สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “32 Civilized, No More Total Ban : ยกเครื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สู่สังคมที่ดีกว่า” เมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค. 2567 เพื่อบอกเล่าความคืบหน้าของ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ..... ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามกลไกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาผู้แทนราษฎร
ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย อดีตอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และอดีตผู้ก่อตั้ง
เพจ “Surathai” เครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ระดับชุมชนท้องถิ่น ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้เสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เปิดเผยว่า กว่า 200 ชั่วโมงที่หารือกันในชั้นกรรมาธิการ มีการถกเถียงในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน จนประธานการประชุมต้องขอแขวนเรื่องไว้ก่อน
แต่การพูดคุยก็ทำให้แต่ละฝ่ายได้นำหลักการมาแชร์กัน อีกฝ่ายเห็นแบบนี้ ฝ่ายเราเห็นอย่างไร ก็พยายามอธิบายให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้เข้าใจ ในขณะที่ฝ่ายเห็นต่างก็พยายามยกหลักฐานมาสนับสนุนว่าเหตุใดต้องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการอ้างงานวิจัยซึ่งสำหรับตนแล้วไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นงานวิจัยในลักษณะ “ตั้งธง” ผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า ไม่ได้ทำขึ้นจากบุคคลหรือองค์กรที่เป็นกลาง
แม้กระทั่งประเด็นที่ดูเหมือนจะเห็นตรงกัน คือ “การยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายนพ.ศ. 2515 เรื่องการกำหนดให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะเวลา 11.00-14.00 น. และ17.00-24.00 น.” ซึ่งมีคำถามว่าใครอยากดื่มซื้อเก็บไว้ก่อนไม่ได้หรือ? ก็มีประเด็นเรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติมาถึงในช่วงบ่าย อยากดื่มแต่ไม่สามารถดื่มได้เพราะเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายห้ามขาย อีกทั้งในทางปฏิบัติก็บังคับใช้ไม่ได้จริงด้วย
“มันช่วยไม่ได้ คนก็ยังกินอยู่ คุณไม่สามารถไปควบคุมร้านเล็กร้านน้อยที่เขาเปิดขายได้ แทนที่คุณจะขายให้ร้านสะดวกซื้อที่เป็นมาตรฐาน หรือทำเป็นร้านใหญ่ๆ หรือมีสาขาทั่วประเทศ คุณก็ไปซื้อเขาไม่ได้เท่านั้นเองเพราะเขาเข้าระบบ แต่คุณก็ไปเดินหาซื้อตามร้านน้อยได้” ผศ.ดร.เจริญ กล่าว
อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ ตัวแทนภาคประชาชน เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย “ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” จากกรณี “เขียนรีวิวรสชาติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นความผิดทางอาญาได้” ซึ่งกฎหมายแบบนี้ไม่มีที่ไหนในโลกยกเว้นประเทศไทยตนมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งแม้จะเข้าใจว่าศาลต้องตัดสินไปตามที่ระบุในตัวบทกฎหมาย แต่ตนก็มองว่ากฎหมายข้อนี้ไม่เป็นธรรม
สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย (TWA) กล่าวถึงประเด็น “ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2558 ที่ส่วนหนึ่งนำไปสู่มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย” ว่า ข้อนี้จะถูกนำไปไว้ในกฎหมายลูกที่ประกาศโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหวังว่า ครม. จะใช้หลักคิด “กระจายอำนาจ” ให้แต่ละจังหวัดในการตัดสินใจว่าจะห้ามในบริเวณใดบ้าง
เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวเสริมโดยยกตัวอย่างมีห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย แต่ร้านอาหารในห้าง
ไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ในขณะที่ร้านเหล้าในละแวกใกล้เคียงกลับขายได้ทั้งที่ไม่ได้ขอใบอนุญาตซึ่งตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ โดยในระดับชาติมีเพียงกรอบนโยบาย ส่วนอะไรทำได้-ไม่ได้ควรให้จังหวัดเป็นผู้ตัดสินตามบริบทของเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
อนึ่ง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 วันที่ 5 ก.ค. 2567 มีสาระสำคัญอย่างหนึ่งคือ “การห้ามขายในวันพระใหญ่” ประกอบด้วย วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา โดย “อนุญาตให้ขายในพื้นที่ผู้โดยสารขาออกในสนามบินนานาชาติได้” ซึ่งจากเรื่องนี้ ตนมองเห็นความพยายามของรัฐบาลในการผ่อนคลาย แต่ก็เป็นห่วงในกระบวนการทำประชาพิจารณ์
“ตอนนี้เรากลัวนิดหนึ่ง ก่อนที่เขาจะประกาศเป็นกฎหมายออกมา ยกเลิกการห้ามขายที่สนามบิน ก็มีการเวียนให้มีการทำประชาพิจารณ์ เราทราบว่ามีฝ่ายที่ไม่ชอบใจในเรื่องนี้อยากให้นักท่องเที่ยวที่จะออกจากประเทศไทยไม่ได้ดื่ม ไปลงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย ทีนี้ใครที่มีความสะดวก ช่วยไปลงความเห็นว่าเห็นด้วยหน่อยเถอะ ว่าการปลดล็อกอย่างสมเหตุสมผลอย่างนี้มันควรจะทำ” เขมิกา กล่าว
ศุภพงษ์ พรึงลำภู ตัวแทนผู้ผลิตสุรารายย่อย ให้ความเห็นถึง “กลุ่มหรือเครือข่ายที่มองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่ลบแบบมุ่งคัดค้านทุกเรื่อง” ว่า องค์กรหรือองคาพยพเหล่านั้นมีความตั้งใจที่จะควบคุม แต่การควบคุมที่ว่านั้นคือการลด จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อลดให้ได้ และมองฝั่งพวกตนว่าเป็นฝั่งผู้ประกอบการ แต่พวกตนไม่ได้ต้องการให้ปล่อยแบบไร้ขอบเขต แต่ต้องการการควบคุมที่สมเหตุสมผล แต่เมื่อมาตรการควบคุมไม่สมเหตุสมผล จึงกลายเป็นการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่ต้องการกำจัดกับฝ่ายที่ต้องการอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสมเหตุสมผล
ศุภวิชญ์ มุททารัตน์ เจ้าของกิจการบาร์ค็อกเทล ยกตัวอย่าง “การไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชน และคนเมาจนครองสติไม่ได้” ว่า กำชับกับที่ร้านให้เคร่งครัดในการตรวจบัตรประชาชน โดยเฉพาะหากเห็นลูกค้า “หน้าเด็ก” เพราะทางร้านก็ไม่อยากมีปัญหา เช่น ถูกล่อซื้อ และยังเป็นสิ่งที่ร้านทำได้โดยไม่เพิ่มต้นทุน เช่น เห็นคนเมาเริ่มจะไม่ไหวแล้ว ก็ต้องพูดดีๆ บอกให้เขาดื่มน้ำก่อน หรือไม่ขายให้แล้วหากรู้ว่าขับรถมา หรือตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ร้านสะดวกซื้อมีระบบยืนยันตัวตนพร้อมกับมีกล้องจับภาพผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ประภาวี เหมทัศน์ เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) กล่าวเสริมในประเด็นวัน-เวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าในร่างกฎหมายที่กำลังจัดทำกันอยู่ ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นวันหรือเวลาใดบ้าง แต่จะไปเขียนว่าใครมีอำนาจกำหนดห้าม และยังต้องไปดูประกาศที่มีอยู่แต่ละฉบับ เช่น ห้ามขายในวันสำคัญทางศาสนา ว่าจะยกเลิกหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ครม.
ส่วนเรื่องการห้ามชายให้กับเด็กและเยาวชนและบุคคลที่เมาจนครองสติไม่ได้ จากเดิมที่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทกฎหมายใหม่อาจเพิ่มโทษปรับเป็นหลักแสนบาท และให้อำนาจสถานบริการตรวจบัตรประชาชนลูกค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และสามารถนำเรื่องกฎหมายที่โทษหนักขึ้นไปทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ นอกจากนั้น เรื่องใดที่ไม่ร้ายแรง (เช่น การห้ามโฆษณาการขายในพื้นที่ห้ามขาย) กฎหมายใหม่ให้ปรับปรุงโทษเป็นการปรับเป็นพินัย แทนที่จะต้องมีโทษอาญา (จำคุก) ในทุกความผิด!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี