จำได้ไหม... กรณีนายกฯ เศรษฐา นำชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เข้าเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กระทั่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้นายเศรษฐาต้องพ้นนายกฯ ไป ส่วนนายพิชิตชิงลาออกไปก่อน
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนตราประทับติดตัวนายเศรษฐาไปตลอดกาล ระบุว่า
“ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายกฯเศรษฐา) รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2567 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายกฯเศรษฐา) รู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ย่อมเป็นกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ...”
สิ่งที่นายกฯแพทองธารบังอาจกระทำในขณะนี้ ร้ายแรงยิ่งกว่า
และชะตากรรมหลังจากนี้ จะเป็นอย่างไร?
1.นายกฯแพทองธารรู้แล้วว่าตนเองถูก สว.ยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
สว.ร้องว่า เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และหรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 160 (4) และ (5)
จากกรณีปรากฏคลิปเสียงที่อาศัยสถานะนายกฯไปสนทนากับฮุนเซนในลักษณะที่ทำให้ประเทศเสื่อมเสียเกียรติภูมิ ลดทอนศักดิ์ศรีและเกียรติของกองทัพบก และยังแสดงท่าทีโอนอ่อนเข้าร่วมผลประโยชน์เป็นฝ่ายเดียวกับผู้นำต่างชาติที่กำลังเป็นคู่ปรปักษ์ของราชอาณาจักรไทย กำลังข่มขู่คุกคามอธิปไตยแผ่นดินไทย ถึงขนาดบอกว่า “อยากได้อะไรจะจัดให้” – “ไม่อยากให้อังเคิลไปฟังฝ่ายตรงข้ามกับเรา แม่ทัพภาคที่สองเป็นคนของฝ่ายตรงข้ามกับเรา” ฯลฯ
ประชาชนออกมาชุมนุมเรือนหมื่นเรือนแสน เรียกร้องให้นายกฯอุ๊งอิ๊งค์แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
นายกฯอุ๊งอิ๊งค์รู้ทั้งรู้ ไม่สนใจไยดี แต่อาศัยอำนาจในฐานะนายกฯ ปรับครม. โดยแต่งตั้งให้ตนเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีวัฒนธรรมเพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่ง
ส่อเจตนาเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง โดยต้องการจะให้ตนเองยังคงได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากแม้นถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะปรากฏเหตุควรสงสัยว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
2.ยิ่งกว่านั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และสั่งแพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ขาด ด้วยปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง
นายกฯ แพทองธารยังบังอาจให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี นำตนเอง (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อเข้ารับหน้าที่ “รัฐมนตรีว่าการระทรวงวัฒนธรรม” ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568
นี่คือการกระทำอันบังอาจ อุกอาจ และสุ่มเสี่ยงละเมิดทั้งกฎหมายอาญาแผ่นดิน และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญร้ายแรงที่สุด
3. น่าคิดว่า พฤติการณ์ของนายกฯแพทองธาร รู้ทั้งรู้ รู้อยู่แก่ใจตนเอง ว่าตนเองมีปัญหาปมความซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง แต่ยังอาศัยสถานะนายกฯ กระทำการเป็นลำดับ ตั้งแต่ 1-2 เพื่อรักษาตำแหน่งในอำนาจรัฐของตนเองเอาไว้ต่อไป ส่อเจตนาหลบเลี่ยงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนาเล็งเห็นผลในการรักษาตำแหน่งอำนาจของตนเองและพวก หรือไม่?
แม้จะถูกทักท้วง วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ก็ไม่นำพา
4. แม้ฝ่ายรัฐบาลจะอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า “ความเป็นรัฐมนตรี” ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จึงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
แต่นักกฎหมายที่ใช้นามว่า “ทนายบ้านๆ” ได้อธิบายความไว้อย่างชัดเจน ระบุว่า
“...ผู้เขียนเห็นว่าที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล น่าจะมีความเห็นทางกฎหมายที่คลาดเคลื่อน ดังนี้
ประการแรก การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจโดยอาศัยมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องยกขึ้นมาพิจารณาประกอบมาตรา 170 (4) ของรัฐธรรมนูญ
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นมาตรการและวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึงและคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้อง เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่กรณีได้ยื่นคำขอ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล
มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้บังคับได้ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวนั้น”
ตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญข้างต้น แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจมีสถานะ “ความเป็นรัฐมนตรี” สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากอาจมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และหรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ประกอบกับ มาตรา 71 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาว่า “เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง”
ศาลจึงสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี
สำหรับเงื่อนไขของมาตรา 71 วรรคสอง คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ข้างต้นนี้
“มีผลใช้บังคับได้ไม่เกินหกสิบวัน”
คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ข้างต้น จึงเป็น “มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
การที่คนทั่วไปเข้าใจว่า “ศาลยังไม่ตัดสิน” จึงไม่สามารถสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะศาลมีอำนาจสั่งตามมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัยได้
ทำนองเดียวกัน การที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ยกข้ออ้างข้อเถียงว่า ศาลรัฐธรรมนูญสงสัยว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีสถานะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จึงมีผลกระทบกระเทือนต่อการทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วยนั้น ที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล ได้โต้แย้งว่า ความเห็นดังกล่าวเท่ากับเป็นการตัดสินไปเองก่อนศาล อีกทั้ง ที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล เห็นว่า สถานะความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะมีผลกระทบกระเทือนต่อตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ศาลตัดสินแล้วเท่านั้น
ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อน
เพราะคำสั่งของศาลตามมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก็มีผลกระทบกระเทือนต่อคุณสมบัติของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเมื่อศาลวินิจฉัยเสร็จจะมีผลย้อนหลังกลับมาถึงวันที่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประการหนึ่ง กับคำสั่งศาลตามมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวมีผลโดยตรงต่อคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร อีกประการหนึ่ง ซึ่งส่วนหลังนี้จะแยกไปกล่าวในอีกหัวข้อหนึ่ง
สำหรับผลย้อนหลังนั้น เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า
“ ...และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง”
ตามมาตรา 82 วรรคสองดังกล่าว หากศาลวินิจฉัย ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีสถานะ “ความเป็นรัฐมนตรี” สิ้นสุดลง ย่อมมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ศาลสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568
การที่มีผลย้อนหลังนี้จึงทำให้ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ สัมพันธ์กับ “มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัย”
เจตนาของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นเจตนาที่เล็งเห็นผลว่าอาจเกิดความเสียหายในภายภาคหน้าที่ยากต่อการแก้ไขเยียวยา จึงให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ดังนั้น หากเป็นความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากคุณสมบัติของคนคนใดคนหนึ่ง หากคนนั้นไปดำรงตำแหน่งใดก็ต้องหยุดไว้ก่อนทุกตำแหน่ง ไม่ใช่หยุดเฉพาะตำแหน่งนี้ แต่ให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นได้
ประการที่สอง ผลกระทบกระเทือนต่อคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ต่อมา วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สถานะความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 แต่ถัดมาเพียงวันเดียว คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ก็ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แม้ว่าที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลเห็นว่า “ไม่กระทบต่อคุณสมบัติของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร สามารถถวายสัตย์ปฏิญาณและสามารถทำหน้าที่ “รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม” ต่อไปได้
แต่น่าจะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญ “มีเหตุอันควรสงสัยว่า สถานะ “ความเป็นรัฐมนตรี” ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องมาจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร อาจไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และหรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
“ความสงสัยของศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นความสงสัยต่อ “ตัวนางสาวแพทองธาร ชินวัตร” อันเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่มีต่อ “ตัวนางสาวแพทองธาร ชินวัตร”
เปรียบได้กับเจ้าของบริษัทเกิดความสงสัยว่าพนักงานคนใดไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อเจ้าของบริษัทสั่งให้พักงานพนักงานคนนั้นไว้ก่อนแล้ว ต่อจากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนความผิด ระหว่างพักงาน เจ้าของบริษัทย่อมไม่กล้าเรียกพนักงานคนนั้นกลับมาทำงานและมอบหมายงานให้กับพนักงานคนนั้นเพิ่มเติมอีก หากมีเจ้าของบริษัทคนใดเรียกพนักงานที่อยู่ระหว่างพักงานกลับมาทำงานโดยที่การพิจารณาความผิดยังไม่แล้วเสร็จ และมอบหมายการงานให้กับพนักงานคนนั้นเพิ่มเติมอีก ย่อมเป็นเรื่องวิปริตผิดแผกไปจากความรู้ความเข้าใจของปุถุชนทั่วไป..”
5. กรณีนายกฯเศรษฐาตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี
แต่กรณีนี้ นายกฯอุ๊งอิ๊งตั้งตัวเองเป็นรัฐมนตรี โดยรู้ทั้งรู้แก่ใจตนเอง หนักกว่า
เมื่ออุ๊งอิ๊งค์เลือกที่จะเดินเกมแบบนี้ หลังร่วมประชุม ครม.ในฐานะรัฐมนตรีวัฒนธรรม ก็คงจะมีผู้ร้องให้มีการตรวจสอบและเอาผิดตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างเด็ดขาดต่อไป
จับตาว่า งานนี้ น่าจะมีการตายยกรัง สืบเนื่องจากการกระทำอันอุกอาจ อุกฉกรรจ์ และบังอาจมาก
ประสงค์ต่อผลในทางรักษาอำนาจของตนเองและพวก
ชะตากรรมคงหนักหนาสาหัสกว่านายกฯเศรษฐา
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี