เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 Moody’s ได้รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
มีการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อประเทศไทย ในทิศทางที่ส่งสัญญาณร้าย
บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) เปิดเผยว่า มูดี้ส์ ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง “เชิงลบ” (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable)
โดยการเปลี่ยนมุมมองครั้งนี้ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลง
อย่างไรก็ตาม Moody’s ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1
Moody’s ระบุว่า ภาษีศุลกากรโต้ตอบของสหรัฐ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อไทย ซึ่งพึ่งพาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
1. ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ได้ประกาศปรับลดแนวโน้ม (Outlook) อันดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับ Stable เป็น “Negative” ซึ่งแม้จะยังไม่ได้เป็นการปรับลดอันดับเครดิตโดยตรง แต่ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าตลาดโลกเริ่มมีข้อกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลังของไทยในระยะข้างหน้า
หอการค้าไทยเห็นว่าการปรับลดแนวโน้มดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระดับสากล โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกำลังเร่งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การถูกตั้งข้อสังเกตจากสถาบันจัดอันดับชั้นนำอาจกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมของประเทศในอนาคต
Moody’s ระบุเหตุผลหลักมาจากความไม่ชัดเจนด้าน วินัยการคลัง, แผนการบริหารหนี้สาธารณะ และศักยภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของภาคเอกชนที่เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้วยการแสดงให้เห็นถึงแผนการบริหารจัดการด้านการคลังที่เป็นรูปธรรม โปร่งใส และสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แม้สถานการณ์ในบางด้านจะมีความเปราะบาง แต่หอการค้าไทยยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนจากภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว และอุตสาหกรรมศักยภาพใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และเกษตรแปรรูป อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเดินหน้าได้อย่างมั่นคงก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมั่นจากต่างประเทศรองรับอยู่
ในภาพรวม หอการค้าไทยขอเน้นย้ำว่า การปรับลดแนวโน้มเครดิตไทยครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงประเด็นทางเทคนิคหรือการเงินระหว่างประเทศเท่านั้น แต่คือคำเตือนทางนโยบาย ที่สะท้อนว่าประเทศไทยจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นใจ หากขาดการบริหารจัดการที่รอบคอบ โปร่งใส และมีเป้าหมายชัดเจน
2. สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ตอกย้ำคำเตือนของหน่วยงานต่างๆ ที่เคยเสนอแนะรัฐบาลให้พิจารณาใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ คุ้มค่า กรณีโครงการแจกเงินหมื่น ที่สร้างภาระทางการคลังมหาศาล แทนที่จะเหลือหน้าตักไว้รับมือกับความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก
ย้อนกลับไป ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ปีที่แล้ว
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอต่อ ครม.
ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหนังสือเสนอความเห็น ระบุชัดเจนว่า “..จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ”
บางตอน ระบุว่า
“ธปท. จึงขอเรียนเสนอความเห็นและข้อสังเกตสำคัญ ที่ได้เคยแจ้งต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital wallet และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวมถึงข้อห่วงใยอื่น ดังนี้
1.ความจำเป็นในการดำเนินโครงการ DW และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
1.1 ควรทำโครงการ DW ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท
เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า นอกจากนี้ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัว
ได้ที่ร้อยละ 7.1 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553-2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปี
1.2 โครงการ DW ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baa 1 (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 โดยโครงการ DW จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม
1.3 การดำเนินโครงการ DW ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูง ทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น
1.4 รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงินเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง
โครงการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย)
จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย เป็นต้น...”
หนังสือดังกล่าว ลงนามโดยผู้ว่าการ ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
3. ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม ชะลอลงจากเดือนก่อน จากภาคบริการ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
ระบุว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการเร่งส่งออกสินค้าที่ขยายตัว 15% สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม จากความกังวลต่อมาตรการทางการค้าของสหรัฐ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมภาคท่องเที่ยวปรับลดลงตามจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ที่กังวลด้านความปลอดภัย
การลงทุนภาคเอกชนลดลง
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจาก ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเทียบกับไตรมาสก่อน ตามราคาหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารตามราคาเครื่องประกอบอาหารและอาหารสำเร็จรูป
ขณะที่หมวดพลังงานปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการจ้างงานในภาคบริการ ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1/2568 โดยรวมชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยอุปสงค์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศลดลงจากที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด สะท้อนจากการอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับอุปทานที่อยู่อาศัยที่ลดลงตามจำนวนที่อยู่อาศัยอาคารชุดเปิดขายใหม่ สำหรับราคาที่อยู่อาศัยในภาพรวมสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ ส่วนหนึ่งจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น
สำหรับดัชนีเครื่องชี้ในเดือนมีนาคม 2568 ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อน -0.5%
โดยหมวดบริการลดลงจากหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ลดลง
หมวดสินค้าไม่คงทนลดลงจากยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค
หมวดสินค้าคงทนลดลงจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หลังจากที่เร่งไปในช่วงต้นปี
หมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงตามปริมาณการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และยอดขายสินค้ากึ่งคงทน
สำหรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องผลกระทบนโยบายการค้าของสหรัฐ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน -1.0% จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนสุทธิที่ลดลงโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ และสินค้ากลุ่มวิทยุ โทรทัศน์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร
ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศทรงตัว และหมวดยานพาหนะที่ลดลงสะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งและรถกระบะเป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน -9.0% ในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและกลุ่มตะวันออกกลางจากการเข้าสู่เดือนรอมฎอนเร็วกว่าปีก่อน
ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนยังหดตัว แต่น้อยลงกว่าเดือนก่อน
4. การประชุม กนง. เมื่อวานนี้ (30 เมษายน 2568) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย
โดยให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
มองไปข้างหน้า นโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568
อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนยังสูงมาก
นี่คือสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เราต้องเผชิญ
รัฐบาลชุดปัจจุบัน มีศักยภาพในการรับมือเพียงใด
มัวแต่คิดถึงตำแหน่งและอำนาจการเมืองของนักการเมืองบางตระกูล จะพาชาติตกเหว หรือล่มจมในวิกฤตครั้งนี้หรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี