ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” นับว่ามีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ
เพราะมีบทบาทสำคัญในด้านการบริหารจัดการนโยบายการเงิน กำกับดูแลระบบการเงินการธนาคาร ซึ่งเสมือนเป็นเส้นเลือดของเศรษฐกิจไทย
สัปดาห์นี้ น่าสนใจว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเสนอชื่อใคร เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ เข้าที่ประชุม ครม.
1. หากผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เป็นคนของฝ่ายการเมือง ไม่ต่างจากรัฐมนตรีคลัง หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ
ฝ่ายการเมืองก็สามารถจะสั่งการ หรือบงการให้แบงก์ชาติทำมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า แต่อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น
กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย จนกระทบกับการควบคุมดูแลเงินเฟ้อ เสี่ยงถูกปรับลด credit rating
สร้าง moral hazard อันกระทบเสถียรภาพการเงินและการคลังในระยะยาว เช่น การพักหนี้วงกว้าง การให้ soft loan
หรือแม้แต่การล้วงลูกในเรื่องการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองพรรคเพื่อไทยเคยพูดถึงอยู่เป็นระยะๆ
หลายประเทศ เคยมีการเมืองเข้าไปแทรกแซงนโยบายการเงินผ่านการทำงานธนาคารกลาง
ตัวอย่าง ประเทศตุรกี รัฐบาลเข้าแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางตั้งแต่ปี 2557 และรุนแรงขึ้นในช่วงที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ โดยไล่ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ออก 4 คน ภายใน 5 ปี
เริ่มตั้งแต่กลางปี 2562 ส่งผลให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงกว่า 442% จาก 5.6 USDTRY (ก.ค. 2562) เป็น 30.36 USDTRY ณ (ม.ค. 2566)
โดยปรับลด credit rating อย่างต่อเนื่อง จาก Baa3 (ก.ค. 2562) เป็น B3(มิ.ย. 2566)
เงินเฟ้อ ม.ค. 2024 อยู่ที่ 65% และ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 45% เป็นต้น
2. ฝ่ายการเมืองมีบทบาทกำหนดตัวผู้ว่าฯแบงก์ชาติอยู่แล้ว แต่ควรเลือกคนที่สร้างความเชื่อมั่นว่า มีคุณสมบัติเหมาะสม และไม่ใช่คนที่จะมาสนองนโยบายฝ่ายการเมือง
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รมว.คลังเตรียมจะเสนอชื่อผู้ว่าฯธปท.คนใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ (15 ก.ค.2568)
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณาสรุปบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา
ได้แก่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. และ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส อายุ 57 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ทำงานที่ ธปท. มานานกว่า 20 ปี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญครอบคลุมทั้งด้านนโยบายการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการบริหารองค์กร มีส่วนร่วมสำคัญในการวางกลยุทธ์ของ ธปท. ผ่านมาตรการตลาดการเงินและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเงินทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต เคยเป็น กนง. ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)
นายวิทัย รัตนากร อายุ 53 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขากฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาโท การเงิน Drexel University, U.S.A. เคยมีประสบการณ์การทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทร, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และได้ต่อวาระนั่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินอีก 1 วาระ เป็นระยะเวลา 4 ปี ถึงเดือน มิ.ย. 2571
3. คำเตือนในจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง จาก ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ระบุว่า “ขณะนี้ ท่านมีรายชื่อแคนดิแดทผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในมือสองคน อยู่ที่ท่านว่าจะเสนอใครต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
เรื่องความเหมาะสมมีการพูดกันมากแล้ว ดิฉันใคร่ขอเตือนสติท่านเพียงประเด็นเดียวว่า คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้ว่าการธนาคารกลาง คือ การทำนโยบายอย่างเป็นอิสระจากการเมือง
หรือที่เราเรียกว่า Central Bank Independence
ซึ่งเป็นสิ่งที่จะธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายของธนาคารกลาง และมีผลพวงถึงความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศด้วย
ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารกลางและรัฐบาลจะต้องขัดแย้งกัน ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว
แต่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายของการทำนโยบายระยะสั้นยาวไม่เท่ากัน
การทำนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งมุ่งเน้นผลในระยะยาว จึงเป็นการถ่วงดุลไม่ให้มีแต่นโยบายระยะสั้น จนเป็นผลเสียในระยะยาว
การเป็นอิสระจากการเมือง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง
เราเคยเห็นตัวอย่างแล้วจากต่างประเทศว่าการขาดความอิสระของธนาคารกลางสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างไร เช่น ในตุรกีในสมัยประธานาธิบดี Erdogan การแทรกแซงทางการเมืองทำให้นโยบายการเงินขาดความเป็นอิสระ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเกินไปเป็นเวลานาน เป็นผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก
คนทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยซึมซับถึงหลักการสำคัญข้อนี้ดี
ตรงกันข้าม ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจ คุ้นเคยกับการรับนโยบายของรัฐบาลไปทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อเกิดความเสียหายรัฐบาล ก็ต้องชดเชยให้ (ตามกติกาการกันสำรองหนี้สูญหรือเพิ่มทุนของการกำกับดูแลของ ธปท.) จึงไม่มีความเสี่ยงกับองค์กรในการรับนโยบายของรัฐบาลมาทำ ซึ่งต่างจากกรณีขององค์กรเช่น ธปท. อย่างมาก เพราะถ้าเกิดความเสียหายคือความเสียหายของประเทศชาติ
ดังนั้น ถ้าท่านเลือกผู้ว่าการที่ประสบการณ์การทำงานเดิมต้องสนองนโยบายของรัฐจนเป็นความเคยชิน จึงยากที่จะคาดหวังให้ทำหน้าที่ของผู้ว่าการอย่างเป็นอิสระ
ที่จริงยังไม่ต้องทำนโยบายอะไร เพียงแค่ประวัติและประสบการณ์ที่ก่อให้เกิด perception ว่าผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และเคยสนองนโยบายของรัฐบาลมาตลอดในฐานะผู้บริหารของธนาคารของรัฐ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อสถาบันนี้
ก็จะเสื่อมถอยไปทันที
ปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศก็เลือกไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว
ท่ามกลางความท้าทายที่รุมเร้าจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงอยู่ที่ระดับ 87.5% และยังมีผลกระทบของสงครามการค้าหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 36% ดิฉันหวังว่าท่านจะไม่ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อธนาคารกลางเสื่อมถอยไปอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศชาติหดหายไปมากยิ่งขึ้นอีก...” - ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. 8 กรกฎาคม 2568
4. รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า
“ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเป็นอิสระจากการเมือง
มิฉะนั้น การออกนโยบายการเงินจะไม่ได้อิงกับความถูกต้อง ตลอดจนมิได้คำนึงถึงต้นทุนความเสียหายต่อประเทศที่จะเกิดขึ้นตามมา
แต่จะเป็นเรื่อง “ประชานิยม” เช่นเดียวกับนโยบายการคลังของรัฐบาลในหลายยุคที่ทำให้โครงสร้างของประเทศอ่อนแอ อาทิ นโยบายรถคันแรก นโยบายจำนำข้าว นโยบายแจกเงินหมื่น
ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการการคลังแบบประชานิยม วิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศก็มักมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงธนาคารกลาง มีการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวม จนทำให้ระบบสถาบันการเงินประสบปัญหา
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการคอร์รัปชันที่รุนแรงมาก
ในขณะที่ประเทศเดนมาร์กมีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลกอันดับ 1 ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 107 จากจำนวน 180 ประเทศ ดังนั้น การให้เด็กดีที่อยู่ในโอวาทของรัฐบาลเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองได้รับความเสียหาย จากการที่นักการเมืองแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วบางยุคในอดีต” - รศ.ดร.ชิดตะวันระบุ
5. ทั้งสองท่าน ต่างมีความรู้ความสามารถ คุณสมบัติเพียบพร้อม แต่ประสบการณ์ทำงานแตกต่างกัน
คนหนึ่ง ทำงานแบงก์รัฐที่สนองนโยบายฝ่ายการเมืองในรัฐบาลมาตลอด
อีกคน ทำงานแบงก์ชาติมากว่า 20 ปี
จุดชี้ขาดจริงๆ ในขณะนี้ คือ เลือกคนไทน แล้วทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทยมากกว่ากัน
หรือในทางตรงกันข้าม ลองถามตัวเองก็ได้ว่า เลือกคนไหนแล้วนักลงทุน นักธุรกิจ เชื่อว่าเป็นคนที่จะมาสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งขัดหลักการความเป็นอิสระของ ธปท.โดยสิ้นเชิง
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เคยเขียนบทความชวนคิดไว้ บางตอนว่า
“... ทุกครั้งที่มีแรงกระแทกจากฝากฝ่ายการเมืองไปถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ชื่อของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะถูกหยิบยกขึ้นมาตอกย้ำถึงปรัชญาและจิตวิญญาณในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระที่เป็นมาตรฐานสากล ไม่โอนอ่อนตามอำนาจของฝ่ายการเมือง ไม่เช่นนั้นย่อมเท่ากับการก้าวสู่หายนะทางเศรษฐกิจ และทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของธนาคารแห่งประเทศไทยในสายตาของคนไทยและต่างชาติ
ปลายปี 2496 ขณะอาจารย์ป๋วยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพียง 7 เดือน รัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้อาจารย์ป๋วยพ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการไปเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง นัยว่าเพราะอาจารย์ป๋วยขัดแย้งกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ที่ต้องการซื้อสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเวลานั้นธนาคารทำผิดระเบียบ กำลังจะถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท อาจารย์ป๋วยไม่ยอมยกเว้นค่าปรับตามคำขอของจอมพลสฤษดิ์ และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะซื้อสหธนาคารกรุงเทพ ในที่สุดคณะรัฐมนตรีลงมติปฏิบัติตามข้อเสนอของอาจารย์ป๋วย
อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและควบตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น พยายามเสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่ตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วยเข้ามาเป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทนบริษัทโทมัสเดอลารู ครม.มอบให้อาจารย์ป๋วยพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีคุณภาพการพิมพ์ต่ำ ทั้งมีข่าวคราวในการวิ่งเต้นไม่สุจริต ไม่มีความน่าเชื่อถือพอจะให้พิมพ์ธนบัตร อาจารย์ป๋วยยืนยันให้ใช้บริษัทเดิมพิมพ์ธนบัตรไทยต่อไป หากรัฐบาลเปลี่ยนโรงพิมพ์จะขอลาออกจากราชการ ในที่สุด ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนออาจารย์ป๋วย สร้างความไม่พอใจให้พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างมาก
อาจารย์ป๋วย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 7 ในระหว่างปี 2502-2514 เป็นเวลา 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด
ตลอดสมัยที่อาจารย์ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นยุคที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาทได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์
อมตะวาจาของอาจารย์ป๋วยที่ว่า “ผู้ว่าการและผู้ใหญ่ในธนาคารชาติจะต้องมีความกล้าหาญพอสมควร คือต้องสามารถที่จะพูดขัดได้ ถ้าอะไรที่ไม่ดีแล้วจำเป็นจะต้องพูดได้ ถ้าไม่มีความกล้าแล้ว อย่าเป็นดีกว่า”
น่าจะเป็นหลักให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติงานด้วยความกล้าหาญ มั่นคง ไม่ค้อมให้กับความไม่ถูกต้อง หรือความพยายามใดๆ ที่จะฉุดกระชากให้ธนาคารเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่มุ่งแต่คะแนนเสียงระยะสั้น
เชื่อมั่นว่าวิถีแห่งชาวธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอาจารย์ป๋วยเป็นแบบอย่าง จะนำพาให้ปรัชญาของธนาคารที่ว่า “ยืนตรง มองไกล
ติดดิน” เป็นความหวังและเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ในสายตาของสาธารณชนชาวไทยเสมอ..”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี