“แต่เดิมจีนสั่งนำเข้ากล้วยมาจากฟิลิปปินส์ จากลาตินอเมริกา แต่ลาตินอเมริกาด้วยระยะทางและค่าขนส่งค่าใช้จ่ายมันสูงขึ้น ช่วงหลังจีนทะเลาะกับฟิลิปปินส์เพราะแย่งสิทธิอาณาเขตในทะเลจีนใต้ ดังนั้น การจะนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ก็เลยมีจำนวนลดลง เขาก็เลยมุ่งมาที่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการผลิตหรือปลูกกล้วยเพื่อสนองต่อความต้องการบริโภคของคนในประเทศให้เพียงพอ นั่นเป็นที่มาที่เขาเข้ามาลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”
ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ฉายภาพการเข้ามาในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงของจีน จากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน พื้นที่เมืองขยายตัวมากขึ้นจนเริ่มเบียดบังพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้รัฐบาลจีนกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การแสวงหาพื้นที่ผลิตอาหารในต่างประเทศผ่านการส่งเสริมให้ภาคเอกชนออกไปลงทุน
ดังตัวอย่างจาก สปป.ลาว ที่จีนลงทุนปลูกกล้วยในลาวมาตั้งแต่ปี 2551 เหตุที่เริ่มลงทุนจากกล้วยก่อนพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ฟักทอง แตงโม ยางพารา เพราะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 11-12 เดือนก็ได้ผลผลิตแล้ว ประกอบกับ “แม้จีนจะปลูกกล้วยในประเทศของตนเองมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค” จึงต้องหาแหล่งปลูกเพิ่มในต่างแดน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลลาวไม่อนุญาตให้นักลงทุนจีนแล้ว โดยเหลือแต่เพียงสวนกล้วยเดิมตามระยะเวลาสัมปทาน โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ “ปัญหาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน”โดยเฉพาะการรายรอบไปด้วยสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต “จากประสบการณ์ที่เคยลงพื้นที่ไปพูดคุยกับแรงงาน สามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นฉุนของสารเคมีได้อย่างชัดเจน” เป็นข้อกังวลต่อสุขภาพของประชาชนที่ทำงานและอยู่อาศัยในบริเวณนั้น
“ถ้าพูดถึงเชิงบวกก็คือมันมีเรื่องของรายได้รัฐอ้างว่าเพิ่มขึ้นจากการส่งออกกล้วยไปจีน แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านก็บอกว่ามันนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งโดยเฉพาะการแย่งที่ดินระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน เพราะเวลาที่สวนกล้วยหมดหรือการออกไปของนักลงทุนจีน ก่อนจะทำสวนกล้วยเขาปรับพื้นที่ ดังนั้น พื้นที่จะเป็นแปลงใหญ่หลักหมุดหรือร่องน้ำสาธารณะที่เดิมเคยมีอยู่เป็นแนวเขตแดนมันก็หายไป พอระยะเวลา 3 ปี 5 ปี มันก็ไม่สามารถจะไปดูได้ด้วยสายตาเปล่าว่าแนวเขตอยู่ตรงไหน ก็เลยนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น” อาจารย์เสถียร ระบุ
ผศ.ดร.เสถียร ยังกล่าวถึงปัญหาอื่นๆ ที่ได้รับรู้มา เช่น การแย่งที่ดินระหว่างชาวบ้านกับทุนจีน การที่นักลงทุนไม่จ่ายค่าเช่าให้กับเจ้าของที่ดินตามสัญญาโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทางการจีนระงับการนำเข้ากล้วยจากลาว พร้อมๆ กับนักลงทุนก็กลับไปอยู่ที่จีน ทั้งนี้ นักลงทุนยังปรับเปลี่ยนจากการปลูกกล้วยไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชอีกชนิดที่จีนต้องนำเข้าเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้ชาวลาวในพื้นที่ค่อนข้างพอใจเพราะสัมผัสสารเคมีน้อยลงกว่าการปลูกกล้วย
ในขณะที่ “รัฐคะฉิ่น-เมียนมา” สถานการณ์จะแตกต่างออกไป อย่างที่ทราบกันว่าเมียนมาเผชิญสถานการณ์ความไม่สงบมาโดยตลอด ประชาชนต้องทิ้งถิ่นฐานหนีภัยสงคราม ทำให้ที่ดินถูกกองกำลังกลุ่มต่างๆ เข้าไปยึดครองแล้วนำไปให้สัมปทานกับนักลงทุนจีนทำสวนลูกกล้วย จากเจ้าของที่ดินจึงต้องกลายเป็นเพียงแรงงาน รวมถึงอำนาจต่อรองของรัฐและภาคประชาสังคมก็มีน้อย ทำให้การลดผลกระทบต่างๆ เป็นไปได้ยากกว่าในลาว
การบรรยายของ ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ เป็นส่วนหนึ่งในวงเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ทุนจีน ธุรกิจเกษตรข้ามพรมเเดน ภูมิภาคเเม่น้ำโขง” ซึ่งจากเพื่อนบ้านมองกลับมายังประเทศไทย พรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่ม Land Watch Thai ยกตัวอย่างกรณี “สวนทุเรียนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก” อันประกอบด้วยระยอง จันทบุรีและตราด ซึ่งมี “สวนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับทุนจีน” โดยสังเกตจากการใช้ที่ดินแปลงใหญ่ ไม่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียง มีรั้วรอบขอบชิด มีกล้องวงจรปิด และมีแรงงานข้ามชาติเฝ้าสวน
โดยใน จ.จันทบุรี พบใน 4 อำเภอ คือ เขาคิชฌกูฏ แก่งหางแมว มะขาม และนายายอาม ที่น่าสนใจคือ สวนที่เข้าข่ายต้องสงสัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนและไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้ประโยชน์จะต่ำกว่าที่ดินที่มีเอกสารถูกต้อง ส่วนที่ จ.ระยอง ใน 3 อำเภอ คือ เขาชะเมาวังจันทร์ และแกลง มีทั้งปลูกในที่ดินที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิและ จ.ตราด พบใน 2 อำเภอ คือ บ่อไร่และเขาสมิงอยู่บนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
“งานนี้เหมือนกับที่เป็นงานที่สำรวจว่าจริงๆ แล้วมีการเข้าไปซื้อที่ดินของจีนเพื่อปลูกทุเรียนหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเราคิดว่ามันเกิดขึ้นจริง ชาวบ้านในพื้นที่เป็นคนพูดเพียงแต่ว่าไม่สามารถบอกได้ว่ามีกี่แปลง เป็นพื้นที่โดยรวมเท่าใด แล้วอยู่ตรงไหนบ้าง งานนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ แล้วก็เป็นเรื่องที่ยังยากมาก แม้ว่าเราจะเสนอให้รัฐบาลทำก็ยังนึกไม่ออกว่ารัฐบาลจะไปตรวจสอบอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นเราคิดว่ารัฐบาลก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ” พรพนา กล่าว
ด้าน สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ และตัวแทนกลุ่ม EEC Watch เล่าว่า ตนเคยทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับเครือข่ายทุนจีนข้ามชาติ ซึ่งวิเคราะห์ทุนจีนในภาคอุตสาหกรรม ที่เมื่อนำไปเทียบกับทุนจีนในภาคเกษตรแล้วก็คล้ายกัน ดังนี้ 1.รวมกลุ่มกันตั้งแต่ที่เมืองจีนเพื่อเข้ามาทำธุรกิจในไทยแบบครบวงจรโดยหากเป็นไปได้ก็จะไม่พึ่งพาผู้ประกอบการชาวไทยแม้แต่น้อย
กับ 2.จ้างบริษัทรับเหมาช่วง (Outsource) หาแรงงานเข้ามาซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาและกัมพูชา แต่หากเป็นแรงงานที่มีความรู้และทักษะพอสมควรก็จะเป็นชาวเวียดนาม ซึ่งทุนจีนจะไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น หากแรงงานไม่ได้รับเงินเดือนก็ให้ไปเรียกร้องกับบริษัทรับเหมาช่วงดังกล่าว ที่น่าตกใจคือ “แม้แต่บริษัทรับเหมาช่วงก็ยังดำเนินการโดยทุนจีน” ทั้งนี้ พื้นที่ EEC ประกอบด้วย 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่จังหวัดใกล้เคียง เช่น ปราจีนบุรี สระแก้ว ก็ได้รับผลกระทบจากทุนจีนเช่นกัน
“ที่หนักๆ ตอนนี้ คือ ปราจีนบุรี โรงงานต่างๆ ไปอยู่ที่นี่เยอะมาก และเป็นทุนจีนที่เรียกว่าทุนจีนนิสัยไม่ค่อยดี ทุนจีนที่มักง่าย มีการก่อสร้างโรงงานหลายแบบ บางทุนจีนก็เข้าใจกฎหมายแต่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย บางทุนจีนก็ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทุนพวกนี้ก็มาสร้างโรงงานก่อน ก็มีการ Outsource อย่างโรงงานหนึ่งเขาทำเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ติดเงินคนงานอยู่ 2 เดือน เจ้าของโรงงานบอกไม่เกี่ยว ให้เงินกับบริษัท Outsource ไปแล้ว บริษัท Outsource ก็เป็นบริษัทจีน หมุนเงินไม่ทันก็จ่ายเงินให้พนักงานไม่ได้” สมนึก ระบุ
สมนึก ยังกล่าวถึง “กิจการรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม” ทั้งในและนอกพื้นที่ EEC ซึ่งต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า ในการทิ้งกากอุตสาหกรรมทุนเหล่านี้เลือกพื้นที่ใด เพราะเคยพบการนำไปทิ้งในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่สาธารณะ!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี