข้าข่ายละเมิดมาตรฐานวิชาชีพ
หรือในอีกมุมหนึ่ง...เขาอาจกำลังยินยอมที่จะตกเป็น “G.O.A.T.” เพื่อปกป้องบุคคลอื่น โดยไม่เปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว การตัดสินใจนั้นมีที่มาจากใคร หรือเกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันใด
แต่ถ้าเขาเลือกที่จะบอกความจริงทั้งหมด
โดยเปิดเผยถึงที่มาของคำสั่งหรือแรงกดดันที่เขาได้รับในคืนนั้น
เขาก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงอีกด้าน
การถูกเพ่งเล็ง หรืออาจเผชิญกับแรงกดดันจากคนบางกลุ่ม ที่ไม่ต้องการให้ความจริงถูกเปิดเผย
ไม่ว่าทางเลือกใด ชีวิตวิชาชีพของเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครเปลี่ยนได้คือ...ความจริง
และท้ายที่สุด…
“ความจริง” เท่านั้น ที่จะปกป้องเขาได้
วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 การเบิกความของเขา...จะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญในชีวิต...”
5. เดือนก.ค. เป็นเดือนที่กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ในคดีสำคัญอย่างเข้มข้น
หลังจากนั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาด ตัดสินพิพากษา หรือมีคำสั่งชี้ขาดต่อไป
จะเป็นบทพิสูจน์ศักดิ์ศรี และจิตวิญญาณของผู้เกี่ยวข้องในอำนาจตุลาการ จะรักษาความเป็นเสาหลักของประเทศชาติไว้ได้อย่างไร
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี