“ยืนยันว่าค่าแรง 400 บาท ที่จะประกาศปรับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จะได้พร้อมกันทุกภาคส่วน ทุกกิจการ และในทุกจังหวัดไม่มีการแบ่งแยกหรือนำร่องแต่อย่างใด จะเป็นการประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากที่มีประกาศจะเข้าสู่กระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยับเพิ่มเป็น 600 บาท ภายในระยะเวลาที่รัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศไว้ ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปีให้ศึกษาความเป็นไปได้”
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ซึ่งแม้จะมีกระแสข่าวถึงความกังวลของภาคเอกชนกันมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะความกังวลของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท แบบถ้วนหน้าจริงจะส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจอย่างมาก แต่ท้ายที่สุดก็ได้ประกาศแล้วว่าจะเดินหน้า
ถึงกระนั้น รมว.แรงงานก็ยอมรับว่า กังวลเรื่องของการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพราะหากเทียบกับค่าแรงของชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประเทศไทยถือว่ามีค่าแรงค่อนข้างสูงรวมทั้งการขยับขยายของกิจการในประเทศต้องมีการเพิ่มทุนอีกจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ยังเหลือเวลาอีกประมาณ6 เดือน ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการออกไปพูดคุยกับเจ้าของกิจการทั้งในและต่างประเทศ ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในส่วนใดบ้าง
เมื่อพูดถึงประเด็นของผู้ใช้แรงงาน “ค่าจ้างขั้นต่ำ” คือเรื่องที่มีข้อถกเถียงเสมอ เพราะด้านหนึ่งฝ่ายแรงงาน รวมถึงนักวิชาการและภาคีต่างๆ ที่เรียกร้องสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน จะเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบสอดคล้องกับเงินเฟ้อและค่าครองชีพ เช่น ในการจัดงานวันแรงงานประจำปี 2567 วันที่ 1 พ.ค. 2567 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่นอกจากจะเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทแล้ว ยังเรียกร้องให้ปรับนิยามค่าแรงขั้นต่ำ ว่า 1 คน ต้องพอเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คนด้วย
โดยแนวคิดดังกล่าวเรียกว่า “ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage)” อันมีที่มาจาก อนุสัญญาฉบับที่ 131 ว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งในข้อ 3 ระบุว่า องค์ประกอบที่จะต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและเงื่อนไขของประเทศ
รวมถึง ก) ความต้องการของคนทำงานและครอบครัว โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศค่าครองชีพ สวัสดิการประกันสังคม และมาตรฐานการครองชีพของกลุ่มสังคมอื่น, ข) ปัจจัยทางเศรษฐกิจรวมทั้งข้อกำหนดของการพัฒนาเศรษฐกิจ ระดับของผลิตภาพ และความต้องการที่จะบรรลุและคงไว้ซึ่งการจ้างงานในระดับสูง ทั้งนี้ ค่าจ้างเพื่อชีวิต เป็นนิยามที่เครือข่ายแรงงานพยายามเรียกร้องตลอดมา
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้แรงงานระดับล่างหรือผู้มีรายได้น้อยมีชีวิตที่ยากลำบากจริงๆ ดังผลสำรวจเรื่อง “สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท” โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 1,259 คน ระหว่างวันที่ 19-25 เม.ย. 2567 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่างในปี 2567 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.5 อยู่ที่ 10,001-15,000 บาท ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่างในปี 2567 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.6 มีรายจ่ายอยู่ที่ 10,001-15,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 46.4 5,000-10,000 บาท
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.2 ยอมรับว่าไม่มีเงินออม ร้อยละ 81.6 ไม่มีอาชีพเสริม และมากถึงร้อยละ 98.8 มีหนี้สิน ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.7 เคยผิดนัดชำระหนี้ โดยในกลุ่มนี้สาเหตุอันดับ 1 ร้อยละ 34.5 รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย รองลงมา ร้อยละ 10.5 มีสมาชิกในครัวเรือนไม่ได้ทำงานแล้ว (เช่น ตกงาน เกษียณอายุ) และร้อยละ 0.7 มีเหตุฉุกเฉินทำให้เงินขาดมือ
“เมื่อถามต่อไปว่าหากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอยากให้การปรับรายได้เทียบกับอะไร กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.3 อยากให้เพิ่มตามค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 61.1 เพิ่มเท่ากับค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นและอันดับ 3 เพิ่มเท่ากับราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วอาจทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.8 ระบุว่า รับไม่ได้ ส่วนร้อยละ 39.2 รับได้
ดังนั้นแรงงานกลุ่มตัวอย่างจึงมีข้อเรียกร้อง เช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้แรงงานมีรายได้เพิ่ม ให้นายจ้างช่วยค่าอาหาร ช่วยเหลือ
ให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น มีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย เป็นต้น” ผลการศึกษาดังกล่าว ระบุ
แต่อีกด้านหนึ่ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้เผยแพร่ผลสำรวจเรื่อง “ทัศนะผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ไทย หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” เก็บข้อมูลผู้ประกอบการ 403 ราย ระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. 2567 แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ภาคบริการ ร้อยละ 30.1 ภาคการผลิตร้อยละ 36.9 และภาคการค้า ร้อยละ 33 พบว่า เมื่อถามว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท เหมาะสมหรือไม่กับทักษะฝีมือของแรงงานในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.4 หรือราว 2 ใน 3 มองว่าไม่เหมาะสม ส่วนอีกร้อยละ 32.6 มองว่าเหมาะสม
“กลุ่มที่มองว่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ไม่เหมาะสมนั้น ร้อยละ 44.4 เห็นว่า ควรให้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 361-380 บาท รองลงมา ร้อยละ 29.6 เห็นว่าควรอยู่ที่ 381-400 บาท และอันดับ 3 ร้อยละ 20.4 ควรอยู่ที่ 341-360 บาท จึงจะเหมาะสม อนึ่ง เมื่อแยกเป็นภาคธุรกิจ ภาคบริการเห็นว่าควรอยู่ที่ 375 บาท ภาคการผลิต 366 บาท และภาคการค้า 387 บาท จึงจะเหมาะสม”ข้อค้นพบจากกลุ่มตัวอย่าง SME ดังกล่าว ระบุ
กลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ตามผลสำรวจของ ม.หอการค้าไทย ยังเสนอแนะเรื่องนโยบายค่าจ้างแรงงานด้วย โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.3 ปรับขึ้นตามความสามารถในการทำกำไรของแต่ละธุรกิจ โดยพิจารณาต้นทุนธุรกิจ รองลงมา ร้อยละ 25.3 กำหนดค่าจ้างแบบลอยตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแรงงาน ร้อยละ 18.2 ปรับขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจมวลรวม (GDP) โดยปรับเท่ากันทั้งประเทศ ร้อยละ 17.7 ปรับขึ้นค่าจ้างตามการกำหนดของคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ โดยมีเพียงร้อยละ 7.6 ที่เห็นว่า ควรปรับตามนโยบายของพรรคการเมือง
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” นำเรื่องค่าจ้าง-ค่าแรง ใน 2 มุมที่แตกต่างระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการ มาบอกเล่ากับท่านผู้อ่าน ส่วนท้ายที่สุดแล้ว วันที่ 1 ต.ค. 2567 รัฐบาลจะสามารถปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทถ้วนหน้าได้จริงหรือไม่(หรือจะมีเลื่อนด้วยสาเหตุต่างๆ นานา) คงต้องรอติดตาม!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี